Skip to main content
x

 

การประเมินผลการปฏิบัติราชการต้องพิจารณาตามผลงานและตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ. กำหนด

 

เรื่องดำที่     6020157, 6020163, 6020164, 6020165
เรื่องแดงที่    0033262, 0034262, 0035262, 0036262
ผลคำวินิจฉัย    ยกเลิกคำสั่ง
กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
                   1. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
                   2. กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551
                   3. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012/ว 20 ลงวันที่ 3 กันยายน 2552
 
                   ก่อนเริ่มรอบการประเมินหรือในช่วงเริ่มรอบการประเมิน ส่วนราชการต้องประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลปฏิบัติราชการให้ข้าราชการในสังกัดทราบโดยทั่วกัน และในแต่ละรอบการประเมิน ผู้ประเมินกับผู้รับการประเมินต้องกำหนดข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการมอบหมายงานและการประเมินผลการปฏิบัติราชการ กำหนดตัวชี้วัดอย่างเป็นรูปธรรมและเหมาะสมกับลักษณะงาน และผู้ประเมินต้องประเมินผลการปฏิบัติราชการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ได้ประกาศไว้ และตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับผู้รับการประเมิน  เมื่อส่วนราชการไม่ได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินให้ข้าราชการในสังกัดทราบ ไม่มีการตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการและกำหนดตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งไม่ได้กำหนดคำอธิบายรายละเอียดของค่าเป้าหมายของความสำเร็จของงานไว้ แต่ประเมินผลการปฏิบัติราชการโดยมีข้อตกลงของหัวหน้างานให้เรียงลำดับคะแนนตามลำดับกลุ่มงาน ไม่ได้ประเมินตามผลสัมฤทธิ์ของงานอย่างแท้จริง จึงเป็นการประเมินผลการปฏิบัติราชการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 

