Skip to main content
x
 

คำวินิจฉัยที่น่าสนใจ 

“ถึงทำตามนายสั่ง ก็ไม่พ้นผิดวินัย”

 
เรื่องดำที่  5810081  5810083  5810090  5810093  5810097  5810103  5810105  5810110  5810112  5810131  และ 5810134 
เรื่องแดงที่  0020161  0060162  0105163  0110163  0112163  0123164  0124164 0125164  0126164  0127164  และ 0128164
 
ผลคำวินิจฉัย   
          - จำหน่ายอุทธรณ์เพราะถอนอุทธรณ์ 2 ราย
          - จำหน่ายอุทธรณ์เพราะถูกเพิ่มโทษ 3 ราย
          - ยกอุทธรณ์ (ปลดออก 5 ราย ลดเงินเดือน 1 ราย)

 

การดำเนินการทางวินัย  ต้นสังกัดดำเนินการเอง

 

          ถ้าข้าราชการรายใดเห็นว่าการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาจะทำให้เสียหายแก่ทางราชการหรือจะเป็นการไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการจะต้องคัดค้านหรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามอำนาจที่ตนเองมีอยู่ ดังนั้น เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งให้มีการจัดซื้อสารเคมีเพื่อช่วยเหลือราษฎรโดยไม่ชอบด้วยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 เป็นเหตุให้มีการซื้อสารเคมีในราคาที่แพงกว่าราคาตลาดของท้องที่ในช่วงที่ประสบภัยพิบัติ อันจะทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย แต่ผู้อุทธรณ์ทั้งหมดไม่ปฏิเสธหรือโต้แย้งหรือดำเนินการใด ๆ เพื่อประโยชน์ของทางราชการ จึงถือได้ว่ารู้เห็นเป็นใจและร่วมมือกับ ผู้บังคับบัญชาในการกระทำความผิด ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้
 

ข้อเท็จจริง

          ก.พ.ค. ได้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ จำนวน 6 ราย ส่วนอีก 5 ราย ได้จำหน่ายอุทธรณ์ไปก่อนที่จะมีคำวินิจฉัย
          มูลกรณีเรื่องนี้ปรากฏขึ้นเนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ชี้มูลความผิดว่าจังหวัด บ. ได้ใช้จ่ายงบประมาณเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน (ด้านพืช) ประจำปีงบประมาณ 2554  โดยสำรวจและจัดทำโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช ด้วยการจัดซื้อสารเคมี “ปราบศตรูพืช” โดยไม่ชอบด้วยระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ซึ่งผลการสอบสวนฟังว่า ผู้อุทธรณ์ที่ 1 - 5 ในฐานะนายอำเภอ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ และทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินระดับอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.)  โดยตำแหน่ง  มีหน้าที่ในการอำนวยความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในอำเภอ และอนุมัติจ่ายเงินทดรองราชการให้เป็นไปตามระเบียบดังกล่าวตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัด บ. แต่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด บ. โดยจัดซื้อสารเคมี ขนาดขวดละ 1,000 ซีซี ในราคา 1,712 บาท ทั้งที่ได้รับรู้และรับทราบมาตั้งแต่ต้นแล้วว่ามีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยมุ่งประสงค์จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย และเมื่อได้รับจัดสรรวงเงินทดรองราชการแล้วได้ดำเนินการจัดหาพัสดุโดยไม่มีการเจรจาต่อรองและตกลงราคากับผู้มีอาชีพขายหรือรับจ้าง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้างต้น เป็นผลโดยตรงทำให้ทางราชการเสียหายอย่างร้ายแรง เพราะจัดซื้อในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดของท้องที่ในช่วงเวลาที่ภัยพิบัติเกิดขึ้น  แต่ตามทางสอบสวนไม่ปรากฏเจตนาพิเศษเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ อันจะถือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ปลัดกระทรวง ม. โดยมติ อ.ก.พ. กระทรวง ม. มีคำสั่งลงโทษปลดผู้อุทธรณ์ที่ 1 – 5 ออกจากราชการ
          ส่วนผู้อุทธรณ์ที่ 6 ในฐานะคณะกรรมการเจรจาต่อรองและตกลงราคา อำเภอ ซ. ได้ลงนามในบันทึกการเจรจาต่อรองและตกลงราคาและเสนอให้นายอำเภอจัดซื้อสารเคมี “ปราบศัตรูพืช” 50% Sc จากผู้เสนอราคารายต่ำสุด โดยไม่ทำการเจรจาต่อรองและตกลงราคา อธิบดีกรม ข. มีคำสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนในอัตราร้อยละ 4
 

