Skip to main content
x

 

ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าไม่มีมูล ก็ไม่ตัดอำนาจของอธิบดีที่จะดำเนินการทางวินัยต่อไป

 

เรื่องดำที่     6210060      เรื่องแดงที่    0034163
ผลคำวินิจฉัย    ยกอุทธรณ์
การดำเนินการทางวินัย    ต้นสังกัดดำเนินการเอง
 
                    การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง ตามมาตรา 57 (11) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง และเห็นว่ากรณีไม่มีมูลอันควรกล่าวหาว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัย จึงให้ยุติเรื่อง ก็ไม่เป็นการตัดอำนาจของอธิบดีในฐานะผู้บังคับบัญชาตามมาตรา 57 (10) ที่จะพิจารณาดำเนินการทางวินัยกับผู้อุทธรณ์ในเรื่องเดียวกันอีก เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจคนละส่วนกัน ดังนั้น การที่อธิบดีพิจารณารายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริงฉบับเดียวกัน แต่มีความเห็นแตกต่างกับผู้ว่าราชการจังหวัดว่า พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์มีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย จึงเป็นการพิจารณาดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และไม่เป็นการดำเนินการทางวินัยซ้ำแต่อย่างใด

 

ข้อเท็จจริง

                    ผู้อุทธรณ์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ สำนักงานที่ดินจังหวัดหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยในกรณีมีเงินมัดจำรังวัดขาดบัญชี จำนวน 50,000 บาท โดยมีการเบิกเงินและถอนเงินสดออกจากธนาคารแล้วไม่มีการบันทึกในบัญชีและรายงานเงินคงเหลือประจำวัน ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาจากผลการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า กรณีไม่มีมูลอันควรกล่าวหาว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยจึงให้ยุติเรื่อง และรายงานมายังอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งอธิบดีกรมที่ดิน (คู่กรณีในอุทธรณ์) พิจารณาตามรายงานการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า กรณีมีมูลอันควรกล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวของผู้อุทธรณ์เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุนถ้อยคำของผู้อุทธรณ์ว่ามีการเก็บเงินไว้ที่ตู้นิรภัยเล็กในห้องการเงินและบัญชี และมีการส่งมอบเงินหลังจากที่กลุ่มตรวจสอบภายในตรวจพบหลังจากที่เบิกเงินสดมาแล้วประมาณ 4 เดือน จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง โดยมิได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงอีก ซึ่งผลการสอบสวนเห็นว่า ผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 อธิบดีกรมที่ดินจึงสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ผู้อุทธรณ์จึงได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ ก.พ.ค. โดยอุทธรณ์ข้อกฎหมายประการหนึ่งว่า เรื่องที่ผู้อุทธรณ์ถูกกล่าวหาได้เสร็จสิ้นในชั้นการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว เนื่องจากจังหวัดพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีมูลอันควรกล่าวหาว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยจึงให้ยุติเรื่อง และมีหนังสือแจ้งผู้อุทธรณ์กำชับและควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ราชการของสำนักงานที่ดินจังหวัดแล้ว คู่กรณีในอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาดำเนินการทางวินัยแก่ผู้อุทธรณ์ในเรื่องเดียวกันอีก

 

คำวินิจฉัย

                    ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้อุทธรณ์เป็นข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งในราชการบริหารส่วนภูมิภาค ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง ตามมาตรา 57 (11) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือสืบสวนข้อเท็จจริงในกรณีมีการกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัย เพื่อหาว่ามีมูลกรณีอันควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยหรือไม่ อย่างไร ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้ไม่มีมูลอันควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยจึงให้ยุติเรื่องในชั้นการสืบสวนข้อเท็จจริง และให้มีการกำชับผู้อุทธรณ์และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างระมัดระวังรอบคอบ และได้รายงานมายังอธิบดีกรมที่ดิน เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากอธิบดีกรมที่ดินเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่ผู้อุทธรณ์สังกัดอยู่ กรณีจึงเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง ตามมาตรา 57 (10) ของผู้อุทธรณ์เช่นกัน ทั้งนี้ การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาและให้ยุติเรื่องไปแล้ว ก็ไม่เป็นการตัดอำนาจของอธิบดีกรมที่ดินที่จะดำเนินการทางวินัยกับผู้อุทธรณ์ต่อไป เพราะเป็นการดำเนินการคนละส่วนกัน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อหามูลกรณีที่มีการกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการพลเรือนสามัญกระทำผิดวินัย ตามนัยมาตรา 90 วรรคหนึ่ง และมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ส่วนอธิบดีกรมที่ดินได้นำรายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริงมาพิจารณาและเห็นว่ากรณีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะนำมารับฟังได้ว่า พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์มีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยไม่จำต้องดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงอีก การที่อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงกับผู้อุทธรณ์จึงสามารถกระทำได้และชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถือเป็นการดำเนินการทางวินัยซ้ำกับผู้อุทธรณ์แต่อย่างใด ข้ออุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนพฤติการณ์การกระทำของผู้อุทธรณ์ ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้อุทธรณ์กระทำผิดจริงตามที่ถูกลงโทษ ดังนั้น การที่อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการชอบด้วยกฎหมาย และระดับโทษเหมาะสมกับกรณีความผิดแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ก.พ.ค. จึงวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์

 

วันที่