ข้อเท็จจริง

                   ในการประเมินผลการปฏิบัติราชการเพื่อเลื่อนเงินเดือนของกลุ่มวิจัยพัฒนากฎหมายคดีความและนิติการ สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ ส่วนราชการแห่งหนึ่ง ได้ดําเนินการโดยประชุมร่วมกันระหว่างผู้อํานวยการกลุ่มฯ และหัวหน้างาน ทั้ง 5 กลุ่มงาน ซึ่งผู้อํานวยการกลุ่มฯ ได้มอบให้หัวหน้างานแต่ละงานเป็นผู้พิจารณาประเมินผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในแต่ละงาน โดยให้แต่ละกลุ่มงานจัดเรียงลําดับผลการประเมินผลการปฏิบัติงานมาให้ผู้อํานวยการกลุ่มฯ และให้หัวหน้างานไปประชุมตกลงในการจะประเมินผลการปฏิบัติราชการของแต่ละกลุ่มงานให้ได้ข้อตกลงร่วมกันของแต่ละกลุ่มงานในการประเมินผลการปฏิบัติงาน รวมถึงการจัดเรียงลําดับเจ้าหน้าที่ภายในแต่ละกลุ่มงาน เมื่อหัวหน้างานแต่ละงานจัดส่งผลการประเมินผลการปฏิบัติงานและจัดเรียงลําดับของแต่ละกลุ่มงานมาให้ผู้อํานวยการกลุ่มฯ แล้ว ผู้อํานวยการกลุ่มฯ จะเรียงลําดับตามที่หัวหน้างานแต่ละงานประเมินและจัดเรียงลําดับมา และจัดตามมติที่ประชุมหัวหน้างานซึ่งตกลงกันว่าจะเรียงลำดับจากกลุ่มงานใด แล้วจัดส่งบัญชีผลการประเมินและการจัดเรียงลําดับดังกล่าวให้กลุ่มเสริมสร้างประสิทธิภาพการบริหารบุคคลเพื่อจัดประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการในสังกัดสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการเพื่อพิจารณาเลื่อนเงินเดือน ซึ่งที่ประชุมขอให้ผู้อํานวยการกลุ่มทุกกลุ่มในสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการดําเนินการปรับคะแนนประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการในสังกัดให้สอดคล้องกับช่วงคะแนนประเมินและค่าร้อยละตามมติของที่ประชุม กลุ่มวิจัยพัฒนากฎหมายคดีความและนิติการจึงได้ปรับคะแนนการประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการในสังกัดใหม่ให้สอดคล้องกับช่วงคะแนนประเมินและร้อยละตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ แล้วแจ้งผลการเลื่อนเงินเดือนให้ข้าราชการในสังกัดทราบ ทั้งนี้ ตามแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ของงานได้กำหนดตัวชี้วัดผลงานเป็นองค์ประกอบในการประเมิน 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1. จำนวนงานคดีแพ่ง/คดีปกครอง/คดีล้มละลาย/อนุญาโตตุลาการ/คดีอาญา ที่ได้ดำเนินการเสร็จถูกต้องตามขั้นตอน และระยะเวลา 2. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เสร็จถูกต้องตามขั้นตอน และระยะเวลา 3. งานยกร่างกฎหมาย/ระเบียบ ข้อบังคับ หนังสือเวียน/หลักเกณฑ์ วิธีการที่ดําเนินการ งานตอบข้อหารือ/พิจารณาอุทธรณ์คําสั่ง 4. งานที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการฯ สอบละเมิด/วินัย 5. งานอื่นที่ได้รับมอบหมายเสร็จตามขั้นตอน ระยะเวลา และกำหนดคะแนนตามระดับค่าเป้าหมายเป็น 5 ระดับ ดังนี้ ผลการประเมินได้น้อยกว่า 60 คะแนน อยู่ในระดับ 1, ผลการประเมินได้ 60 – 69 คะแนน อยู่ในระดับ 2, ผลการประเมินได้ 70 - 79 คะแนน อยู่ในระดับ 3, ผลการประเมินได้ 80 - 89 คะแนน อยู่ในระดับ 4, ผลการประเมินได้ 90 คะแนนขึ้นไป อยู่ในระดับ 5  สำหรับผลการประเมินตามแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ของงาน และแบบประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติราชการหรือสมรรถนะ ผู้ร้องทุกข์ที่ 1 ได้คะแนนประเมิน 93.68 คะแนน ได้ระดับผลการปฏิบัติราชการ ดีเด่น 2 ได้รับการเลื่อนเงินเดือนร้อยละ 2.95  ผู้ร้องทุกข์ที่ 2 ได้คะแนนประเมิน 92.06 ได้ระดับผลการปฏิบัติราชการ ดีเด่น 2 ได้รับการเลื่อนเงินเดือนร้อยละ 2.95  ผู้ร้องทุกข์ที่ 3 ได้คะแนนประเมิน 87.88 คะแนน ได้ระดับผลการปฏิบัติราชการ ดีมาก ได้รับการเลื่อนเงินเดือนร้อยละ 2.80  ผู้ร้องทุกข์ที่ 4 ได้คะแนนประเมิน 94.62 คะแนน ได้ระดับผลการปฏิบัติราชการ ดีเด่น 2 ได้รับการเลื่อนเงินเดือนร้อยละ 2.95  แต่ผู้ร้องทุกข์ทั้งสี่เห็นว่าการประเมินผลการปฏิบัติราชการดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ตามหนังสือสํานักงาน ก.พ. ที่ นร 1012/ว 20 ลงวันที่ 3 กันยายน 2552 จึงได้มาร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.