คำวินิจฉัย

          ข้อกฎหมาย
          (1) การตรวจสอบสืบสวนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
          พิจารณาแล้วเห็นว่า การสอบถ้อยคำบุคคลของ สตง. ได้ดำเนินการตามข้อบังคับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการตรวจสอบสืบสวน พ.ศ. 2549 แล้ว ถือเป็นเอกสารหลักฐาน   ที่ทางราชการทำขึ้น จึงสามารถใช้อ้างอิงเป็นพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนได้ตามข้อ 13 ของกฎ ก.พ. ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2540) ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา (ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะทำการสอบสวน) ข้ออุทธรณ์ที่อ้างว่า ผลการตรวจสอบสืบสวนของ สตง. ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้
          (2)  การสอบสวนและดำเนินการทางวินัยชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่
          พิจารณาแล้วเห็นว่า สตง. มิได้ชี้มูลว่าข้าราชการในสังกัดกระทรวง ก. ได้กระทำผิดร่วมกับข้าราชการสังกัดกระทรวง ม. จึงมิใช่กรณีที่ข้าราชการต่างกระทรวงกระทำผิดร่วมกัน            ในอันที่ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งบรรจุของผู้ร่วมกระทำความผิดจะต้องร่วมกันแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามนัยมาตรา 94 (3) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และปลัดกระทรวง ม. มิใช่ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุของข้าราชการกระทรวง ก. ดังนั้น การที่กระทรวง ม. พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกรณีข้าราชการต่างกรมในกระทรวงเดียวกันถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร่วมกัน จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 93 มาตรา 94 (2) และมาตรา 132 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ข้าราชการในสังกัดกระทรวง ม. ทั้ง 30 ราย ตามที่ สตง. มีหนังสือแจ้งฯ รวมทั้งการที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ข้าราชการในสังกัดกระทรวง ม. อีก 3 ราย ที่ร่วมกระทำผิด แต่ สตง. ไม่ได้แจ้งให้ดำเนินการทางวินัย นั้น จึงเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด อุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ที่อ้างว่าไม่มีการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ร่วมกระทำผิดให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงไม่อาจรับฟังได้ 
          ส่วนที่ผู้อุทธรณ์อ้างว่า กรรมการสอบสวนล้วนมีตำแหน่งต่ำกว่าผู้อุทธรณ์ และกรรมการสอบสวนไม่มีประสบการณ์เป็นนายอำเภอ นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า ขณะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ผู้อุทธรณ์ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ (อำนวยการ ระดับต้น) ในขณะที่ประธานกรรมการสอบสวนดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง ม. (บริหาร ระดับสูง) และแม้จะมีการเปลี่ยนคณะกรรมการสอบสวน ประธานกรรมการสอบสวนก็ยังคงเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง ม. (บริหาร ระดับสูง) เป็นตามคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 3 และข้อ 10 ของกฎ ก.พ. ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2540) ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา ประกอบกับตามข้อเท็จจริง ปรากฏว่าปลัดกระทรวง ม. ได้แต่งตั้งข้าราชการกรม ป. และกรม ข. ร่วมเป็นกรรมการสอบสวนด้วยแล้ว         จึงยังไม่อาจฟังได้ว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนของกระทรวง ม. ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรมอย่างไร ข้ออุทธรณ์นี้จึงไม่อาจรับฟังได้
          ข้อที่อุทธรณ์ว่า มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบสวนจากนาย อ. เป็นนาย น. ก็เพื่อให้มาทำหน้าที่แก้ไขสำนวนการสอบสวน ทำให้การสอบสวนไม่เป็นธรรม นั้น  พิจารณาแล้วเห็นว่า มิได้มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสอบสวนจากนาย อ. เป็นนาย น. ตามที่ผู้อุทธรณ์เข้าใจ โดยนาย อ. เป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้มาโดยตลอด และนาย น. ก็มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการสอบสวนครั้งนี้แต่อย่างใด ดังนั้น ข้ออ้างของผู้อุทธรณ์จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่เป็นความจริง
          สำหรับข้ออ้างที่ว่า ประธานกรรมการสอบสวนไม่เคยสอบสวนผู้อุทธรณ์โดยตรง แต่ปรากฏลายมือชื่อในการสอบสวนทุกครั้ง ซึ่งเป็นเท็จ นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า กฎ ก.พ. ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2540) ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา ข้อ 18 ซึ่งใช้ในการสอบสวนก่อนที่จะมีการสอบสวนเพิ่มเติม  และข้อ 30 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ซึ่งใช้ในสอบสวนเพิ่มเติม ต่างกำหนดเช่นเดียวกันว่า ในการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหาหรือพยาน ต้องมีกรรมการสอบสวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด จึงจะสอบสวนได้ ซึ่งมิได้กำหนดให้ประธานการสอบสวนต้องอยู่สอบสวนด้วย ซึ่งจากการตรวจสอบบันทึกการให้ถ้อยคำของผู้อุทธรณ์พบว่า การสอบปากคำกระทำโดยคณะกรรมการสอบสวนจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสอบสวนทั้งหมด  ซึ่งได้ลงลายมือชื่อในบันทึกถ้อยคำดังกล่าว โดยไม่ปรากฏการลงลายมือชื่อของประธานกรรมการสอบสวน เนื่องจากประธานกรรมการสอบสวนไม่ได้อยู่ด้วยในการสอบสวน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเห็นได้ว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว มิได้เป็นเอกสารเท็จแต่อย่างใด ข้ออ้างนี้จึงไม่อาจรับฟังได้
