Skip to main content
x
 

แนวทางการพิจารณาสภาพร้ายแรงที่อาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง

: กรณีการดำเนินการทางวินัยและการสั่งลงโทษซึ่งผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ ต้องปฏิบัติหน้าที่ในหลายขั้นตอน

 
ผู้เขียน : นางสาวสุภาพร อารยะนรากูล
 
            เป็นที่ทราบกันดีว่าในการดำเนินการทางวินัยและการสั่งลงโทษข้าราชการพลเรือนสามัญครั้งหนึ่ง ๆ ย่อมมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายราย ไม่ว่าจะเป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย คณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนซึ่งต้องเป็นผู้พิจารณาผลการสอบสวนทางวินัย ผู้บังคับบัญชาหรือกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญซึ่งมีอำนาจพิจารณาความผิดและกำหนด จนที่สุดคือ ผู้ออกคำสั่งลงโทษ แต่โดยบทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑[1] จึงทำให้ผู้บังคับบัญชาผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ ต้องปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการนี้หลายขั้นตอนจนถึงการออกคำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งลงโทษ กล่าวคือ เป็นทั้งผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย เป็นผู้พิจารณาผลการสอบสวนทางวินัย เป็นผู้บังคับบัญชาหรือกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญซึ่งมีอำนาจพิจารณาความผิดและกำหนดโทษ และสุดท้ายเป็นผู้ออกคำสั่งลงโทษ ซึ่งในมุมมองของผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกสั่งลงโทษอาจเคลือบแคลงสงสัยว่าการที่ผู้บังคับบัญชาคนเดียวกันนี้ได้ปฏิบัติหน้าที่ในหลายขั้นตอน ย่อมต้องมีความโน้มเอียงไปในทางยืนยันความเห็นเดิมของตนที่เคยพิจารณาไว้ ทำให้มี “สภาพร้ายแรงที่อาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง” ได้ ดังนั้น บทความนี้จึงได้ศึกษาความเห็นคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง คำพิพากษาศาลปกครอง บทความทางกฎหมาย และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เพื่อให้ได้แนวทางในการพิจารณาสภาพร้ายแรงที่อาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙  ที่ประสงค์จะให้หลักประกันความเป็นธรรมแก่คู่กรณีโดยไม่สร้างภาระหรืออุปสรรคแก่การบริหารงานภาครัฐจนเกินสมควร
            ในเบื้องต้นจะเห็นได้ว่า พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้กำหนดหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกคำสั่งทางปกครองว่าจะต้องได้รับการพิจารณาทางปกครองจากเจ้าหน้าที่ที่มี “ความเป็นกลาง” ไว้ในมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๖ และมาตรา ๑๘[2] กล่าวคือ ผู้พิจารณาทางปกครองจะต้องไม่มีเหตุความไม่เป็นกลาง ดังนี้
            (๑) ความไม่เป็นกลางด้วยเหตุสภาพภายนอก หรือความไม่เป็นกลางทางภาวะวิสัย ซึ่งพิจารณาจากสภาพที่ปรากฏชัดเจน คือ ผู้พิจารณาทางปกครองเป็นคู่กรณีในคำสั่งทางปกครองเสียเอง หรือผู้พิจารณาทางปกครองมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคู่กรณีในคำสั่งทางปกครองในทางหนึ่งทางใด อาทิ เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรส ญาติ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือนายจ้าง เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณีในคำสั่งทางปกครอง (ข้อ ๑๓)
            (๒) ความไม่เป็นกลางในทางเนื้อหาหรือโดยสภาพภายใน หรือความไม่เป็นกลางทางอัตวิสัย ซึ่งเกิดจากข้อกังวลหรือความคิดเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องความเป็นมิตรหรือความเป็นศัตรู ความกลัว ความรู้สึกไม่พอใจ ความโกรธระหว่างบุคคล หรือผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ลำพังความคิดหรือความรู้สึกเหล่านั้นแต่เพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะถือเป็นเหตุที่อาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง แต่ต้องมีการแสดงออกหรือหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ด้วยจึงจะเชื่อได้ว่าผู้พิจารณาทางปกครองไม่มีความเป็นกลาง ในการพิจารณา (ข้อ ๑๖)
            (๓) บทยกเว้นความไม่เป็นกลาง ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ ๑๘ ว่า ไม่ให้นำข้อ ๑๓ และข้อ ๑๖ มาใช้บังคับกับกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้ล่าช้าไปจะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะหรือสิทธิของบุคคลจะเสียหายโดยไม่มีทางแก้ไขได้ หรือไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนผู้นั้นได้