 

คำวินิจฉัย

                   ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า การประเมินผลการปฏิบัติราชการของกลุ่มวิจัยพัฒนากฎหมายคดีความและนิติการไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ก่อนเริ่มรอบการประเมินหรือในช่วงเริ่มรอบการประเมิน ส่วนราชการได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการให้ผู้ร้องทุกข์ทั้งสี่ ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดทราบโดยทั่วกันว่าหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการเป็นอย่างไร และมีองค์ประกอบในการประเมินอย่างไร ประกอบกับไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า กลุ่มวิจัยพัฒนากฎหมายคดีความและนิติการได้มีการประชุมเกี่ยวกับการมอบหมายงานภารกิจขอบข่ายของกลุ่มงาน และมีการกําหนดตัวชี้วัดผลงานตามภารกิจและขอบข่ายงานแล้วแจ้งให้ข้าราชการในสังกัดซึ่งเป็นผู้รับการประเมินทราบหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการโดยทั่วกันแต่อย่างใด
                   อีกทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่า ผู้อำนวยการกลุ่มฯ (ในฐานะผู้ประเมิน) กับผู้ร้องทุกข์ทั้งสี่ (ในฐานะผู้รับการประเมิน) ได้กำหนดข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติราชการ และไม่มีการกำหนดดัชนีชี้วัดที่เป็นรูปธรรมในตัวชี้วัดผลงานทั้ง 5 ตัวชี้วัด ก่อนเริ่มรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการหรือในช่วงเริ่มรอบการประเมินแต่อย่างใด เพราะการกำหนดตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของงานในแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ของงานของผู้ร้องทุกข์ทั้งสี่ ไม่ได้กำหนดคำอธิบายรายละเอียดของค่าเป้าหมายของความสำเร็จของงานไว้ จึงเป็นการกำหนดโดยไม่มีเกณฑ์ในการให้คะแนนของแต่ละตัวชี้วัด และไม่อาจทราบได้ว่าผู้ร้องทุกข์ทั้งสี่ และข้าราชการอื่น ๆ ในกลุ่ม ได้คะแนนตามค่าเป้าหมายโดยผู้ประเมินพิจารณาให้คะแนนและประเมินผลการปฏิบัติราชการโดยพิจารณาจากข้อมูลอะไร ประกอบกับไม่มีข้อมูลว่าผู้ร้องทุกข์ทั้งสี่ และข้าราชการในกลุ่มแต่ละรายมีปริมาณงานที่ได้รับและปริมาณงานที่สำเร็จเท่าไร ทำให้ผู้อำนวยการกลุ่มฯ ประเมินผลการปฏิบัติราชการแก่ผู้ร้องทุกข์ทั้งสี่ และข้าราชการในกลุ่มวิจัยพัฒนากฎหมายคดีความและนิติการได้ตามอำเภอใจ
                   นอกจากนี้ การประเมินผลการปฏิบัติราชการครั้งนี้ได้มีข้อตกลงของที่ประชุมหัวหน้างานให้เรียงลำดับคะแนนตามลำดับกลุ่มงาน จึงเป็นการกำหนดตัวบุคคลตามลำดับของกลุ่มงาน แล้วนำค่าคะแนนมาประกอบภายหลังตามลำดับที่กำหนดไว้ การจัดลำดับและการประเมินผลการปฏิบัติราชการนี้จึงไม่เป็นไปตามประสิทธิภาพของงานอย่างแท้จริง เนื่องจากไม่ได้นำข้อเท็จจริงเรื่องผลสัมฤทธิ์ของงานของผู้ร้องทุกข์ทั้งสี่มาพิจารณาและให้คะแนนตามตัวชี้วัดแต่ละตัว การประเมินผลการปฏิบัติราชการดังกล่าวจึงไม่ได้ประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการหรือตัวชี้วัดที่กำหนด จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ตามข้อ 9 (1) (2) และ (3) ของหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012/ว 20 ลงวันที่ 3 กันยายน 2552
                   ดังนั้น คำสั่งเลื่อนเงินเดือนเฉพาะในส่วนของผู้ร้องทุกข์ทั้งสี่ และข้าราชการอื่นในกลุ่มวิจัยพัฒนากฎหมายคดีความและนิติการจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำร้องทุกข์ฟังขึ้น ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว และให้ดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติราชการและเลื่อนเงินเดือนของผู้ร้องทุกข์ทั้งสี่ และข้าราชการอื่นในกลุ่มวิจัยพัฒนากฎหมายคดีความและนิติการให้ถูกต้องโดยเร็วต่อไป
 
วันที่