          ตามที่ผู้อุทธรณ์อุทธรณ์ว่า ไม่มีการแจ้งสรุปพยานหลักฐานในชั้นสอบสวนเพิ่มเติมให้ทราเพื่อจะได้ใช้สิทธิโต้แย้ง จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็น อ.ก.พ. กระทรวง ม. แนะนำให้สอบสวนเพิ่มเติม ล้วนแต่เป็นประเด็นเดิมที่ได้มีการสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้ว ประกอบการในการสอบสวนเพิ่มเติมได้มีการแจ้ง ให้ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนรับทราบประเด็นทั้งหมดที่ อ.ก.พ. กระทรวง ม. แนะนำให้สอบสวนเพิ่มเติม และการสอบสวนเพิ่มเติมเพียงแต่ลงลึกในรายละเอียดมากขึ้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนเพียงพอประกอบ  การพิจารณาเท่านั้น ซึ่งภายหลังจากที่ผู้ถูกกล่าวหาทราบประเด็นที่สอบสวนเพิ่มเติมแล้ว คณะกรรมการสอบสวนได้จัดให้มีการให้ถ้อยคำและให้โอกาสในการชี้แจงอย่างเต็มที่ โดยผู้ถูกกล่าวหาทุกคน      ได้เข้าให้ถ้อยคำและมีหนังสือชี้แจงต่อคณะกรรมการสอบสวนแล้ว จึงเห็นได้ว่าการดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวนตามที่ถูกสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม นั้น มิได้ทำให้เสียความเป็นธรรมในการสอบสวนแต่อย่างใด และไม่เป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 อุทธรณ์ในข้อนี้จึงไม่อาจรับฟังได้
          ข้อที่ผู้อุทธรณ์ที่ 3 อ้างว่า มีการนำถ้อยคำของตนที่ให้การในขณะที่เป็นเพียงพยานมาใช้ในการลงโทษ นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า การสอบสวนดำเนินการทางวินัยแก่ผู้อุทธรณ์ที่ 3 ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด มิได้นำถ้อยคำของผู้อุทธรณ์ที่ 3 ที่ให้ถ้อยคำในฐานะยาน       มาใช้ฟังลงโทษโดยไม่ให้ผู้อุทธรณ์ที่ 3 ได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด อุทธรณ์ข้อนี้จึงไม่อาจรับฟังได้
          (3)  การดำเนินกระบวนพิจารณาความผิดและกำหนดโทษชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่
          ตามที่อุทธรณ์ว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่ อ.ก.พ. กระทรวง ม. ปฏิเสธ ไม่สอบสวนพยานผู้เชี่ยวชาญรายนางสาว พ. อดีตผู้อำนวยการส่วนตรวจสอบความช่วยเหลือ กรม ป. นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า นางสาว พ. ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการให้ความช่วยเหลือฯ ของจังหวัด บ. ในเรื่องนี้และไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกรม ป. ซึ่งในการสอบสวน ได้มีการสอบปากคำนางสาว บ. ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นหัวหน้าฝ่ายสงเคราะห์ สำนักงาน ป. จังหวัด บ. และเป็นผู้ดำเนินการตามโครงการที่เกิดเหตุแล้ว อีกทั้ง ในส่วนของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของกรม ป. นั้น ปรากฏว่าได้มีการแต่งตั้งนาย ศ. นิติกรชำนาญการพิเศษ กรม ป. เป็นกรรมการสอบสวนมาตั้งแต่แรก ต่อมาเมื่อมีการสอบสวนเพิ่มเติม แม้จะไม่ได้แต่งตั้งนาย ศ. เป็นกรรมการสอบสวนเพิ่มเติมอีก แต่ก็ได้แต่งตั้งนาย ธ. เลขานุการกรม ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรม ป. ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินทดรองราชการของกรม ป. มาเป็นกรรมการสอบสวน อันเป็นการให้ความเป็นธรรม เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปโดยถูกต้องแล้ว ดังนั้น ข้ออุทธรณ์ในประเด็นนี้จึงไม่อาจรับฟังได้
          ส่วนที่อุทธรณ์ว่า นาย ว. ปลัดกระทรวง ม. ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม อ.ก.พ. กระทรวง ม. ในวันที่พิจารณาความผิดและกำหนดโทษ มีสภาพร้ายแรงตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า
  1. แม้ในขณะเกิดเหตุ นาย ว. จะเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรม ป. ก็ตาม แต่ข้อ 32 (2) ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในการตรวจสอบและรับรองการใช้จ่ายเงินทดรองราชการฯ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพราะการอนุมัติและจ่ายเงินทดรองราชการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ในชั้นของจังหวัด ประกอบกับกรณีนี้เป็นภัยพิบัติฉุกเฉินที่ต้องจัดซื้อตามราคาตลาดของท้องที่ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ จังหวัดจึงต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบและรับรองการใช้จ่ายของตนเอง ซึ่งกรม ป. โดยสำนักช่วยเหลือผู้ประสบภัย จะดำเนินการตรวจสอบความครบถ้วนตรงกันของเอกสารประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินงบกลางชดใช้เงินทดรองราชการฯ เสนอให้อธิบดีกรม ป. ลงนามหนังสือเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ม. เพื่อให้ความเห็นชอบการใช้จ่ายเงินงบกลางเพื่อชดใช้เงินทดรองราชการและขออนุมัติเงินประจำงวดเงินงบกลางไปยังสำนักงบประมาณเท่านั้น กรณีจึงถือไม่ได้ว่านาย ว. ได้พิจารณาเห็นชอบการดำเนินการของจังหวัด บ. เมื่อนาย ว. มิได้เป็นผู้เห็นชอบว่าการใช้จ่ายงบประมาณเงินทดรองราชการฯ จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องนี้อันจะทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางตามที่ผู้อุทธรณ์กล่าวอ้าง แต่อย่างใด
  2. ตามที่อ้างว่าปลัดกระทรวง ม. เป็นผู้บังคับบัญชาของกรรมการ อ.ก.พ. กระทรวง ม. บางราย ซึ่งมีผลต่อการพิจารณาลงมติของ อ.ก.พ. กระทรวง ม. จึงไม่ควรอยู่ร่วมพิจารณา นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 15 ได้กำหนดองค์ประกอบของ อ.ก.พ. กระทรวง ว่า อ.ก.พ. กระทรวง ประกอบด้วยรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เป็นประธาน ปลัดกระทรวงเป็นรองประธาน ... จึงย่อมเป็นเหตุให้ปลัดกระทรวง ม. เป็นอนุกรรมการฯ โดยตำแหน่ง อันเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดไว้ อันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะเจตนารมณ์ในการที่จัดให้มีอนุกรรมการฯ ฝ่ายผู้แทนข้าราชการก็เพื่อให้มีการตรวจสอบถ่วงดุล (check and balance) แต่โดยที่การประชุม อ.ก.พ. กระทรวง ม. ครั้งที่ 4/2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ม. ติดราชการ ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ จึงมอบให้ปลัดกระทรวง ม. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแทนซึ่งเป็นไปตามมาตรา 81 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นอกจากนี้มีอนุกรรมการที่เข้าร่วมประชุม จำนวน 9 ราย (จากทั้งหมด 11 ราย) ซึ่งต่างมีสิทธิออกเสียงรวมถึงแสดงความคิดเห็นได้โดยอิสระ และตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานการประชุมก็ไม่ปรากฏว่าการทำหน้าที่ของปลัดกระทรวง ม. ในฐานะประธานในที่ประชุมได้ดำเนินการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการชี้นำอันจะทำให้เกิดผลในทางลบต่อผู้อุทธรณ์ และในการพิจารณาอนุกรรมการทุกคนมีความเห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ จึงไม่มีกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากันอันจะต้องให้ประธานในการประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด (ตามนัยมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539) กับทั้งการพิจารณาของ อ.