Skip to main content
x

 

ถูกพักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ก็ร้องทุกข์ได้ !!!

               หลายครั้งที่ ก.พ.ค. ขอบอก เคยยกตัวอย่างคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ที่เกี่ยวกับการร้องทุกข์ในหลายๆ กรณีมาให้ท่านได้ทราบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งตั้ง การย้าย หรือการเลื่อนเงินเดือน เป็นต้น แต่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่านอกเหนือจากการร้องทุกข์ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 10 การร้องทุกข์แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แล้ว การร้องทุกข์ดังกล่าวยังปรากฏในหมวดอื่นด้วยเช่นกัน  ดังนั้น ในครั้งนี้ ก.พ.ค. ขอบอกจึงขอนำเสนอเรื่องดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับท่านผู้อ่านทุกท่าน...
               ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจก่อนว่าการร้องทุกข์ตามหมวด 10 การร้องทุกข์ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 นั้น มีหลักสำคัญอยู่หลายประการที่ต้องคำนึง คือ
               1. ผู้ที่จะใช้สิทธิร้องทุกข์ได้ต้องเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ
               2. เหตุแห่งการร้องทุกข์ต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนด ไว้ในข้อ 7 วรรคสอง ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 กล่าวคือ ต้องเป็นการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาโดย
               1) ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอื่นใด โดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดขึ้นเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
               (2) ไม่มอบหมายงานให้ปฏิบัติ
               (3) ประวิงเวลา หรือหน่วงเหนี่ยวการดำเนินการบางเรื่องอันเป็นเหตุให้เสียสิทธิหรือไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ในเวลาอันสมควร
               (4) ไม่เป็นไปตาม หรือขัดกับระบบคุณธรรม ตามมาตรา ๔๒
               3. เป็นเรื่องที่ไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์ได้
               ถ้าเข้าลักษณะตามข้อ 1. – 3. ข้างต้นแล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ เหตุแห่งการร้องทุกข์นั้น เกิดจากผู้บังคับบัญชาระดับใด ซึ่งตามมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ได้กำหนดสาระสำคัญเกี่ยวกับผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ไว้ว่า หากเหตุเกิดจากหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรี หรือเหตุเกิดจากปลัดกระทรวง หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือนายกรัฐมนตรี ให้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. แต่ถ้าเหตุเกิดจากผู้บังคับบัญชาในราชการบริหารส่วนภูมิภาคที่ต่ำกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ร้องทุกข์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ถ้าเหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาในราชการบริหารส่วนกลางที่ต่ำกว่าอธิบดี ให้ร้องทุกข์ต่ออธิบดี และถ้าเหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรืออธิบดี ให้ร้องทุกข์ต่อปลัดกระทรวง
               ดังนั้น หากนาย ก. ซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญมีความคับข้องใจจากการที่อธิบดีประเมินผลการปฏิบัติราชการ โดยไม่เป็นธรรม กรณีนี้จึงถือว่าเหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากอธิบดี และเข้าลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ 7 นาย ก. จึงต้องร้องทุกข์ต่อปลัดกระทรวง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป  หรือกรณี นาง ข. ซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญมีความคับข้องใจจากการที่ปลัดกระทรวงมีคำสั่งแต่งตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้ถือว่าเหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากปลัดกระทรวง และเข้าลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อ 7 นาง ข. จึงต้องร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.
               อย่างไรก็ตามความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชา ซึ่งก่อให้เกิดสิทธิในการร้องทุกข์ นอกจากจะกำหนดไว้ในหมวด 10 เรื่องการร้องทุกข์แล้ว ยังปรากฏอยู่ในหมวด 7 การดำเนินการทางวินัยด้วย โดยมาตรา 101 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันได้บัญญัติให้ข้าราชการพลเรือนสามัญที่ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวได้
               ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหากข้อเท็จจริงปรากฏว่านางสาว ว. ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุพิจารณาแล้วเห็นว่า ถ้าให้นางสาว ว. ปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน และมีคำสั่งให้นางสาว ว. ออกจากราชการไว้ก่อน  กรณีนี้ นางสาว ว. สามารถใช้สิทธิร้องทุกข์ตามมาตรา 122 ได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้นางสาว ว. จะใช้สิทธิร้องทุกข์ต่อใครนั้น  ก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 123 เช่นเดียวกันกับการร้องทุกข์ในกรณีอื่น ๆ เช่น ถ้าผู้ที่มีคำสั่งให้นางสาว ว. ออกจากราชการไว้ก่อนเป็นอธิบดี  นางสาว ว. ก็ต้องใช้สิทธิร้องทุกข์ต่อปลัดกระทรวง เป็นต้น
               จากข้อมูลข้างต้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านผู้อ่านจะสามารถเข้าใจสิทธิในเรื่อง“การร้องทุกข์” ได้ไม่มากก็น้อย  เพื่อที่จะได้ไม่เกิดความผิดพลาดในการใช้สิทธิทางกฎหมายที่ทุกท่านพึงทราบนะ..ขอบอก...         
ผู้เขียน : จุฑาพิชญ์  สถิรวิสาลกิจ
ประเภทเนื้อหา
วันที่