Skip to main content
x

บทบาทและอำนาจหน้าที่

                    โดยที่ ก.พ.ค. เป็นองค์กรหลักที่มีบทบาทสำคัญในการอำนวยความเป็นธรรมในระบบบริหารทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือนสามัญ ดูแลคุ้มครองการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในระบบข้าราชการโดยรวม  ดังนั้น ภารกิจและอำนาจหน้าที่ของ ก.พ.ค. จึงถูกกำหนดให้ครอบคลุมทั้งในด้านการเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ด้านการวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องอุทธรณ์และร้องทุกข์ และด้านการออกกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ดังเป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

 

ภาพประกอบ:บทบาทและอำนาจหน้าที่

                  

                   มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 บัญญัติให้ ก.พ.ค. มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
                         1. เสนอแนะต่อ ก.พ. หรือองค์กรกลางบริหารงานบุคคลอื่น เพื่อให้ ก.พ. หรือองค์กรกลางบริหารงานบุคคลอื่น ดำเนินการจัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารงานทรัพยากรบุคคล ในส่วนที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม
                         2. พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 114
                         3. พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามมาตรา 123
                         4. พิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรมตามมาตรา 126
                         5. ออกกฎ ก.พ.ค. ระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎ ก.พ.ค. เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
                         6. แต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ ก.พ.ค. กำหนด เพื่อเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์                 
                   ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 31 (1) (4) (5) และ (6) มีลักษณะเป็นอำนาจหน้าที่ทั่วไป  แต่อำนาจหน้าที่ตาม (2) และ (3) มีลักษณะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทต่าง ๆ ซึ่งการใช้อำนาจหรือการปฏิบัติหน้าที่ทั้งสองลักษณะดังกล่าว จะมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน  ดังนั้น วิธีการหรือกระบวนการในการทำงานในสองกรณีดังกล่าวจึงแตกต่างกันด้วย โดยในกรณีแรก ก.พ.ค. สามารถดำเนินการได้ โดยมี “ฝ่ายเลขานุการ” ทำหน้าที่สนับสนุนงานทางธุรการต่าง ๆ ดังเช่นวิธีการหรือกระบวนการทำงานของคณะกรรมการต่าง ๆ ทั่วไป
                   จากบทบัญญัติอันเป็นการสร้างรูปแบบของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกในราชการนี้ จะเห็นได้ว่าการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมไว้ดังกล่าว มีนัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ก.พ.ค. จะสามารถทำหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมได้อย่างสมบูรณ์  คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมที่กำหนดไว้นั้น ทำให้เห็นได้ว่า ก.พ.ค. ดังกล่าวเป็นผู้ที่มิได้อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด จึงมีความเป็นอิสระในการใช้ดุลยพินิจพิจารณาวินิจฉัยเรื่องการอุทธรณ์และการร้องทุกข์ของข้าราชการได้อย่างเต็มที่ 
                   การทำหน้าที่ของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม จึงมีลักษณะเป็นการใช้ความรู้และประสบการณ์ในวิชาชีพดำเนินการให้เกิดความยุติธรรมและสร้างระบบคุณธรรมให้เกิดขึ้นในวงราชการได้  การกำหนดให้อยู่ในตำแหน่งได้หกปีและอยู่ได้เพียงวาระเดียวนั้น นอกจากจะทำให้ไม่เกิดการผูกขาดต่อเนื่องในการดำรงตำแหน่งแล้ว ยังทำให้คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ได้โดยไม่ถูกครหาว่าเป็นการพิจารณาโดยมุ่งต่อการที่อาจจะได้รับการคัดเลือกในวาระต่อไปได้อีกด้วย
                   คณะกรรมการผู้ทำหน้าที่คัดเลือกคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมก็มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะพิจารณาและคัดเลือกบุคคลผู้มีคุณสมบัติมาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม  จึงได้มีการกำหนดผู้ที่เป็นคณะกรรมการคัดเลือกกรรมการ ก.พ.ค. ไว้ตามความในมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 โดยให้มีประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน รองประธานศาลฎีกาหนึ่งคน กรรมการ ก.พ. หนึ่งคน ที่ได้รับการคัดเลือกจาก ก.พ. เป็นกรรมการ และเลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการและเลขานุการ
                   ชื่อเสียงและเกียรติคุณของคณะกรรมการคัดเลือกกรรมการ ก.พ.ค. ที่กำหนดไว้ในมาตรา 26 ดังกล่าว น่าจะทำให้เชื่อได้ว่าคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมซึ่งจะทำหน้าที่เสมือนศาลปกครองชั้นต้นในกระบวนการยุติธรรมนั้น จะเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากทุกวงการและจะสร้างเกียรติประวัติในการทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยเรื่องอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ของข้าราชการพลเรือนสามัญ เพื่อพิทักษ์ระบบคุณธรรมไว้ในระบบราชการได้อย่างแท้จริง