ก.พ. กระทรวง ม. ยังเป็นเพียงการดำเนินขั้นตอนทางวินัยหรือเป็นการเตรียมการของเจ้าหน้าที่ก่อนจัดให้มีคำสั่งทางปกครองลงโทษผู้ถูกสอบสวน โดยในรายงานการประชุม อ.ก.พ. กระทรวง ม. ไม่ปรากฏว่านาย ว. มีพฤติการณ์ใดที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มผู้อุทธรณ์ หรือมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง ชี้นำ โน้มน้าว จูงใจ ให้อนุกรรมการอื่น ๆ อีก 8 ราย มีความเห็นหรือมติในทางเป็นโทษต่อผู้อุทธรณ์ จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายจึงยังฟังไม่ได้ว่า การพิจารณาของ อ.ก.พ. กระทรวง ม. มีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาไม่เป็นกลาง
  3. ในข้อที่อ้างว่า นาย ว. มีสภาพร้ายแรง เพราะเป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เป็นผู้สั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมตามคำแนะนำของ อ.ก.พ. กระทรวง ม. และต่อมาเป็นประธานในที่ประชุม พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่นาย ว. เคยเป็นอธิบดีกรม ป. เป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เป็นผู้สั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม ตามคำแนะนำของ อ.ก.พ.กระทรวง ม. เป็นผู้พิจารณารายงานการสอบสวนตามนัยมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และเป็นอนุกรรมการใน อ.ก.พ. กระทรวง ม. ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดแจ้งมาโดยตลอด ซึ่งตามทางสอบสวนก็ไม่ปรากฏว่า ผู้ถูกสอบสวนหรือผู้อุทธรณ์รายใดเคยมีหนังสือคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของปลัดกระทรวง ม. แต่อย่างใด ดังนั้น การที่เพิ่งหยิบยกเหตุนี้ขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงไม่สมเหตุสมผล และอาจแสดงถึงความไม่บริสุทธิ์ใจ
          จากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และข้อวิเคราะห์ข้างต้น จึงยังฟังไม่ได้ว่านาย ว. ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม อ.ก.พ. กระทรวง ม. มีสภาพร้ายแรงตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2839 ดังนั้น อุทธรณ์ในประเด็นนี้ของผู้อุทธรณ์จึงไม่อาจรับฟังได้
          สำหรับที่อุทธรณ์ว่า ในการประชุมของ อ.ก.พ. กระทรวง ม. ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้อุทธรณ์ชี้แจงคัดค้าน นั้น มาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และข้อ 59 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ไม่ได้กำหนดว่าในขั้นตอนการประชุมพิจารณาความผิดและกำหนดโทษของ อ.ก.พ. กระทรวง ต้องให้ผู้ถูกสอบสวนมีโอกาสชี้แจงคัดค้านต่อที่ประชุม ซึ่งหากพิจารณาเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลปกครองสุงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.1469/2558 เห็นได้ว่า การสอบสวนทางวินัย การมีความเห็นของผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน และการพิจารณาของ อ.ก.พ. กระทรวง ม. ยังเป็นเพียงการดำเนินขั้นตอนทางวินัยหรือเป็นการเตรียมการของเจ้าหน้าที่ก่อนจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง (คำสั่งลงโทษ) ดังนั้น หากในการสอบสวนทางวินัย และในชั้นการพิจารณาของผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ได้มีการให้โอกาสผู้ถูกสอบสวนทราบข้อเท็จจริงและมีโอกาสต่อสู้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่แล้ว กรณีย่อมเป็นไปตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แล้ว ซึ่งในเรื่องนี้ ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา มีการแจ้งประเด็นที่สอบสวนเพิ่มเติมให้ผู้ถูกสอบสวนทราบ กับทั้งให้โอกาสต่อสู้ชี้แจงอย่างเต็มที่ตลอดระยะเวลาการดำเนินการทางวินัย ดังนั้น การประชุมของ อ.ก.พ. กระทรวง ม. มิได้ทำให้ผู้อุทธรณ์เสียความเป็นธรรมแต่อย่างใด อุทธรณ์ในข้อนี้จึงไม่อาจรับฟังได้
          ข้อที่อ้างผลการสืบสวนและการสั่งยุติเรื่องของ DSI นั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า การสืบสวนของ DSI เป็นเพียงการรวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องแล้วสรุปความเห็นโดยมุ่งเฉพาะประเด็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เท่านั้น โดยมิได้พิจารณาถึงกระบวนการและวิธีการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ผลการสืบสวนของ DSI ยังแตกต่างจากมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 และข้อ 6 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเร่งรัด ติดตามเกี่ยวกับกรณีเงินขาดบัญชีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต พ.ศ. 2546 ที่กำหนด ให้หน่วยงานต้นสังกัดที่ได้รับหนังสือแจ้งการชี้มูลจาก สตง. ดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการอย่างเคร่งครัดโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อหามูลความผิดอีก จึงเห็นได้ว่าการสืบสวนของ DSI มีเจตนาในการดำเนินการแตกต่างจากการดำเนินการทางวินัย อีกทั้งพยานของ DSI มีเพียง 5 ราย คือ กลุ่มที่ 1 นางสาว น. ดัชนีเศษฐกิจการค้าสำนักงานพาณิชย์จังหวัด บ. เพื่อสอบถามประเด็นว่า คาร์เบนดาซิมหรือแมนโคแซบเป็นสินค้าในบัญชีรายการตรวจสอบราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค หรือไม่  กลุ่มที่ 2 คณะกรรมการกำนดราคากลาง  (3 ราย) เพื่อสอบถาม  ในประเด็นว่ามีการดำเนินการเพื่อกำหนดราคากลางอย่างไร และกลุ่มที่ 3 นางสาว บ. หัวหน้า ฝ่ายสงเคราะห์ผู้ประสบภัย ในฐานะเลขานุการ ก.ช.ภ.