Skip to main content
x
 

สอบสวนทางวินัยโดยไม่ได้ให้ผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งชี้แจงพยานหลักฐานเป็นการดำเนินการทางวินัยโดยมิชอบ

(เรื่องแดงที่ 0105161)

 

ข้อเท็จจริง

            นาย ส. ผู้อุทธรณ์ เดิมรับราชการตำแหน่งเจ้าหนักงานราชทัณฑ์ชำนาญงาน เรือนจำอำเภอ ซี ได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการด้วยความตั้งใจ อุตสาหะ เอาใจใส่ รักษาประโยชน์ของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 (2) (3) มาตรา 84 และมาตรา 85 (1) (4) และ (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 กรณีผู้อุทธรณ์ได้รับฝากสิ่งของจากญาติผู้ต้องขังเพื่อนำเข้าไปให้ผู้ต้องขังโดยไม่มีหน้าที่และไม่ได้ทำการตรวจค้นสิ่งของ เป็นเหตุให้มีการซุกซ่อนยาเสพติดไว้ในสิ่งของที่รับฝากเข้าไปภายในเรือนจำ
           ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 ขณะผู้อุทธรณ์ปฏิบัติหน้าที่เวรรักษาการณ์กลางคืน มีหญิงสาวอายุประมาณ 20 ปี มาที่หน้าประตูเรือนจำและแจ้งต่อผู้อุทธรณ์ว่าขออนุเคราะห์ฝากสิ่งของให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยอ้างว่ามาเยี่ยมผู้ต้องขังไม่ทันเวลาเยี่ยมญาติของทางเรือนจำ ประกอบกับบ้านพักอาศัยอยู่ห่างไกลจากเรือนจำ ไม่สะดวกมาเยี่ยมญาติในวันถัดไป ผู้อุทธรณ์จึงได้รับฝากถุงใส่สิ่งของจากบุคคลที่อ้างว่าเป็นญาติของนาย ก. ผู้ต้องขังเรือนจำอำเภอ ซี เพื่อนำเข้าไปมอบให้นาย ก. ภายในถุงสิ่งของดังกล่าวประกอบด้วยกางเกงขาสั้น 2 ตัว โฟมล้างหน้า 1 หลอด และสเปรย์ดับกลิ่นกาย 3 ขวด ซึ่งผู้อุทธรณ์ได้ตรวจค้นสิ่งของที่บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกดังกล่าวแล้วไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2548 ได้มีการจับกุมนาย ก พร้อมของกลางเป็นยาเสพติด (ยาไอซ์) จำนวนหนึ่ง และมีการขยายผลจนทราบว่านาย ก เสพยาเสพติดดังกล่าวร่วมกับผู้ต้องขังรายอื่น คือ นาย ว. นาย อ. และนาย จ. ซึ่งนาย ก. ให้การว่ายาเสพติดดังกล่าวได้มาจากใต้หัวหลอดโฟมล้างหน้าซึ่งเป็นของที่ผู้อุทธรณ์รับฝากมาจากญาติผู้ต้องขังเพื่อนำเข้ามาให้ นาย ก.

คำวินิจฉัย ก.พ.ค.

