Skip to main content
x

 

 

การสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญไปปฏิบัติราชการที่อื่น

 

เรื่องดำที่  5920052  เรื่องแดงที่  0046261
ผลคำวินิจฉัย  ยกคำร้องทุกข์
กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง 
  1. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
  2. กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551
  3. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708/ ว 9 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2535

 

               การสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญไปปฏิบัติราชการที่อื่น โดยกำหนดระยะเวลาที่ให้ไปปฏิบัติงาน และให้รับเงินเดือนจากต้นสังกัดเดิม ถือเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใช่การย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นในระดับเดียวกันในกรมเดียวกัน ในกรณีปกติ ตามที่กำหนดในหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708/ว 9 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2535 ดังนั้นหากหลักเกณฑ์ในการพิจารณาสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญไปปฏิบัติราชการที่อื่นเป็นหลักเกณฑ์ที่ปรากฏชัดเจน เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของทางราชการ และมีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คำสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญไปปฏิบัติราชการที่อื่นดังกล่าวนั้น ย่อมชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

ข้อเท็จจริง

               รองปลัดกระทรวง ส. รักษาราชการแทนปลัดกระทรวง ได้มีหนังสือแจ้งเวียนผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดว่า กระทรวงได้มีการกำหนดให้มีการย้ายหมุนเวียนแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ปี 2559 เพื่อให้สอดคล้องกับระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) และเพื่อให้การกระจายกำลังคนทั้ง 3 สายงาน เป็นไปอย่างเหมาะสม พร้อมกันนี้ในหนังสือฉบับดังกล่าวยังได้ส่งหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายหมุนเวียนแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ปี 2559 ไปให้จังหวัดเพื่อประชาสัมพันธ์  ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดให้ผู้ขอย้ายแสดงความจำนงขอย้ายด้วยวิธีการยื่นแบบขอย้ายผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น เฉพาะกรณีย้ายข้ามจังหวัด และให้เลือกส่วนราชการที่จะย้ายได้ 2 อันดับ นอกจากนี้ผู้ขอย้ายจะต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ กล่าวคือ 1) หลักเกณฑ์การย้ายข้าราชการของสำนักงานปลัดกระทรวง พ.ศ. 2554 ที่กำหนดให้ผู้ขอย้ายจะต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และจะต้องได้รับการพิจารณาความเหมาะสมในการย้ายจากส่วนราชการต้นสังกัดและส่วนราชการปลายทางที่จะรับย้าย 2) หลักเกณฑ์ตามหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวง ที่กำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาสำหรับส่วนราชการที่รับย้ายไว้ว่า จะต้องพิจารณาจากกรอบอัตรากำลังตามระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ข้อมูลการปฏิบัติงานจริงตาม GIS ภาระงาน (ไม่น้อยกว่าเดิม) และกรอบอัตรากำลังตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงกำหนด ซึ่งสำหรับกรอบอัตรากำลังบุคลากรสายวิชาชีพแพทย์ทุกระดับตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ในส่วนของแพทย์สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคไต ได้กำหนดไว้ว่า โรงพยาบาลระดับ M มีแพทย์อายุรศาสตร์โรคไตได้ 0-1 คน โรงพยาบาลระดับ S เล็ก (น้อยกว่า 300 เตียง) และโรงพยาบาลระดับ S ใหญ่ (300 เตียงขึ้นไป) มีแพทย์อายุรศาสตร์โรคไตได้ 1-2 คน โรงพยาบาลระดับ A เล็ก (น้อยกว่า 700 เตียง) มีแพทย์อายุรศาสตร์โรคไตได้ 2-4 คน โรงพยาบาลระดับ A ใหญ่ (700 เตียงขึ้นไป) มีแพทย์อายุรศาสตร์โรคไตได้ 3-5 คน และ 3) หลักเกณฑ์สำหรับแพทย์ที่ย้ายเข้าโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป กำหนดไว้ว่าต้องมีวุฒิบัตรเฉพาะทางในสาขาที่ยังไม่เกินกรอบอัตรากำลังตาม Service Plan ของแต่ละสาขานั้น ๆ
               ผู้ร้องทุกข์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายแพทย์ (ด้านเวชกรรม) ประเภทวิชาการระดับชำนาญการ ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัด ง. ได้ยื่นแบบแสดงความจำนงขอย้ายหมุนเวียนแพทย์ โดยระบุในแบบขอย้ายว่ามีวุฒิบัตรเฉพาะทางสาขาอายุรศาสตร์โรคไต และประสงค์จะย้ายไปรับราชการที่โรงพยาบาลในจังหวัด ก. เป็นลำดับที่ 1 โรงพยาบาลในจังหวัด ข. เป็นลำดับที่ 2 ต่อมามีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับการอนุมัติย้ายข้าราชการทั้ง 3 สายงาน (แพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร) ทางเว็บไซต์ จำนวน 2 ครั้ง แต่ไม่ปรากฏรายชื่อผู้ร้องทุกข์ จนกระทั่งปลัดกระทรวงได้มีคำสั่งเรื่องให้ข้าราชการปฏิบัติราชการ โดยระบุให้ผู้ที่มีรายชื่อได้รับอนุมัติย้ายทั้งหมดข้างต้น ไปปฏิบัติราชการเป็นเวลา 3 ปี โดยรับเงินเดือนจากสังกัดเดิม ซึ่งในคำสั่งดังกล่าวไม่ปรากฏรายชื่อผู้ร้องทุกข์แต่อย่างใด ผู้ร้องทุกข์จึงมาร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. เพื่อขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องทุกข์ได้ย้ายไปปฏิบัติราชการที่โรงพยาบาลในจังหวัด ก.