            ซึ่งในการพิจารณาว่าผู้พิจารณาทางปกครองมีความไม่เป็นกลาง อันเป็นสภาพร้ายแรงที่อาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น จะต้องพิจารณา (๑) – (๓) ประกอบกัน ในลักษณะ “เหตุปัจจัย” และ “ความสัมพันธ์หรือแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่” ซึ่งต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและข้อพิพาทในแต่ละกรณีว่าปัจจัยเหตุมีความรุนแรงโดยสัมพันธ์หรือส่งผลทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางได้มากน้อยเพียงใด[3] ยกตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๑๔๖/๒๕๕๔ กรณีที่นาย ค. (ผู้บังคับบัญชา) และนาง ง. (ผู้ใต้บังคับบัญชา) มีปัญหาความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในเรื่องส่วนตัวและหน้าที่ราชการถึงขั้นร้องทุกข์กล่าวโทษซึ่งกันและกันต่อพนักงานสอบสวน ต่อมา นาย ค. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาความผิดนาง ง. ซึ่งนาย ค. ได้ร่วมเป็นกรรมการสอบสวนอยู่ด้วยและได้พิจารณามีคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนนาง ง. กรณีเห็นได้ว่า นาย ค. มีอคติในการปฏิบัติหน้าที่เพราะความโกรธเคืองหรือความขัดแย้งส่วนบุคคล จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นกรณีที่มีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง
            แต่หากไม่สามารถแสดงความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยและผลที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของผู้พิจารณาทางปกครองได้ ก็ไม่อาจถือได้ว่ามีความไม่เป็นกลางในการพิจารณาทางปกครอง ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่เจ้าหน้าที่เคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมายในทางใดทางหนึ่งมาก่อน แม้จะเป็นแนวคิดที่มีจุดยืนในทางเป็นปฏิปักษ์กับผู้รับผลในคำสั่งทางปกครอง และต่อมาต้องทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นอีก หากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นใดที่ทำให้เชื่อได้ว่า การพิจารณาทางปกครองของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นจะขาดความเป็นกลางหรือเสียความเป็นธรรม เช่น การยึดติดกับความเห็นเดิมที่ได้วินิจฉัยสั่งการไป การรวบรัดการพิจารณา หรือมิได้มีการสอบสวนพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่อาจถือได้ว่า เหตุดังกล่าวจะกระทบต่อความเป็นกลางแต่อย่างใด หรือการที่เจ้าหน้าที่เคยพิจารณาเรื่องที่จะทำการพิจารณามาก่อนแล้ว โดยเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือตามที่ได้รับมอบหมาย แม้จะถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนรู้เห็นในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว แต่เมื่อเป็นการรู้เห็นเหตุการณ์ในหน้าที่และไม่ปรากฏชัดเจนโดยมีพยานหลักฐานสนับสนุนว่าการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะมีอิทธิพลต่อเรื่องที่จะทำการพิจารณาหรือต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างไร ก็ไม่อาจถือได้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นมีเหตุที่จะทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางได้[4] ยกตัวอย่าง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เรื่องดำที่ ๕๘๑๐๐๘๓  ๕๘๑๐๐๙๗  ๕๘๑๐๑๐๓  ๕๘๑๐๑๐๕  ๕๘๑๐๑๑๐ และ ๕๘๑๐๑๓๔  เรื่องแดงที่ ๐๑๒๓๑๖๔  ๐๑๒๔๑๖๔  ๐๑๒๕๑๖๔  ๐๑๒๖๑๖๔  ๐๑๒๗๑๖๔ และ ๐๑๒๘๑๖๔ ที่วินิจฉัยว่า การที่ปลัดกระทรวง ม. ต้องพิจารณามีความเห็นต่อผลการสอบสวนตามหน้าที่ในมาตรา ๙๗ และการพิจารณาของ อ.ก.พ. กระทรวง ม. ยังเป็นเพียงการดำเนินขั้นตอนทางวินัยหรือเป็นการเตรียมการของเจ้าหน้าที่ก่อนจัดให้มีคำสั่งลงโทษ และในรายงานการประชุม อ.ก.พ. กระทรวง ม. ไม่ปรากฏว่าปลัดกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นประธานในการประชุมโดยผลของกฎหมาย[5] ได้มีพฤติการณ์ใดที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มผู้ถูกพิจารณาความผิด หรือมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง ชี้นำ โน้มน้าว จูงใจ ให้อนุกรรมการอื่น ๆ อีก ๘ ราย มีความเห็นหรือมติในทางเป็นโทษต่อผู้ถูกพิจารณาความผิด ซึ่งผลการพิจารณาปรากฏว่า อนุกรรมการทุกคนมีความเห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ จึงไม่มีกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากันอันจะต้องให้ประธานในการประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาดแต่อย่างใด ดังนั้น จึงยังฟังไม่ได้ว่าการพิจารณาความผิดและกำหนดโทษของ อ.ก.พ. กระทรวง ม. มีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลาง และแม้จะไม่นับรวมเสียงของประธานในการประชุมก็ตาม ที่ประชุมก็ยังมีจำนวนเกินกึ่งหนึ่งขององค์ประชุม โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ดังนั้น จึงยังฟังไม่ได้ว่าการพิจารณาของ อ.ก.พ. กระทรวง ม. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
