Skip to main content
x

 

ออกจากราชการไปก่อนแล้ว ก็ยังถูกลงโทษไล่ออกได้อีก

 

เรื่องดำที่  6110047  เรื่องแดงที่  0124162

ผลคำวินิจฉัย  ยกอุทธรณ์ 

การดำเนินการทางวินัย  ต้นสังกัดดำเนินการเอง   

 

              หากผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดแล้ว  แม้ภายหลังข้าราชการผู้นั้นจะได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการ หรือถูกสั่งลงโทษไล่ออกหรือปลดออกจากราชการในกรณีอื่น  ผู้บังคับบัญชาก็ยังมีอำนาจดำเนินการทางวินัยต่อไปได้เสมือนว่าข้าราชการผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ ตามนัยมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว  และหากผลการดำเนินการทางวินัยปรากฏว่า ข้าราชการผู้นั้นจะต้องได้รับโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ  ก็ให้สั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ข้าราชการผู้นั้นออกจากราชการไปแล้ว
 
ข้อเท็จจริง
              เรื่องนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า  เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ได้มีหนังสือร้องเรียนกล่าวหาผู้อุทธรณ์ว่ามีพฤติกรรมเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการเอกชนเพื่อช่วยเหลือให้ได้รับงานประมูลโครงการต่าง ๆ ของทางราชการ  อธิบดีกรมการปกครองจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 แก่ผู้อุทธรณ์ในเรื่องที่ถูกร้องเรียนกล่าวหาดังกล่าว  แต่ในระหว่างการดำเนินการสอบสวนทางวินัย ปรากฏว่าผู้อุทธรณ์ได้ขอลาออกจากราชการและได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการในวันที่ 3 มีนาคม 2557  นอกจากนี้ ผู้อุทธรณ์ก็ได้ถูกลงโทษปลดออกจากราชการในเรื่องที่ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงกรณีอื่นด้วย  โดยในเรื่องนี้ผลการสอบสวนปรากฏว่า ผู้อุทธรณ์มีพฤติกรรมเรียกและรับเงินตามที่ถูกร้องเรียนกล่าวหาจริง  อธิบดีกรมการปกครองโดยมติ อ.ก.พ. กรมการปกครอง จึงได้มีคำสั่งลงโทษปลดผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ และได้รายงานการลงโทษผู้อุทธรณ์ไปยัง อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย  ต่อมา อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของผู้อุทธรณ์เป็นการอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้โดยมิชอบด้วยกฎหมายอันทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการและชื่อเสียงของกระทรวงมหาดไทย จึงมีมติให้เพิ่มโทษผู้อุทธรณ์เป็นลงโทษไล่ออกจากราชการ  และเมื่ออธิบดีกรมการปกครองได้มีคำสั่งเพิ่มโทษผู้อุทธรณ์เป็นไล่ออกจากราชการแล้ว  ผู้อุทธรณ์จึงได้มาอุทธรณ์คำสั่งเพิ่มโทษดังกล่าวต่อ ก.พ.ค.  โดยอุทธรณ์ว่า ก่อนที่จะมีคำสั่งเพิ่มโทษนี้ ผู้อุทธรณ์ได้ถูกลงโทษปลดออกจากราชการไปก่อนแล้วในเรื่องที่ได้กระทำผิดกรณีอื่น ซึ่งมีผลให้ผู้อุทธรณ์สิ้นสภาพความเป็นข้าราชการของกรมการปกครองอันทำให้ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาเพิ่มโทษผู้อุทธรณ์เป็นไล่ออกจากราชการได้  คำสั่งเพิ่มโทษผู้อุทธรณ์เป็นไล่ออกจากราชการจึงไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย
 