 

คำวินิจฉัย

               ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ปลัดกระทรวงมีคำสั่งเรื่องให้ข้าราชการปฏิบัติราชการโดยระบุให้ผู้ที่มีรายชื่อได้รับอนุมัติย้ายทั้งหมดข้างต้น ไปปฏิบัติราชการเป็นเวลา 3 ปี โดยรับเงินเดือนจากสังกัดเดิม แม้จะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลก่อนที่จะมีการออกคำสั่ง ก็ถือเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 กรณีนี้ยังไม่เข้าเรื่องการย้าย ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708/ว 9 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2535 ที่กำหนดเกี่ยวกับการย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นในระดับเดียวกันในกรมเดียวกัน ในกรณีปกติ
               สำหรับเรื่องการย้ายหมุนเวียนและจัดสรรแพทย์ 3 สายงาน (แพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร) ในกรณีนี้ เห็นว่า ปลัดกระทรวงได้แจ้งเวียนส่วนราชการโดยระบุหลักเกณฑ์ในการพิจารณาไว้อย่างชัดเจน ทั้งหลักเกณฑ์การย้ายข้าราชการของสำนักงานปลัดกระทรวง หลักเกณฑ์ในการพิจารณาสำหรับส่วนราชการที่รับย้าย และหลักเกณฑ์สำหรับแพทย์ที่ย้ายเข้าโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป อันถือเป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของทางราชการเป็นสำคัญ การที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตามระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) โรงพยาบาล ก. ถือเป็นโรงพยาบาลระดับ S ใหญ่  สามารถมีแพทย์อายุรศาสตร์โรคไตได้ 1-2 คน ซึ่งในขณะนั้นทางโรงพยาบาลมีแพทย์อายุรศาสตร์โรคไตที่ปฏิบัติงานอยู่แล้ว 2 คน และสำหรับโรงพยาบาล ข. ถือเป็น โรงพยาบาลระดับ S เล็ก สามารถมีแพทย์อายุรศาสตร์โรคไตได้ 1-2 คน ซึ่งในขณะนั้นทางโรงพยาบาลมีแพทย์อายุรศาสตร์โรคไตที่ปฏิบัติงานอยู่แล้ว 3 คน จึงไม่รับผู้ร้องทุกข์ จึงเห็นว่าเป็นการพิจารณาตามหลักเกณฑ์การย้ายข้าราชการของสำนักงานปลัดกระทรวง ที่กำหนดให้พิจารณาตามความเหมาะสมในการย้ายจากส่วนราชการต้นสังกัดและส่วนราชการปลายทางที่จะรับย้าย  ซึ่งเกณฑ์ในการพิจารณาสำหรับส่วนราชการที่รับย้าย ก็ได้พิจารณาจากกรอบอัตรากำลังตามระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) แล้วจึงได้ปฏิเสธไม่อนุมัติย้ายผู้ร้องทุกข์  ดังนั้น การที่ปลัดกระทรวงไม่ได้ออกคำสั่งย้าย ผู้ร้องทุกข์ให้ไปปฏิบัติงานประจำที่โรงพยาบาลทั้งสองแห่งตามที่ผู้ร้องทุกข์ประสงค์ จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำร้องทุกข์ฟังไม่ขึ้น วินิจฉัยให้ยกคำร้องทุกข์ดังกล่าว  

 

วันที่
The website encountered an unexpected error. Please try again later.