จ. เพื่อสอบถามในประเด็นการช่วยเหลือฯ กรณีภัยพิบัติฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ซึ่งเห็นได้ว่าพยานกลุ่มที่ 2 เป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ย่อมต้องให้การต่อ DSI เพื่อปกป้องตนเอง  ในขณะที่การสอบสวนทางวินัยของกระทรวง ม. มีการสอบสวนพยานบุคคลมากกว่า 229 ราย มีการแสวงหาข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กับทั้งมีการชี้แจงข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ จึงเห็นได้ว่าการสอบสวนทางวินัยมีความละเอียมากกว่าการสอบสวนของ DSI ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่ผลการสอบสวนทางวินัยจะแตกต่างจากผลการสืบสวนของ DSI (จำนวน 7 หน้า) ซึ่งกฎหมายก็มิได้กำหนดว่าการสั่งลงโทษข้าราชการต้องผูกพันตามผลการสืบสวนของ DSI  แตกต่างกับกรณีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ท. ที่กฎหมายกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาต้องสั่งลงโทษข้าราชการตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูล ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่า ไม่มีการนำผลการสืบสวนของ DSI มาประกอบการพิจารณา จึงไม่อาจรับฟังได้ เพราะกระทรวง ม. ได้นำมาพิจารณาแล้ว แต่เห็นว่าการสืบสวนของ DSI ยังไม่มีการสืบสวนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะไม่ได้มีการสอบสวนถึงพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ในแต่ละขั้นตอน และข้ออ้างที่ว่าข้อเท็จจริงต้องรับฟังตามที่ DSI สั่งยุติเรื่อง ก็ไม่อาจรับฟังได้เช่นเดียวกัน
          ข้อเท็จจริง
          ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันที่ 29 มิถุนายน 2554 นาย ส. ผู้ว่าราชการจังหวัด บ.  ได้สั่งการในที่ประชุมนายอำเภอ ก่อนการประชุมกรมการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด ซึ่งมีนาย ส.ว. หัวหน้าสำนักงาน ป. จังหวัด บ. และนาย อ. ปลัดจังหวัด บ. เข้าร่วมประชุมด้วย นาย ส. ได้สั่งการให้นายอำเภอทั้ง 8 อำเภอของจังหวัด บ. สำรวจและจัดทำโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช (ข้าว) และให้รายงานจังหวัดทราบโดยด่วนเพื่อจะได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน และให้อำเภอจัดซื้อสารเคมี “ยาปราบศัตรูพืช (นามสมมติ)” ขนาดขวดละ 1,000 ซีซี ในราคา 1,712 บาท และแจ้งว่าได้ตรวจสอบกับหน่วยงานวิชาการและเกษตรจังหวัดแล้วปรากฏว่าสารเคมี “ยาปราบศัตรูพืช” ใช้ได้ผลดี ซึ่งได้ให้คนไปตรวจสอบราคาท้องตลาดในขณะเกิดภัยแล้วปรากฏว่ามีราคา 1,712 บาท ต่อ 1,000 ซีซี หรือ 856 บาท ต่อ 500 ซีซี จึงให้อำเภอ นำวิธีการช่วยเหลือโดยการจัดซื้อสารเคมี ชื่อ “ยาปราบศัตรูพืช” เข้าที่ประชุม ก.ช.ภ.อ. ของแต่ละอำเภอ และนำราคาข้างต้นไปคำนวณวงเงินที่จะขอรับการสนับสนุนฯ มายังจังหวัด โดยให้ระบุในรายงานการประชุม ก.ช.ภ.อ. อีกทั้งยังแจ้งด้วยว่าทางจังหวัดจะแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางแล้วแจ้งเป็นเอกสารราชการให้ทุกอำเภอทราบก่อนการจัดซื้อฯ ของแต่ละอำเภอ เพื่อจะได้มีการดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งการกระทำดังกล่าวของนาย ส. เป็นการจงใจก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของ ก.ช.ภ.อ. ตามที่ข้อ 11 และข้อ 21 ของระเบียบกระทรวงการคลังฯ และแนวทางปฏิบัติของกระทรวง ม. เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินทดรองราชการฯ 
          จากนั้นวันรุ่งขึ้นและวันถัดไป คือ วันที่ 30 มิถุนายน 2554 และวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 นายอำเภอทั้งแปดต่างได้ทยอยรายงานเหตุด่วนสาธารณภัยโรคเชื้อราระบาดในนาข้าว มายังจังหวัด บ. ส่วนอำเภอที่เคยรายงานมาก่อนหน้าการประชุมนายอำเภอ (ศ. และ ซ.) ก็ได้รายงานเหตุด่วนสาธารณภัยมาเพิ่มเติม ซึ่งนายสมพงศ์ ก็ได้ลงนามในประกาศให้อำเภอทั้งแปดเป็นพื้นที่ประสบ ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามที่นายสรวุฒิ เสนอด้วยเวลาอันรวดเร็ว คือ ประกาศในวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 8 กรกฎาคม 2554
          หลังจากรายงานเหตุด่วนสาธารณภัยโรคเชื้อราระบาดในนาข้าวแล้ว นาย ส.ว. เป็นผู้ประสานข้อมูลสารเคมี ชนิด และราคาสารเคมี “ยาปราบศัตรูพืช” ให้ปลัดอำเภอของอำเภอต่าง ๆ เพื่อนำเข้าในที่ประชุม ก.ช.ภ.อ. ของแต่ละอำเภอ ซึ่งนายอำเภอทั้งเจ็ด (ยกเว้นนายอำเภอ พ.) ในฐานะประธาน ก.ช.ภ.อ. โดยตำแหน่ง ซึ่งต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ได้จัดให้มีการประชุม ก.ช.ภ.อ. ของแต่ละอำเภอ ซึ่งในรายงานการประชุมของ แต่ละอำเภอได้มีการระบุในทำนองเดียวกัน คือ ให้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเงินทดรองราชการฯ จากจังหวัด บ. เพื่อจัดซื้อสารเคมี “ยาปราบศัตรูพืช” หรือ “ยาฆ่าเชื้อรา (นามสมมติ)” ขนาดขวดละ 1,000 ซีซี ในราคา 1,712 บาท หรือขนาดขวดละ 500 ซีซี ในราคา 856 บาท แจกจ่ายให้เกษตรกร อัตราการใช้ 250 ซีซี ต่อไร่ พร้อมคำนวณงบประมาณที่ขอรับการสนับสนุนฯ ของแต่ละอำเภอตามพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย จึงเป็นกรณีที่นายอำเภอในฐานะประธาน ก.ช.ภ.อ. ได้ยอมให้มีการระบุวิธีการช่วยเหลือฯ ชื่อและราคาสารเคมี ตรงตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัด บ. เคยสั่งการไว้ อันเป็นการยอมให้ผู้อื่นมีอำนาจเหนือความเป็นอิสระของ ก.ช.ภ.อ. ในการกำหนดวิธีการช่วยเหลือ จากนั้นแต่ละอำเภอต่างได้มีหนังสือขอรับการสนับสนุนฯ พร้อมแนบรายงานการประชุม ก.ช.ภ.อ. มายังจังหวัด บ.
          จากนั้นนาย ส. ในฐานะประธาน ก.ช.ภ.จ. ได้ร่วมประชุม ก.ช.ภ.จ. บ. ครั้งที่ 2/2554 วันที่ 12 กรกฎาคม 2554 มีนายอำเภอ 3 ราย คือ อำเภอ ศ. อำเภอ ซ. และอำเภอ บ. เข้าร่วมประชุมด้วย เพราะมีหนังสือขอรับความช่วยเหลือฯ มายังจังหวัด บ. แล้ว โดยอ้างว่าได้เกิดภัยพิบัติและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้เงินจัดซื้อสารเคมี “ยาปราบศัตรูพืช” เพื่อช่วยเหลือราษฎรเบื้อนต้นแล้ว นาย ส.ว. ได้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการและเลขานุการ โดยเป็นผู้นำเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุม นาย ส. ได้สรุปหลักการแนวทางการให้ความช่วยเหลือว่า ให้อำเภอดำเนินการสำรวจตรวจสอบรายชื่อเกษตรกรฯ ให้จัดประชุม ก.ช.ภ.อ. กำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือ หากวงเงินเกินจากวงเงินที่นายอำเภอได้รับการจัดสรร (1,000,000 บาท) ให้ขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมมายังจังหวัดโดยมีรายละเอียดโครงการที่ชัดเจนตามที่ระเบียบและหลักเกณฑ์กำหนด เพื่อให้ ก.ช.ภ.จ. บ. พิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการโดยให้ทุกอำเภอที่ขอรับการสนับสนุนไปสำรวจมาใหม่ให้ทั่วถึงถูกต้อง และรวบรวมขออนุมัติจากที่ประชุม ก.ช.ภ.จ. บ. อีกครั้ง โดยขอให้เห็นชอบในการใช้มติเวียน ก.ช.ภ.จ. บ. เพื่ออนุมัติความช่วยเหลือฯ จึงเห็นได้ว่าการประชุมครั้งนี้ ก.ช.ภ.จ. บ. ยังไม่ได้มีมติอนุมัติความช่วยเหลือฯ และจัดสรรงบประมาณเงินทดรองราชการฯ ให้แก่อำเภอ ศ. อำเภอ ซ. และอำเภอ บ. และเป็นการระบุชัดเจนว่า ต้องมีการรวบรวมขออนุมัติฯ จาก ก.ช.ภ.จ. บ. อีกครั้ง แต่กลับมีการระบุต่อไปว่า “โดยขอให้เห็นชอบในการใช้มติเวียน ก.ช.ภ.จ. บ. เพื่ออนุมัติความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฯ ตามที่ ก.ช.ภ.อ. แต่ละอำเภอเสนอขอรับความช่วยเหลือ” ซึ่งเป็นกรณีที่แสดงเจตนาว่าจะไม่มีการจัดประชุม ก.ช.ภ.จ. อีกครั้ง เพื่อพิจารณาเรื่องที่อำเภอทั้งสามหรือเรื่องที่อำเภออื่น ๆ จะมีหนังสือขอรับการสนับสนุนฯ อีก อันเป็นการจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อ 13 ข้อ 14 และข้อ 21 ของระเบียบกระทรวงการคลังฯ
