Skip to main content
x

 

ดุลพินิจในการย้ายข้าราชการ

 
เรื่องดำที่  6120022  เรื่องแดงที่  0007262
ผลคำวินิจฉัย คำร้องทุกข์ฟังขึ้น ให้เพิกถอนคำสั่งย้าย
กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
          1. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
          2. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708/ว 9 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2535
          3. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 10 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548
          4. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 7 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2552
 
                    กรณีการย้ายข้าราชการ แม้กฎหมายจะวางหลักเกณฑ์ให้ผู้บังคับบัญชามีดุลพินิจในการสั่งย้าย แต่ดุลพินิจดังกล่าวจะต้องกระทำโดยยึดหลักเหตุผลและความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการและการพัฒนาข้าราชการเป็นหลัก การที่ปลัดกระทรวงย้ายผู้ร้องทุกข์โดยมีเหตุผลว่าเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการบริหารงานที่เกิดขึ้นในสำนักงานระหว่างผู้ร้องทุกข์กับผู้บังคับบัญชา ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากความผิดของผู้ร้องทุกข์หรือผู้ร้องทุกข์เป็นต้นเหตุให้เกิดความขัดแย้งแต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องทุกข์ได้แสวงหาความเป็นธรรมเพื่อรักษาสิทธิของตนโดยชอบธรรม ประกอบกับเรื่องนี้โดยข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าผู้ร้องทุกข์ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ดังนั้น การใช้ดุลพินิจของปลัดกระทรวงในการออกคำสั่งย้ายดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 

ข้อเท็จจริง

                    ขณะที่ผู้ร้องทุกข์ดำรงตำแหน่งนักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดแห่งหนึ่ง ได้ร้องทุกข์ต่อปลัดกระทรวงว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการประเมินผลการปฏิบัติราชการ โดยนาย ก. ผู้บังคับบัญชาชั้นต้น ต่อมาปลัดกระทรวงพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการเลื่อนเงินเดือนให้กับผู้ร้องทุกข์ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012/ว 20 ลงวันที่ 3 กันยายน 2552 เนื่องจากไม่มีการกำหนดข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการมอบหมายงานและการประเมินผลการปฏิบัติราชการ และการประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติราชการหรือสมรรถนะมีความคลาดเคลื่อน ร้องทุกข์ฟังขึ้น ให้แก้ไขคำสั่งเลื่อนเงินเดือนเฉพาะรายของผู้ร้องทุกข์และให้ดำเนินการให้ถูกต้อง ต่อมาปลัดกระทรวงได้มีคำสั่งย้ายผู้ร้องทุกข์จากตำแหน่งนักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กลุ่มทะเบียนธุรกิจและอำนวยความสะดวกทางการค้า ไปดำรงตำแหน่งเดิม กลุ่มส่งเสริมการประกอบธุรกิจการค้าและการตลาด ในอีกจังหวัดหนึ่ง โดยอ้างเหตุผลในการย้ายว่า เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการบริหารงานที่เกิดขึ้นในสำนักงานจังหวัด ระหว่างผู้ร้องทุกข์กับผู้บังคับบัญชา ผู้ร้องทุกข์จึงได้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.
 

คำวินิจฉัย

                    ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ปลัดกระทรวงย้ายผู้ร้องทุกข์เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการบริหารงานที่เกิดขึ้นในสำนักงานระหว่างผู้ร้องทุกข์กับผู้บังคับบัญชา นั้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากความผิดของผู้ร้องทุกข์หรือผู้ร้องทุกข์เป็นต้นเหตุให้เกิดความขัดแย้งแต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องทุกข์ได้แสวงหาความเป็นธรรมเพื่อรักษาสิทธิของตนโดยชอบธรรม ผู้ร้องทุกข์จึงไม่ควรที่จะต้องได้รับผลร้าย หรือผลกระทบในทางลบจากสิ่งที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น  แม้การย้ายจะเป็นดุลพินิจ แต่ดุลพินิจในการสั่งย้ายดังกล่าวจะต้องดำเนินการโดยยึดหลักเหตุผลและความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการและการพัฒนาข้าราชการเป็นหลัก และจะต้องดำเนินการโดยไม่ให้ผู้ที่ไม่มีความผิดหรือมิใช่ผู้ก่อให้เกิดความขัดแย้งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเกินสมควร ซึ่งหมายความว่าคำสั่งย้ายต้องเป็นไปตามหลักความได้สัดส่วน อันประกอบด้วยหลักย่อย 3 ประการ คือ หลักความสัมฤทธิ์ผล หลักความจำเป็น และหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ
                    สำหรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเรื่องนี้ นั้น ยังมีวิธีการอื่นที่ปลัดกระทรวงสามารถดำเนินการได้เพื่อให้บรรจุวัตถุประสงค์ดังกล่าว การย้ายเฉพาะผู้ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาย่อมทำให้สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ เมื่อปัญหานี้มิได้เกิดจากความผิดของผู้ร้องทุกข์ หากแต่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องทุกข์ได้แสวงหาความเป็นธรรมเพื่อรักษาสิทธิของตนโดยชอบธรรมเท่านั้น โดยข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าผู้ร้องทุกข์ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ดังนั้น การที่ปลัดกระทรวงย้ายผู้ร้องทุกข์ออกจากพื้นที่ด้วยจึงไม่เป็นไปตามหลักความจำเป็นหรือหลักพอสมควรแก่เหตุ แม้ผู้ร้องทุกข์จะยังคงดำรงตำแหน่งในระดับเดิม และเงินเดือนเท่าเดิมก็ตาม แต่การย้ายดังกล่าวเป็นการย้ายผู้ร้องทุกข์จากที่เคยปฏิบัติงานในกลุ่มทะเบียนธุรกิจและอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งเป็นสายงานหลักไปดำรงตำแหน่งที่ว่างในกลุ่มส่งเสริมการประกอบธุรกิจการค้าและการตลาดซึ่งเป็นสายงานรองและมีผลทำให้ผู้ร้องทุกข์เสียสิทธิในการรับเงินสินบนรางวัลตามกฎหมาย และกรณีนี้ยังมีวิธีการอื่นที่สามารถทำได้ คือ สั่งย้ายให้ผู้ร้องทุกข์ไปดำรงตำแหน่งในกลุ่มทะเบียนธุรกิจและอำนวยความสะดวกทางการค้าตามเดิม ในจังหวัดอื่น ดังนั้น คำสั่งย้ายผู้ร้องทุกข์ดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ผู้ร้องทุกข์ได้รับความเดือดร้อนเกินสมควรและเมื่อเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทางราชการน้อยมาก ไม่คุ้มค่ากับความเดือดร้อนเสียหายที่ผู้ร้องทุกข์จะได้รับ กรณีจึงไม่เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ การใช้ดุลพินิจของปลัดกระทรวงในการออกคำสั่งย้ายดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำร้องทุกข์ฟังขึ้น ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งย้ายดังกล่าว
                                   
วันที่