Skip to main content
x

 

ถูกสั่งให้ไปประจำส่วนราชการ (เรื่องแดงที่ 0029263)

 

ข้อเท็จจริง

              นาง อ. ผู้ร้องทุกข์ รับราชการตำแหน่งผู้อำนวยการกอง ส. ซึ่งเป็นตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง ถูกร้องเรียนว่ามีพฤติการณ์การทุจริต ปลัดกระทรวง ธ. จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงเพื่อสอบสวนผู้ร้องทุกข์และมีคำสั่งให้ผู้ร้องทุกข์ไปประจำกรม ก. ชั่วคราว เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่มีคำสั่งเป็นต้นไป เนื่องจากมีข้อกล่าวหาเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ร้องทุกข์ในตำแหน่งผู้อำนวยการกอง ส. โดยมีพยานบุคคลเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา และมีพยานเอกสารอยู่ในความครอบครองของกอง ส. แต่ผู้ร้องทุกข์เห็นว่าคำสั่งให้ผู้ร้องทุกข์ไปประจำกรม ก. เป็นการชั่วคราวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.
 

คำวินิจฉัย ก.พ.ค.

             เรื่องนี้มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า การที่คู่กรณีในการร้องทุกข์มีคำสั่งให้ผู้ร้องทุกข์ไปประจำกรม ก. เป็นระยะเวลา 6 เดือน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
             ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า คำสั่งให้ไปประจำกรม ก. ชั่วคราว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 57 (5) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบข้อ 2 (1) และข้อ 4 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสั่งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ประจำส่วนราชการเป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2554 ซึ่งกฎ ก.พ. ดังกล่าว ข้อ 2 กำหนดว่า ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 มีอำนาจสั่งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ประจำกระทรวง ประจำกรม หรือประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี ในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็น ดังต่อไปนี้ (1) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และถ้าให้ผู้นั้นคงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่เดิมต่อไปจะเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวน สอบสวน หรืออาจเกิดความเสียหายแก่ราชการ และข้อ 4 วรรคหนึ่งของกฎ ก.พ. ฉบับเดียวกัน กำหนดว่า การสั่งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ประจำกระทรวง ประจำกรม หรือประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 สั่งได้เป็นเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ผู้นั้นถูกสั่ง เมื่อผู้ร้องทุกข์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกอง ส. ซึ่งเป็นตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง และในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานพฤติการณ์การทุจริตของผู้ร้องทุกข์ย่อมต้องมีการสอบพยานบุคคลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่และข้าราชการในกอง ส. กับทั้งพยานเอกสาร หรือ พยานหลักฐานต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการสอบสวนได้อยู่ภายใต้การครอบครองของกอง ส. กรณีจึงเล็งเห็นได้ว่า หากผู้ร้องทุกข์ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการกอง ส. อาจอาศัยอำนาจนั้นบังคับบัญชาเรื่องต่าง ๆ เช่น บังคับบัญชาข้าราชการในกองนั้นให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน หรืออาจทำให้เกิดข้อครหาว่ากระบวนการสอบสวนไม่โปร่งใส ซึ่งจะทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายได้ กรณีจึงเข้าเหตุที่ผู้บังคับบัญชาจะออกคำสั่งให้ผู้ร้องทุกข์ไปประจำส่วนราชการเป็นการชั่วคราวได้แล้ว คำสั่งให้ผู้ร้องทุกข์ไปประจำกรม ก. เป็นระยะเวลา6 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นอุปสรรคในการสอบสวน จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
 

สรุปผล

               ร้องทุกข์ฟังไม่ขึ้น วินิจฉัยยกคำร้องทุกข์

 

วันที่