Skip to main content
x

 

คำสั่งลงโทษต้องระบุข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ

 

เรื่องดำที่     5910024    เรื่องแดงที่    0021162
ผลคำวินิจฉัย    ยกอุทธรณ์
การดำเนินการทางวินัย    ต้นสังกัดดำเนินการเอง
 
               การสั่งลงโทษทางวินัยต้องทำเป็นคำสั่ง ระบุชื่อและตำแหน่งของผู้ถูกลงโทษ แสดงข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญว่าผู้ถูกลงโทษกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงหรืออย่างร้ายแรงในกรณีใด ตามมาตราใด พร้อมทั้งแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์และระยะเวลาในการอุทธรณ์ รวมถึงให้ลงลายมือชื่อและตำแหน่งของผู้สั่งลงโทษ และวันเดือนปีที่ออกคำสั่งด้วย เมื่อคำสั่งลงโทษผู้อุทธรณ์ไม่ได้ระบุว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในกรณีใด จึงถือเป็นคำสั่งที่ไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญตามที่กำหนดไว้ในกฎ ก.พ.

 

ข้อเท็จจริง

               ผู้อุทธรณ์เดิมรับราชการตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานการพยาบาล และรับผิดชอบการเก็บเงินค่าตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวซึ่งกระทำในช่วงนอกเวลาราชการ ออกใบเสร็จรับเงิน และนำเงินส่งฝ่ายการเงิน ต่อมา สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านเว็บไซต์แจ้งเบาะแสกรณีการเก็บเงินค่าตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวโดยไม่ออกใบเสร็จรับเงิน ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่ากรณีมีมูลควรกล่าวหาว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ประกอบกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือขอให้ตรวจสอบโครงการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวของโรงพยาบาลดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง ผลการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า ผู้อุทธรณ์มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เห็นควรลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย และเสนอเรื่องให้ อ.ก.พ. จังหวัด พิจารณา ต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมติ อ.ก.พ. จังหวัด ได้สั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ โดยคำสั่งลงโทษระบุข้อความไว้ว่า ผู้อุทธรณ์ได้กระทำผิดวินัยฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ผู้อุทธรณ์จึงได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.พ.ค.
 

คำวินิจฉัย

               ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้อุทธรณ์มีหน้าที่รับเงินค่าตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวและออกใบเสร็จรับเงิน โดยเป็นคนเขียนรายการตรวจสุขภาพแรงงานด้าวและลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินในใบเสร็จรับเงินทั้งหมด ซึ่งผู้อุทธรณ์เก็บเงินค่าตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวแต่ไม่ออกใบเสร็จรับเงินให้ครบถ้วนตรงตามจำนวนคนที่มาตรวจจริง และผู้อุทธรณ์ยังออกใบเสร็จรับเงินล่าช้ากว่าวันที่ตรวจจริงถึง 1 เดือน ทำให้นำเงินส่งฝ่ายการเงินล่าช้า จึงเชื่อว่าผู้อุทธรณ์เก็บเงินไว้กับตนเองแล้วนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว ทำให้โรงพยาบาลเกิดความเสียหาย พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์มีเจตนาเบียดบังเงินค่าตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ระดับโทษเหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น จึงวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม คำสั่งลงโทษดังกล่าวไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในกรณีใด ตามข้อ 69 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ก.พ.ค. จึงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแก้ไขคำสั่งลงโทษโดยให้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในกรณีใดให้เป็นการถูกต้องต่อไป

 

วันที่