Skip to main content
x

 

ไม่ใช่กรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ต้องสอบสวนก่อน

 

เรื่องดำที่  5810028  เรื่องแดงที่  0057162
ผลคำวินิจฉัย ยกอุทธรณ์และแก้คำสั่งลงโทษ
การดำเนินการทางวินัย ต้นสังกัดดำเนินการเอง
 
          ความผิดทางวินัยซึ่งไม่ใช่กรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งต้องดำเนินการสอบสวนก่อนถึงจะลงโทษได้ ส่วนการลงโทษทางวินัยฐานกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกต้องลงโทษตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และถ้ามีกรณีที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนก็ต้องสั่งลงโทษย้อนหลังไปถึงวันที่ออกจากราชการไว้ก่อนด้วย

 

ข้อเท็จจริง
          เมื่อครั้งผู้อุทธรณ์ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานราชทัณฑ์  เรือนจำแห่งหนึ่ง ในวันที่ 19 ตุลาคม 2550 ผู้อุทธรณ์ได้ลักลอบนำยาเสพย์ติดเข้าไปในเรือนจำ เมื่อคู่กรณีในอุทธรณ์ตรวจพบ คู่กรณีในอุทธรณ์จึงแจ้งความดำเนินคดี ผู้อุทธรณ์จึงถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2550 เป็นต้นมา และคู่กรณีในอุทธรณ์มีคำสั่งลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 ให้ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการไว้ก่อน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ผู้อุทธรณ์รับทราบคำสั่ง(ผู้อุทธรณ์รับทราบในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2550) ต่อมาศาลจังหวัดได้มีคำพิพากษาให้จำคุกผู้อุทธรณ์ 17 ปี ต่อมาวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
          คู่กรณีในอุทธรณ์เห็นว่า กรณีนี้ผู้อุทธรณ์ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก อันเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการโดยไม่สอบสวนในความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง และฐานกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ตามมาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 133 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 โดยให้คำสั่งไล่ออกจากราชการมีผลตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2550
อันเป็นวันที่คู่กรณีในอุทธรณ์มีคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการไว้ก่อน

 

คำวินิจฉัย
          ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้อุทธรณ์กระทำความผิดอาญาจนต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 การกระทำของผู้อุทธรณ์จึงเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตามมาตรา 85 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และถือได้ว่าเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามข้อ 65 (2) ของ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 คู่กรณีในอุทธรณ์จึงสามารถดำเนินการทางวินัยโดยไม่ต้องสอบสวนก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม คู่กรณีในอุทธรณ์จะสั่งลงโทษในฐานความผิดอื่นที่ไม่มีการสอบสวนก่อนและไม่ใช่กรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งรวมเข้ามาไม่ได้ ดังนั้น การที่คู่กรณีในอุทธรณ์ออกคำสั่งลงโทษโดยระบุฐานความผิดตามกฎหมายเดิมและระบุความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ไว้ในคำสั่งลงโทษด้วย ทั้งที่ไม่มีการสอบสวนในความผิดฐานเหล่านี้ คำสั่งลงโทษในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
          ส่วนประเด็นวันที่คำสั่งไล่ออกจากราชการมีผลนั้น เห็นว่า ระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยวันออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2554 ข้อ 9 กำหนดว่า ในกรณีที่มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ให้สั่งไล่ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ต้องออกจากราชการไว้ก่อน และกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ข้อ 84 ประกอบข้อ 81 กำหนดไว้ว่า การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนให้สั่งย้อนหลังไปถึงวันที่ถูกควบคุม ขัง หรือต้องจำคุก เรื่องนี้ เมื่อผู้อุทธรณ์ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2550 คู่กรณีในอุทธรณ์จึงต้องออกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ดังกล่าว การที่คู่กรณีในอุทธรณ์มีคำสั่งลงโทษโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2550 จึงเป็นการลงโทษที่ไม่ถูกต้อง ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์และให้ตัดฐานความผิดที่ไม่ได้สอบสวนออก พร้อมทั้งปรับฐานความผิดที่ลงโทษให้ถูกต้องตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำความผิดโดยแก้ไขวันที่คำสั่งลงโทษมีผลย้อนไปถึงวันที่ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ให้ถูกต้องต่อไป

 

วันที่