          ภายหลังการประชุม ก.ช.ภ.จ. บ. ข้างต้น ในวันรุ่งขึ้น นาย ส.ว. ได้มีหนังสือสอบถามราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปยังสำนักงานพาณิชย์จังหวัด บ. โดยอ้างว่า ก.ช.ภ.จ. บ. มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดซื้อผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ประเภทสารเคมี “ยาปราบศัตรูพืช” หรือ “ยาฆ่าเชื้อรา” ขนาด 500 ซีซี เพื่อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรแล้ว ทั้งที่ ก.ช.ภ.จ. บ. ไม่ได้มีมติเช่นนั้น นอกจากนี้ ยังเท่ากับเป็นการที่นาย ส.ว. กำหนดชนิด ประเภท และขนาดบรรจุ ด้วยตนเอง จากนั้นเมื่อสำนักงานพาณิชย์จังหวัด บ. มีหนังสือลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 แจ้งว่า ราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชดังกล่าวไม่อยู่ในบัญชีรายการตรวจสอบราคาสินค้าอุปโภค – บริโภนาย ส.ว. ก็เร่งรีบมีบันทึกข้อความฯ เสนอให้นาย ส. แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางฯ ในทันที ซึ่งเป็นข้อพิรุธ เนื่องจาก ปภ.จ.บ. ได้รับหนังสือของสำนักงานพาณิชย์จังหวัด บ. ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 เวลา 15.30 น. โดยปรากฏว่า นาย ส. ก็เห็นชอบในวันเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดตรงตามที่นาย ส. เคยแจ้งแก่นายอำเภอในวันที่ 29 มิถุนายน 2554 ว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางฯ และแจ้งราคากลางให้ทุกอำเภอใช้ในการจัดซื้อฯ นอกจากนี้ นาย ส.ว. ยังได้จัดทำหนังสือให้นาย ส. ลงนาม คือ หนังสือจังหวัด บ. ด่วนที่สุด ที่ บก 0034/2123 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2554 ถึงนายอำเภอทุกอำเภอ โดยอ้างมติ ก.ช.ภ.จ. บ. ว่า ... 4) ให้จัดประชุม ก.ช.ภ.อ. เพื่อกำหนดแนวทางการช่วยเหลือ หากวงเงินที่ต้องใช้เพื่อให้ความช่วยเหลือเกินจากวงเงินที่นายอำเภอได้รับจัดสรร (1,000,000 บาท) ให้ขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมมายังจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัด ลงนาม) ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้อำเภออีก 3 อำเภอ ที่ยังไม่มีการประชุม ก.ช.ภ.อ.  คือ อำเภอ บ. อำเภอ บ.ค. อำเภอ ซ.ก. รีบจัดให้มีการประชุม ก.ช.ภ.อ. ในวันรุ่งขึ้นและวันถัดไป คือ วันที่ 21 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับ
          นาย อ. (อยู่ร่วมในการประชุมนายอำเภอฯ วันที่ 29 มิถุนายน 2554) และนาย ป.  เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ ที่ทำการปกครองจังหวัด บ. รักษาการในตำแหน่งป้องกันจังหวัด บ. ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากนาย ส. ให้เป็นคณะกรรมการกำหนดราคากลางผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชสารเคมี “ยาปราบศัตรูพืช” หรือ “ยาฆ่าเชื้อรา” ร่วมกับนาย ฉ. รักษาการแทนเกษตรจังหวัด บ. มีหน้าที่รักษาประโยชน์ของทางราชการโดยกำหนดราคากลางใกล้เคียงกับราคาตลาดในท้องที่ขณะเกิด ภัยพิบัติ แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าคณะกรรมการกำหนดราคากลางฯ ไม่ได้แสวงหาข้อมูลสารเคมีให้ครบถ้วน กล่าวคือ ไม่กำหนดราคากลาง “ยาฆ่าเชื้อรา” และเลือกกำหนดราคากลางเฉพาะ “ยาปราบศัตรูพืช” ชนิดน้ำ ทั้งที่ชนิดผงมีราคาถูกกว่า โดยในการสืบราคาไม่ดำเนินการเสาะแสวงหาข้อมูลจากร้านค้าอย่างเพียงพอ หรือสอบถามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเคยจัดซื้อแล้ว หรือหน่วยงานวิชาการเกษตร หรือสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต แต่กลับนำราคาที่ผู้ประกอบการนอกพื้นที่เสนอมากำหนดเป็นราคากลางซึ่งสูงกว่าราคาท้องตลาดในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติในขณะนั้น และสูงกว่าความเป็นจริง (ยาปรายศัตรูพืช ของบริษัท ส. จำกัด ขนาด 1,000 ซีซี ซึ่งเป็นยี่ห้อ ขนาด และบริษัทเดียวกับที่มีการจัดส่งให้จังหวัด บ. ในครั้งนี้ มีราคาจำหน่าย ณ โรงงานยาป้องกันฯ เพียง 410 บาท) ทั้งยังสูงกว่าราคาที่จังหวัดอื่นจัดซื้อ ทั้งที่ นาย อ. ทราบอยู่แล้วว่าผู้เสนอราคาทั้งห้ารายเป็นกลุ่มการค้าเดียวกัน และราคาที่ผู้ประกอบการเสนอ เป็นราคาเดียวกับที่นาย ส. ผู้ว่าราชการจังหวัด บ. ได้แจ้งในที่ประชุมนายอำเภอเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2554 นอกจากนี้ นาย อ. ยังได้ให้นาย ป. แก้ไขราคาในบันทึกรายงานผลการกำหนดราคากลางฯ ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 จาก “ราคาอยู่ระหว่างขวดละ 1,912 – 2,000 บาท” เป็น “ราคาอยู่ระหว่างขวดละ 1,712 – 2,000 บาท” ส่วนนาย ป. ก็ทราบในความผิดปรกติที่นาย ส.ว. ติดตามเร่งรัด การกำหนดราคากลาง โดยอ้างว่าผู้ว่าราชการจังหวัด บ. สั่งการฯ พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความรอบคอบเพื่อรักษาประโยชน์ของทางราชการ แต่ได้กำหนดราคากลางตามราคาที่นาย ส. กำหนด ซึ่งในการกำหนดราคากลางนี้ นาย อ. และนาย ป. ย่อมเล็งเห็นผลว่าราคากลางที่ตนกำหนด นอกจากจะถูกนำไปใช้ในการจัดสรรงบประมาณฯ แล้ว ยังอาจจะถูกนำไปใช้อ้างอิง ในการจัดซื้อสารเคมีฯ ของอำเภอต่าง ๆ ด้วย พฤติการณ์ของบุคคลทั้งสองที่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นผลให้มีการจัดซื้อสารเคมี “ยาปราบศัตรูพืช” 50% Sc ขนาดบรรจุขวดละ 1,000 ซีซี ราคา 1,712 บาท หรือขนาดบรรจุขวดละ 500 ซีซี ราคา 856 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดของท้องที่ในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ หรือราคาตามความเป็นจริง อันทำให้ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นคู่สัญญาของอำเภอต่าง ๆ ได้รับประโยชน์ที่มิควรได้