คำวินิจฉัย
              ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า  ตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะมีคำสั่งเพิ่มโทษผู้อุทธรณ์ (วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561) ได้บัญญัติว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีกรณีถูกกล่าวหาเป็นหนังสือว่ากระทำหรือละเว้นกระทำการใดที่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ถ้าเป็นการกล่าวหาต่อผู้บังคับบัญชาของผู้นั้น หรือต่อผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนหรือตรวจสอบตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ หรือเป็นการกล่าวหาโดยผู้บังคับบัญชาของผู้นั้น หรือมีกรณีถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา อันมิใช่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทที่ไม่เกี่ยวกับราชการหรือความผิดลหุโทษ  แม้ภายหลังผู้นั้นจะออกจากราชการไปแล้วโดยมิใช่เพราะเหตุตาย  ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยมีอำนาจดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณา และดำเนินการทางวินัยตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ต่อไปได้เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ  แต่ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ต้องดำเนินการสอบสวนตามมาตรา 93 วรรคหนึ่ง ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ  นอกจากนี้ ข้อ 14 ของระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2554 กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ซึ่งจะต้องถูกสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ ได้ออกจากราชการไปก่อนแล้วเพราะถูกสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออก หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการในกรณีอื่นหรือได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการ  ให้สั่งปลดออกหรือไล่ออกย้อนหลังไปถึงวันที่ออกจากราชการไปแล้วนั้น  จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้ข้าราชการพลเรือนสามัญจะได้ออกจากราชการไปแล้ว ผู้บังคับบัญชาก็ยังคงมีอำนาจดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นต่อไปได้เสมือนว่ายังมิได้ออกจากราชการ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ข้างต้น  เมื่อเรื่องนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ได้มีหนังสือร้องเรียนกล่าวหาผู้อุทธรณ์ว่ามีพฤติกรรมเรียกรับเงิน  และอธิบดีกรมการปกครองได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ในเรื่องที่ถูกร้องเรียนกล่าวหาดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 แม้ต่อมาผู้อุทธรณ์จะได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการในวันที่ 3 มีนาคม 2557 รวมทั้งได้ถูกสั่งลงโทษปลดออกจากราชการในกรณีกระทำความผิดเรื่องอื่นก็ตาม  แต่เมื่อได้มีกล่าวหาว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงอยู่ก่อนออกจากราชการ และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ไว้ก่อนออกจากราชการ อธิบดีกรมการปกครองจึงมีอำนาจดำเนินการทางวินัยกับผู้อุทธรณ์ต่อไปได้เสมือนว่าผู้อุทธรณ์ยังมิได้ออกจากราชการ  ดังนั้น การที่อธิบดีกรมการปกครองสั่งลงโทษผู้อุทธรณ์ในเรื่องนี้จึงสามารถกระทำได้แม้ภายหลังผู้อุทธรณ์จะพ้นจากราชการและไม่มีสภาพเป็นข้าราชการกรมการปกครองแล้ว  ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  และเมื่อ อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย พิจารณาแล้วมีมติให้เพิ่มโทษผู้อุทธรณ์จากปลดออกจากราชการเป็นไล่ออกจากราชการ  อธิบดีกรมการปกครองก็ต้องสั่งเพิ่มโทษผู้อุทธรณ์เป็นไล่ออกจากราชการโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการไปแล้ว คือ ในวันที่ 3 มีนาคม 2557 อันเป็นไปตามข้อ 14 ของระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2554  ดังนั้น การที่อธิบดีกรมการปกครองมีคำสั่งเพิ่มโทษผู้อุทธรณ์เป็นลงโทษไล่ออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่ผู้อุทธรณ์ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว  นอกจากนี้ ในส่วนพฤติการณ์การกระทำผิดของผู้อุทธรณ์  ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดจริงตามที่ถูกลงโทษ  การที่อธิบดีกรมการปกครองมีคำสั่งเพิ่มโทษผู้อุทธรณ์จากโทษปลดออกจากราชการเป็นไล่ออกจากราชการจึงถูกต้องและเหมาะสมกับกรณีความผิดแล้ว  ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
 
วันที่