            นอกจากนี้ แม้ผู้พิจารณาทางปกครองมีเหตุที่อาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง แต่หากเป็นการพิจารณาทางปกครองเพื่อออก “คำสั่งทางปกครองที่มีดุลพินิจลดลงจนเป็นศูนย์หรือคำสั่งทางปกครองที่ไม่มีดุลพินิจ” ผู้พิจารณาทางปกครองคนดังกล่าวก็ยังสามารถดำเนินการพิจารณาทางปกครองต่อไปได้ เพราะการเข้าร่วมในการพิจารณาทางปกครองนั้นไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจในสาระสำคัญ ยกตัวอย่าง บันทึกคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่อง การคัดค้านผู้ออกคำสั่งลงโทษทางวินัย (เรื่องเสร็จที่ ๔๘๓/๒๕๕๑) กรณีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้มีอำนาจออกคำสั่งลงโทษทางวินัยในกรณีตามข้อ ๔๐ (๓) แห่งกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งต้องออกคำสั่งตามมติ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ไม่อาจมีคำสั่งให้แตกต่างไปได้ ย่อมไม่มีประเด็นว่าผู้อำนวยการฯ เป็นผู้มีเหตุที่ทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลางหรือไม่ หรือกรณีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๙๓๘/๒๕๕๘ ที่วินิจฉัยยืนยันว่า กรณีที่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกคำสั่งให้ตนเองและเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำละเมิดชดใช้เงิน เป็นการออกคำสั่งตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้กำกับดูแลสั่งการ ตามความเห็นของกระทรวงการคลัง จึงถือเป็นการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น มิได้ใช้ดุลพินิจในเรื่องดังกล่าว จึงไม่ขัดต่อหลักความเป็นกลางตามมาตรา ๑๓ (๑) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙[6]
            อย่างไรก็ตาม แม้ตามข้อกฎหมายและความเห็นของหน่วยงานข้างต้นจะเป็นแนวทางให้พิจารณาได้ว่าแม้จะมีปัจจัยเหตุที่อาจทำให้เกิดความไม่เป็นกลาง แต่ก็อาจไม่เป็นสภาพร้ายแรงที่ทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง เพราะไม่มีความสัมพันธ์กับผลอย่างชัดเจนเป็นประจักษ์ แต่โดยที่บทบัญญัติของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ทำให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ ต้องปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการดำเนินการทางวินัยหลายขั้นตอนจนถึงการออกคำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งลงโทษ ซึ่งถือเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจและหน้าที่ ดังนั้น ในการดำเนินการในขั้นตอนใดที่อาจหลีกเลี่ยง “ความไม่เป็นกลาง” ได้ ย่อมเป็นสิ่งที่พึงกระทำ เพื่อมิให้เกิดปัญหาต้องตีความในภายหลัง เช่น อาจอาศัยอำนาจตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร ๑๐๑๐/ว ๓๕ ลงวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๓ มอบหมายอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยให้ผู้บังคับบัญชาระดับต่ำลงไปปฏิบัติราชการแทน ส่วนปลัดกระทรวง หรืออธิบดี หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอนุกรรมการใน อ.ก.พ. สามัญซึ่งมีอำนาจพิจารณาความผิดและกำหนดโทษ หรือหากผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ เป็นผู้พิจารณาผลการสอบสวนทางวินัย ก็อาจมอบให้รองหัวหน้าส่วนราชการไปปฏิบัติหน้าที่ใน อ.ก.พ. สามัญซึ่งมีอำนาจพิจารณาความผิดและกำหนดโทษแทนตน เป็นต้น
            ข้อสรุป
            ในการพิจารณาว่าการดำเนินการทางวินัยและการสั่งลงโทษซึ่งผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ ต้องปฏิบัติหน้าที่ในหลายขั้นตอน มีสภาพร้ายแรงที่อาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง นั้น ต้องพิจารณาทั้งจาก (๑) ความไม่เป็นกลางด้วยเหตุสภาพภายนอก (๒) ความไม่เป็นกลางโดยสภาพภายใน และ (๓) บทยกเว้นความไม่เป็นกลาง ประกอบกัน ในลักษณะ “เหตุปัจจัย” และ “ความสัมพันธ์หรือแนวโน้มที่จะส่งผลต่อการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่” ซึ่งต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อพิพาทในแต่ละกรณีว่าปัจจัยเหตุมีความรุนแรงสัมพันธ์หรือส่งผลทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ลำพังความคิดหรือความรู้สึกของผู้ถูกสอบสวนหรือผู้ถูกลงโทษแต่เพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะถือเป็นเหตุที่อาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง แต่ต้องมีการแสดงออกหรือหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ด้วยจึงจะเชื่อได้ว่าผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ ไม่มีความเป็นกลางในการพิจารณาทางปกครอง อันเป็นสภาพร้ายแรงที่อาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะหากไม่พิจารณาโดยรอบคอบ ครบถ้วนแล้ว “ความไม่เป็นกลาง” อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการบริหารงานภาครัฐตามไปด้วย
-------------------------------