          เมื่อคณะกรรมการกำหนดราคากลางฯ ได้รายงานต่อนาย ส. ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 (หนังสือลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2554) ว่า คณะกรรมการกำหนดราคากลางฯ ได้ใช้ข้อมูลราคาต่ำสุดของผู้ประกอบการนอกพื้นที่ที่เสนอราคา 1,712 บาท ต่อ 1,000 ซีซี  มากำหนด  เป็นราคากลาง ว่าควรจัดซื้อสาร “ยาปราบศัตรูพืช” 50% SC อยู่ระหว่าง 400 – 500 บาท/250 ซีซี นาย ส. ได้ลงนามเห็นชอบและให้แจ้ง ก.ช.ภ.จ. บ. ทั้งที่ไม่ปรากฏข้อมูลว่ามีการเสาะแสวงหา  ราคาตลาดของท้องที่ในช่วงเวลาที่ภัยพิบัติเกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและเพียงพอ โดยราคานี้ตรงกับราคาที่นาย ส. เคยแจ้งในที่ประชุมนายอำเภอเช่นกัน ซึ่งเมื่อคณะกรรมการกำหนดราคากลางฯ กำหนดราคากลางเรียบร้อยแล้ว และ ก.ช.ภ.อ. อำเภอต่าง ๆ ได้ประชุมครบแล้ว นาย ส.ว. ไม่ได้จัดให้มีการประชุม ก.ช.ภ.จ. บ. เพื่อพิจารณาเรื่องที่อำเภอต่าง ๆ ขอรับการสนับสนุนอีกครั้ง แต่ได้จัดทำบันทึกข้อความสำนักงาน ป. ด่วนที่สุด ที่ บก 0034/ว 911 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ถึง ก.ช.ภ.จ. บ. โดยมีข้อเสนอว่า “3.1 ให้อำเภอที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดเป็นหน่วยดำเนินการให้ความช่วยเหลือเฉพาะภัยพิบัติครั้งนี้โดยการจัดสรรวงเงินทดรองราชการฯ ในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด บ. เพื่อจัดซื้อสารเคมี (ยาปราบศัตรูพืช หรือยาฆ่าเชื้อรา) ในราคาขนาดบรรจุขวดละ 1,000 ซีซี ราคาขวดละ 1,712 บาท (หรือขวดละ 500 ซีซี ราคาขวดละ 856 บาท) รวมการให้ความช่วยเหลือเป็นเงินทั้งสิ้น 48,300,228 บาท แยกเป็นรายอำเภอได้ดังนี้... โดยขออนุมัติใช้มติเวียนจาก ก.ช.ภ.จ. เห็นชอบ” การกระทำดังกล่าว มีเจตนามิให้มีการประชุม ก.ช.ภ.จ. บ. เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ แต่เวียนให้ ก.ช.ภ.จ. บ. ลงนามเห็นชอบเพื่อที่จะอ้างได้ว่า ก.ช.ภ.จ. บ. ได้มีมติแล้ว โดยเฉพาะมติการจัดสรรวงเงินทดรองราชการฯ เพื่อจัดซื้อสารเคมี (ยาปราบศัตรูพืช หรือยาฆ่าเชื้อรา) ในราคาขนาดบรรจุ ขวดละ 1,000 ซีซี ราคาขวดละ 1,712 บาท  จากนั้นเมื่อ ก.ช.ภ.จ. บ. รวมทั้งนาย ส. ผู้ว่าราชการจังหวัด บ. ได้ลงนามเห็นชอบโดยทำเป็นมติเวียนแล้ว นาย ส.ว. ได้ทำหนังสือจังหวัด บ. ด่วนที่สุด ที่ บก 0034/ว 2350 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2554 เสนอให้นาย ส. ผู้ว่าราชการจังหวัด บ. ลงนามแจ้งให้แต่ละอำเภอทราบวงเงินที่ได้รับอนุมัติและดำเนินการจัดซื้อสารเคมีภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2554 โดยแนบบันทึกข้อความ ว 911 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ไปด้วย และในข้อเท็จจริงได้มีการส่งบันทึกข้อความ ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 ที่รายงานผลการกำหนดราคากลางของคณะกรรมการกำหนดราคากลางฯ ไปให้อำเภอต่าง ๆ  ในระหว่างการดำเนินการจัดซื้อสารเคมีฯ ของแต่ละอำเภอด้วย
          พฤติการณ์การกระทำของผู้อุทธรณ์ทั้ง 6 ราย เป็นความผิดวินัยหรือไม่ อย่างไร
          (1)  ผู้อุทธรณ์ที่ 1 ผู้อุทธรณ์ที่ 2 ผู้อุทธรณ์ที่ 3 ผู้อุทธรณ์ที่ 4 และผู้อุทธรณ์ที่ 5 (นายอำเภอ)
          ขณะเกิดเหตุผู้อุทธรณ์ที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ป. ผู้อุทธรณ์ที่ 2 ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ศ. ผู้อุทธรณ์ที่ 3 ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมือง บ. ผู้อุทธรณ์ที่ 4 ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ซ. และผู้อุทธรณ์ที่ 5 ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ซ.ก. ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันที่ 29  มิถุนายน 2554 ผู้อุทธรณ์ทั้งห้า นาย ป. นายอำเภอ บ.ค. นาย ธ. นายอำเภอ บ. นาย สร. นายอำเภอ พ. ได้ร่วมประชุมกับนาย ส. ผู้ว่าราชการจังหวัด บ. นาย อ. และนาย ส.ว. ซึ่งนาย ส.  ได้สั่งการในที่ประชุมนายอำเภอดังกล่าวให้นายอำเภอทั้ง 8 อำเภอ สำรวจและจัดทำโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช (ข้าว) และให้รายงานจังหวัดทราบโดยด่วนเพื่อจะได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน และให้อำเภอจัดซื้อสารเคมี “ยาปราบศัตรูพืช” ขนาดขวดละ 1,000 ซีซี ในราคา 1,712 บาท และแจ้งว่าได้ตรวจสอบกับหน่วยงานวิชาการและเกษตรจังหวัดแล้วปรากฏว่าสารเคมี “ยาปราบศัตรูพืช” ใช้ได้ผลดี ซึ่งได้ให้คนไปตรวจสอบราคาท้องตลาดในขณะเกิดภัยแล้วปรากฏว่ามีราคา 1,712 บาท ต่อ 1,000 ซีซี หรือ 856 บาท ต่อ 500 ซีซี จึงให้อำเภอนำวิธีการช่วยเหลือโดยการจัดซื้อสารเคมี ชื่อ “ยาปราบศัตรูพืช” เข้าที่ประชุม ก.ช.ภ.อ. ของแต่ละอำเภอ และนำราคาข้างต้นไปคำนวณวงเงินที่จะขอรับการสนับสนุนฯ มายังจังหวัด โดยให้ระบุในรายงานการประชุม ก.ช.ภ.อ. อีกทั้งยังแจ้งด้วยว่าทางจังหวัดจะแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางแล้วแจ้งเป็นเอกสารราชการให้ทุกอำเภอทราบก่อนการจัดซื้อฯ ของแต่ละอำเภอ เพื่อจะได้มีการดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน จากนั้นวันรุ่งขึ้นและวันถัดไป คือ วันที่ 30 มิถุนายน 2554 และวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 นายอำเภอทั้งแปดต่างได้ทยอยรายงานเหตุด่วนสาธารณภัยโรคเชื้อราระบาดในนาข้าวมายังจังหวัด บ. ส่วนอำเภอที่เคยรายงานมาก่อนหน้าการประชุมนายอำเภอ (ศ. และ ซ.) ก็ได้รายงานเหตุด่วนสาธารณภัยมาเพิ่มเติม และหลังจากนั้น นายอำเภอทั้งเจ็ดในฐานะประธาน ก.ช.ภ.อ. โดยตำแหน่ง ซึ่งต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ  ได้จัดให้มีการประชุม ก.ช.ภ.อ. ของแต่ละอำเภอ ซึ่งในรายงานการประชุมของแต่ละอำเภอได้มีการระบุในทำนองเดียวกัน คือ ให้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเงินทดรองราชการฯ จากจังหวัด บ. เพื่อจัดซื้อสารเคมี “ยาปราบศัตรูพืช” หรือ “ยาฆ่าเชื้อรา” ขนาดขวดละ 1,000 ซีซี ในราคา 1,712 บาท  หรือขนาด  ขวดละ 500 ซีซี ในราคา 856 บาท แจกจ่ายให้เกษตรกร อัตราการใช้  250 ซีซีต่อไร่ พร้อมคำนวณงบประมาณที่ขอรับการสนับสนุนฯ ของแต่ละอำเภอตามพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย จึงเป็นกรณีที่นายอำเภอในฐานะประธาน ก.ช.ภ.อ. ได้ยอมให้มีการระบุวิธีการช่วยเหลือฯ ชื่อและราคาสารเคมี ตรงตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัด บ. เคยสั่งการไว้ อันเป็นการยอมให้ผู้อื่นมีอำนาจเหนือความเป็นอิสรของ ก.ช.ภ.อ. ในการกำหนดวิธีการช่วยเหลือ จากนั้นแต่ละอำเภอต่างได้มีหนังสือขอรับการสนับสนุนฯ พร้อมแนบรายงานการประชุม ก.ช.ภ.อ. มายังจังหวัด บ.    
