Skip to main content
x

 

การดำเนินการทางวินัยโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาและไม่รับฟังคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

 

เรื่องดำที่  6110193  เรื่องแดงที่  0071162
ผลคำวินิจฉัย ยกเลิกคำสั่งลงโทษและดำเนินการทางวินัยแก่ผู้อุทธรณ์ใหม่
การดำเนินการทางวินัย ต้นสังกัดดำเนินการเอง
 
          ขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ พร้อมทั้งรับฟังคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหาถือว่าเป็นขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญก่อนการออกคำสั่งลงโทษทางวินัย ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรืออย่างไม่ร้ายแรงก็ตาม ดังนั้น เมื่อได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงและคณะกรรมการฯเห็นว่าข้าราชการรายนั้นมิได้กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามที่ถูกกล่าวหา แต่กระทำผิดเพียงวินัยไม่ร้ายแรง คณะกรรมการจะต้องวางแนวทางและกำหนดประเด็นการสอบสวนใหม่ และดำเนินการสอบสวนต่อไป โดยจะต้องเปิดโอกาสให้ข้าราชการผู้นั้นจัดทำบันทึกถ้อยคำของผู้ถูกกล่าวหาตามแบบ ดว.4 และเรียกผู้นั้นมาแจ้งข้อกล่าวหาตามแบบ ดว.5 หากไม่ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวย่อมส่งผลให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
ข้อเท็จจริง
          เมื่อครั้งที่ผู้อุทธรณ์ดำรงตำแหน่งนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเกษตรจังหวัดแห่งหนึ่ง ผู้อุทธรณ์มีหน้าที่รับรองการขึ้นทะเบียนและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว ภายใต้โครงการประกันรายได้เกษตรกร ต่อมามีผู้ร้องเรียนว่ามีการทุจริตในโครงการดังกล่าวโดยการนำชื่อราษฎรในเขตตำบลอื่นจำนวน 139 ราย ที่ไม่มีอาชีพทำนาและไม่มีที่นา มาขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวเพื่อให้มีรายชื่อรับเงินตามโครงการฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และต่อมาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนฯ ดำเนินการสอบสวนแล้วมีความเห็นว่าพฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์ยังฟังไม่ได้ว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงแต่เป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง จึงตั้งประเด็นเป็นไม่ร้ายแรงและพิจารณาตามพยานหลักฐานที่ได้รวบรวมในชั้นตรวจสอบข้อเท็จจริง และจัดทำรายงานผลการสอบสวน (ดว.6) เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด โดยที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้อุทธรณ์จัดทำบันทึกถ้อยคำของผู้ถูกกล่าวหาตามแบบ ดว.4 และเรียกผู้อุทธรณ์มาแจ้งข้อกล่าวหาตามแบบ ดว.5 จนในที่สุดผู้ว่าราชการจังหวัดได้เห็นชอบกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนและมีคำสั่งลงโทษวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ลดเงินเดือนร้อยละ 2 ฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 83 (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
 
คำวินิจฉัย
        ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 กำหนดว่าคณะกรรมการสอบสวนต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ พร้อมทั้งรับฟังคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหา โดยที่กฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไว้ว่าจะต้องทำตามแบบที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด อันได้แก่แบบ ดว.4 และ ดว5. ซึ่งขั้นตอนการฟังความจากฝ่ายกล่าวหาและฝ่ายถูกกล่าวหานี้เป็นขั้นตอนที่ทำให้ได้ความจริงและความยุติธรรม อันเป็นจุดมุ่งหมายของการสอบสวน จึงถือเป็นขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ
        ในเรื่องนี้เมื่อคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง เห็นว่าผู้อุทธรณ์ไม่ได้กระทำการทุจริตตามที่ถูกกล่าวหา แต่กระทำของผู้อุทธรณ์เข้าข่ายเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง คณะกรรมการสอบสวนจะต้องพิจารณาต่อไปว่าการกระทำของผู้อุทธรณ์เข้าข่ายเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงฐานใด เพื่อวางแนวทางและกำหนดประเด็นการสอบสวนใหม่ และจะต้องจัดทำบันทึกข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐาน ตามแบบบันทึก ดว.5 ให้ผู้อุทธรณ์ทราบ การที่คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการเพียงกำหนดประเด็นการสอบสวนใหม่และดำเนินการสอบสวนต่อไปจนจัดทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดว่าควรลงโทษวินัยอย่างไม่ร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ โดยไม่ได้ดำเนินการจัดทำบันทึกถ้อยคำของผู้ถูกกล่าวหาตามแบบ ดว.4 และเรียกผู้อุทธรณ์มาแจ้งข้อกล่าวหาตามแบบ ดว.5 ถือว่าเป็นการดำเนินการทางวินัยโดยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 อันส่งผลให้การสอบสวนในครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาผลการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน และออกคำสั่งลงโทษวินัยอย่างไม่ร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ คำสั่งลงโทษดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อความไม่ชอบด้วยกฎหมายมีเหตุมาจาก การไม่ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ รวมทั้งไม่มีการรับฟังคำชี้แจงจากผู้ถูกกล่าวหา จึงถือได้ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ผู้อุทธรณ์ใหม่ให้ถูกต้อง ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษและให้ดำเนินการทางวินัยแก่ผู้อุทธรณ์ใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

 

วันที่