เชิงอรรถ

[1] พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑
มาตรา ๑๕ อ.ก.พ. กระทรวง ประกอบด้วยรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เป็นประธาน ปลัดกระทรวง เป็นรองประธาน และผู้แทน ก.พ. ซึ่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนในสำนักงาน ก.พ. หนึ่งคน เป็นอนุกรรมการโดยตำแหน่ง ...
มาตรา ๑๗ อ.ก.พ. กรม ประกอบด้วยอธิบดี เป็นประธาน รองอธิบดีที่อธิบดีมอบหมายหนึ่งคน เป็นรองประธาน ...
มาตรา ๑๙ อ.ก.พ. จังหวัด ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายหนึ่งคน เป็นรองประธาน ...
มาตรา ๙๑ เมื่อได้รับรายงานตามมาตรา ๙๐ หรือความดังกล่าวปรากฏต่อผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ รีบดำเนินการหรือสั่งให้ดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณาในเบื้องต้นว่ากรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่
มาตรา ๙๒ ในกรณีที่ผลการสืบสวนหรือพิจารณาตามมาตรา ๙๑ ปรากฏว่ากรณีมีมูลถ้าความผิดนั้นมิใช่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และ ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ พร้อมทั้งรับฟังคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหาแล้วผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษตามควรแก่กรณีโดยไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็ได้
มาตรา ๙๓ ในกรณีที่ผลการสืบสวนหรือพิจารณาตามมาตรา ๙๑ ปรากฏว่ากรณีมีมูลอันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
มาตรา ๙๖ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระท าผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ สั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือนหรือลดเงินเดือนตามควรแก่กรณี ให้เหมาะสมกับความผิด
มาตรา ๙๗ วรรคสอง ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนหรือผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง หรือผู้มีอำนาจตามมาตรา ๙๔ เห็นว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ ส่งเรื่องให้ อ.ก.พ. จังหวัด อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ. กระทรวง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่ แล้วแต่กรณี พิจารณา เมื่อ อ.ก.พ. ดังกล่าวมีมติเป็นประการใด ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา ๕๗ สั่งหรือปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น
[2] พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา ๑๓ เจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้จะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้
(๑) เป็นคู่กรณีเอง
(๒) เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี
(๓) เป็นญาติของคู่กรณี คือ เป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใด ๆ หรือเป็นพี่น้อง หรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงภายในสามชั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียงสองชั้น
(๔) เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี
(๕) เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือเป็นนายจ้างของคู่กรณี
(๖) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา ๑๖ ในกรณีมีเหตุอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓ เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง เจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้นั้นจะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ได้
มาตรา ๑๘ บทบัญญัติมาตรา ๑๓ ถึงมาตรา ๑๖ ไม่ให้นำมาใช้บังคับกับกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้ล่าช้าไปจะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะหรือสิทธิของบุคคลจะเสียหายโดยไม่มีทางแก้ไขได้ หรือไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนผู้นั้นได้
[3] บันทึกคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่อง เหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง กรณีการพิจารณาความผิดและลงโทษทางวินัยข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา (เรื่องเสร็จที่ ๑๐๑/๒๕๕๙)
[4] บทความ เรื่อง เหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง กรณีเจ้าหน้าที่ซึ่งมีส่วนร่วมในการพิจารณาทางปกครองเรื่องเดียวกันในหลายขั้นตอนก่อนที่จะมีการออกคำสั่งทางปกครอง (Vorbefassung des Sachverhalts als Befangenheitsgrund) โดยนายณัฎฐพล  สกุลเมฆา
[5] พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
มาตรา ๘๑ วรรคสอง ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานกรรมการทำหน้าที่แทน
[6] บทความ เรื่อง ข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักความเป็นกลางของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง : วิเคราะห์เปรียบเทียบกฎหมายไทยและกฎหมายเยอรมันโดยนางสาววรนารี สิงห์โต

 

ดาวน์โหลดบทความฉบับเต็ม

 

ประเภทเนื้อหา
วันที่