          สำหรับกระบวนการจัดซื้อสารเคมีฯ นั้น  เมื่อได้รับจัดสรรวงเงินทดรองราชการแล้ว นายอำเภอแต่ละอำเภอ ในฐานะผู้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจตามข้อ 8 ซึ่งมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามข้อ 40 ของระเบียบกระทรวงการคลังฯ ย่อมต้องเห็นว่าการดำเนินการจัดหาพัสดุในอำเภอของตน ไม่มีสืบเสาะหาราคาตลาดของท้องที่ในช่วงเวลาที่ภัยพิบัติเกิดขึ้นเพื่อใช้ในการต่อรองราคา กับทั้ง การดำเนินการแล้วเสร็จในวันเดียว ย่อมต้องพบและเคลือบแคลงสงสัยว่ามีการต่อรองราคาจริงหรือไม่ แต่ผู้อุทธรณ์ทั้งห้าที่เป็นนายอำเภอ กลับพิจารณาลงนามอนุมัติและออกใบสั่งซื้อสารเคมียาปราบศัตรูพืช” ขนาดขวดละ 1,000 ซีซี ในราคา 1,712 บาท หรือขนาดบรรจุขวดละ 500 ซีซี ราคา 856 บาท  โดยมีเจตนาปฏิบัติตามการสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัด บ. เพราะหากผู้อุทธรณ์ทั้งห้าไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามการสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัด บ. ก็สามารถไม่ลงนามอนุมัติซื้อสารเคมีดังกล่าวและสั่งยกเลิก หรือสั่งให้ดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตามระเบียบได้ อีกทั้งเมื่อนับระยะเวลาจากวันที่ผู้อุทธรณ์ทั้งห้าทราบการสั่งการของผู้ว่าราชการจังหวัด บ. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2554 จนถึงวันที่มีการอนุมัติจัดซื้อฯ เป็นเวลาหนึ่งเดือนเศษ จึงมีเวลาเพียงพอที่จะสืบหาราคาจากอินเตอร์เน็ตหรือจากหน่วยงานวิชาการได้ แต่ผู้อุทธรณ์ทั้งห้าก็มิได้ดำเนินการใด ๆ ให้ถูกต้องตามควรแก่กรณี จึงเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหายเพราะได้จัดซื้อสารเคมี “ยาปราบศัตรูพืช”   ในราคาที่สูงเกินกว่าราคาตลาดท้องที่ในช่วงที่ภัยพิบัติเกิดขึ้น และสูงกว่าความเป็นจริง อันเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นเหตุโดยตรงทำให้ทางราชการเสียหายอย่างร้ายแรง 
          โดยเฉพาะผู้อุทธรณ์ที่ 2 ยังมีพฤติการณ์ที่ควรทราบว่า มีการจัดทำรายงานการประชุม ก.ช.ภ.อ. และหนังสือขอรับการสนับสนุนฯ ของอำเภอตนหลายฉบับ โดยไม่ปรากฏเหตุผลอันสมควร  
          แม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนว่าผู้อุทธรณ์ 1 - 5 ได้รับประโยชน์หรือไม่ ก็ตาม  แต่พฤติการณ์ของบุคคลทั้งห้าตามที่กล่าวมาข้างต้นเห็นได้ว่าผู้อุทธรณ์ทั้งห้ามีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติทั้งในฐานะนายอำเภอ ประธาน ก.ช.ภ.อ. และในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจตามข้อ 8 ของระเบียบกระทรวงการคลังฯ แต่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเหตุโดยตรงให้มีการจัดซื้อสารเคมี“ยาปราบศัตรูพืช” 50% Sc ขนาดบรรจุขวดละ 1,000 ซีซี ราคา  1,712 บาท หรือขนาดบรรจุขวดละ 500 ซีซี ราคา 856 บาท  ซึ่งสูงกว่าราคาท้องตลาดในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ หรือสูงกว่าราคาตามความเป็นจริง อันทำให้ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นคู่สัญญาของอำเภอต่าง ๆ ได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ พฤติการณ์จึงครบองค์ประกอบความผิดในมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ดังนั้น การที่ปลัดกระทรวง ม. สั่งลงโทษปลดออกจากราชการ ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง นั้น จึงถือว่าชอบและเป็นคุณแก่ผู้อุทธรณ์แล้ว จึงวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
          (2) ผู้อุทธรณ์ที่ 6 ซึ่งเป็นคณะกรรมการต่อรองฯ อำเภอ ซ.
          ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้อุทธรณ์ที่ 6 ในฐานะกรรมการและเลขานุการ ก.ช.ภ.อ. ซ. ได้เข้าประชุม ก.ช.ภ.อ. ซ. โดยเป็นผู้ชี้แจงว่า ควรจัดซื้อสารเคมีป้องกันและกำจัดโรคพืช “ยาปราบศัตรูพืช” หรือ “ยาฆ่าเชื้อรา” เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนไปฉีดพ่น ในอัตราการใช้1 ขวด ต่อพื้นที่ 2 ไร่ (บรรจุขวดละ 500 ซีซี) จำนวน 14,574 ไร่  จำนวน 7,287 ขวด ๆ ละ 856 บาท เป็นเงิน 6,237,672 บาท จากนั้นเมื่อได้รับแต่งตั้งจากนายอำเภอ ซ. ให้เป็นประธาคณะกรรมการเจรจาต่อรองและตกลงราคาของอำเภอ ซ. จึงได้ลงนามในบันทึกการเจรจาต่อรองและตกลงราคาและเสนอให้นายอำเภอจัดซื้อสารเคมี “ยาปราบศัตรูพืช” 50% Sc ขนาดบรรจุ 500 ซีซี ในราคา 856 บาท  จำนวน 7,287 ขวด รวมเป็นเงิน 6,237,672 บาท จาก หจก.น. โดยไม่มีการสืบเสาะหาราคาตลาดของท้องที่ในช่วงเวลาที่ภัยพิบัติเกิดขึ้น เพื่อใช้ในการต่อรองฯ แต่อย่างใด กับทั้งไม่มีการต่อรองราคากับผู้เสนอราคารายใด และมิได้มีการเปรียบเทียบกับราคาตลาดของท้องที่ในช่วงเวลาที่ภัยพิบัติเกิดขึ้น แต่ได้เปรียบเทียบจากราคาที่ได้รับอนุมัติจัดสรร อันเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามข้อ 40 ของระเบียบกระทรวงการคลังฯ ทำให้มีการจัดซื้อฯ ในราคาที่สูงเกินราคาตลาดของท้องที่ในช่วงเวลาที่ภัยพิบัติเกิดขึ้น และราคาตามความเป็นจริง ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย แต่ตามทางสอบสวนเชื่อว่าผู้อุทธรณ์ที่ 6 อยู่ในสภาวะที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ พฤติการณ์จึงเป็นเพียงความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของ ทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตามมาตรา 82 (2) ประกอบมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  ดังนั้น การที่อธิบดีกรม ข. สั่งลงโทษลดเงินเดือนผู้อุทธรณ์ที่ 6 ในอัตราร้อยละ 4 จึงเป็นไปโดยชอบ และสมควรแก่กรณีแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์    

 

ผู้เขียน : นางสาวสุภาพร อารยะนรากูล

 

------------------------------
ประเภทเนื้อหา
คำวินิจฉัย ก.พ.ค. ที่น่าสนใจ
ความผิดฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของ ทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ 
เรื่องอุทธรณ์

 

ดาวน์โหลดบทความฉบับเต็ม

 

วันที่