           ก.พ.ค. พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คณะกรรมการสอบสวนได้สรุปพยานหลักฐานเพียงว่า “...ได้ความว่าผู้อุทธรณ์ได้รับฝากสิ่งของจากญาติผู้ต้องขังเพื่อนำเข้าไปให้ผู้ต้องขังโดยไม่มีหน้าที่และไม่ได้ทำการตรวจค้นสิ่งของที่รับฝากให้ละเอียด เป็นเหตุให้มีการลักลอบนำยาเสพติดเข้าไปในเรือนจำ...” โดยไม่ได้ระบุหรือสรุปคำให้การของพยานบุคคลแต่ละรายว่าให้การไว้ว่าอย่างไร และไม่ได้แนบคำให้การของพยานบุคคลทั้ง 8 ราย เพื่อเป็นเอกสารประกอบแนบท้ายบันทึกแบบ ดว.5 หรือนําคำให้การของพยานบุคคลดังกล่าวให้ผู้อุทธรณ์ตรวจดู การสรุปพยานหลักฐานดังกล่าว จึงยังไม่ถือว่าเพียงพอที่จะให้ผู้อุทธรณ์เข้าใจได้ว่าพยานบุคคลแต่ละรายให้การว่าอย่างไร เพื่อที่ผู้อุทธรณ์จะได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ถูกต้อง ถือว่าคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยยังไม่ได้สรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาในส่วนที่เป็นคำให้การผู้ต้องขังจำนวน 5 ราย และเจ้าหน้าที่เรือนจำอำเภอ ซี จำนวน 3 ราย ให้ผู้อุทธรณ์ทราบ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยที่จะต้องสรุปข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาลงในบันทึกแบบ ดว. 5 ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ แต่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยหาได้ดำเนินการเช่นนั้นไม่ กลับระบุแต่เพียงการแจกแจงรายการพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาหรือหากจะถือเอารายละเอียดทั้งหมดที่ปรากฏในพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นการสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาที่จะแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบ คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยก็ต้องมอบสำเนาพยานหลักฐานคำให้การของพยานบุคคลทั้ง 8 รายให้แก่ผู้อุทธรณ์ไป แต่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยก็มิได้ดำเนินการเช่นนั้น จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่สามารถทำให้ผู้อุทธรณ์สรุปข้อเท็จจริงเท่าที่มีอยู่ในพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาได้ทั้งหมด ผู้อุทธรณ์ไม่อาจรู้ถึงรายละเอียดที่พยานบุคคลทั้ง 8 รายให้ถ้อยคํา กรณีจึงถือว่าคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยไม่เปิดโอกาสให้ผู้อุทธรณ์ได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอที่จะทำให้ผู้อุทธรณ์มีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน อันเป็นการดำเนินการโดยไม่ชอบตามมาตรา 93 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบข้อ 38 และข้อ 40 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556
         นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า หลังจากที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้อุทธรณ์ทราบพร้อมกับรับฟังคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้อุทธรณ์แล้ว คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้สอบปากคําพยานบุคคลเพิ่มเติมที่เรือนจำกลาง ซี อีก 3 ราย คือ นาย ก. นาย ว. และนาย อ. โดยนาย ก. ให้ถ้อยคําว่า ได้ยาเสพติดมาโดยพบว่าซุกซ่อนอยู่ใต้ฝาหลอดโฟมล้างหน้าซึ่งเป็นของที่ผู้อุทธรณ์รับฝากจากญาตินําเข้ามาให้ คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยจึงได้รายงานการสอบสวนต่อกรม โดยนำถ้อยคำของนาย ก. มารับฟังและเห็นว่า ผู้อุทธรณ์ได้รับฝากสิ่งของจากญาติผู้ต้องขังโดยไม่มีหน้าที่และไม่ได้ตรวจค้นให้ละเอียด เป็นเหตุให้มีการลักลอบนํายาเสพติดเข้าไปในเรือนจำ พฤติการณ์จึงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ทั้งที่ไม่ปรากฏว่ามีพยานบุคคลรายอื่นให้ถ้อยคําว่ายาเสพติดที่นาย ก. นํามาเสพมาจากถุงสิ่งของที่ผู้อุทธรณ์นำเข้ามาให้ ดังนั้น จึงถือได้ว่าพยานหลักฐานของนาย ก. มีน้ำหนักสนับสนุนข้อกล่าวหา โดยเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่ปรากฏภายหลังจากที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาในเรื่องที่สอบสวนแล้ว คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยจึงต้องแจ้งสรุปพยานหลักฐานเพิ่มเติมนั้นให้ผู้อุทธรณ์ทราบ และให้โอกาสผู้อุทธรณ์ให้ถ้อยคำหรือนำสืบแก้เฉพาะถ้อยคำของพยานบุคคลดังกล่าวก่อน แต่ปรากฏว่าไม่มีการสรุปพยานหลักฐานเพิ่มเติมในส่วนดังกล่าวให้ผู้อุทธรณ์ทราบ แต่กลับนำเอาถ้อยคำของนาย ก. ไปใช้ในการพิจารณาความผิดทางวินัยกับผู้อุทธรณ์ จึงถือว่าคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 93 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบข้อ 48 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2551

สรุปผล

         อุทธรณ์ฟังขึ้น วินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษ และให้กรมดำเนินการเสียใหม่ให้ถูกต้อง 

 

วันที่