Skip to main content
x

 

อุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ในกรณีร่ำรวยผิดปกติตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

 

เรื่องดำที่  6010059  เรื่องแดงที่  0066161
ผลคำวินิจฉัย  ไม่รับอุทธรณ์ไว้พิจารณา
การดำเนินการทางวินัย   ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.

 

           การลงโทษไล่หรือปลดออกจากราชการในกรณีร่ำรวยผิดปกติซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาสั่งลงโทษไล่ออกหรือปลดออก โดยให้ถือว่าเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ตามมาตรา 80 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542  เป็นการลงโทษไล่ออกหรือปลดออกตามฐานความผิดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542  มิใช่การลงโทษทางวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  จึงไม่อาจอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ได้ 

 

ข้อเท็จจริง

           ผู้อุทธรณ์เดิมดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมแห่งหนึ่ง ได้ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและมีมติว่า ในระหว่างดำรงตำแหน่งอธิบดี ผู้อุทธรณ์ร่ำรวยผิดปกติโดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติหรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่  คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีหนังสือแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้อุทธรณ์ในขณะนั้น ดำเนินการตามมาตรา 80 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542  ที่สุดผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติและมีหนี้สินลดลงผิดปกติ อันเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ตามมาตรา 80 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ประกอบมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  ผู้อุทธรณ์จึงอุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าวต่อ ก.พ.ค.
 

คำวินิจฉัย

           ก.พ.ค. เสียงข้างมากพิจารณาแล้วเห็นว่า  การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการเรื่องนี้เป็นผลจากการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าผู้อุทธรณ์ร่ำรวยผิดปกติตามมาตรา 80 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542  ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินการไว้เป็นการเฉพาะว่า หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ  ให้ประธานกรรมการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน  และต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาสั่งลงโทษหรือปลดออก โดยให้ถือว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่  ซึ่งในกรณีของผู้อุทธรณ์ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าผู้อุทธรณ์ร่ำรวยผิดปกติแล้ว  คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการตามมาตรา 80 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 โดยได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้อุทธรณ์ดำเนินการสั่งลงโทษไล่หรือปลดผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ  และเมื่อพิจารณาตามหนังสือสำนักงาน ป.ป.ช. ที่แจ้งต่อผู้บังคับบัญชาจะเห็นได้ว่า เป็นกรณีที่ประธานกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาสั่งลงโทษไล่ออกหรือปลดออก โดยให้ถือว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ตามมาตรา 80 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542  มิใช่การชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันที่บัญญัติให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก  นอกจากนี้ มาตรา 81/1 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติด้วยว่า ในกรณีที่มีคำสั่งของศาลอันเป็นที่สุดให้ยกคำร้องของอัยการสูงสุดหรือประธานกรรมการที่ยื่นตามมาตรา 81 และถ้าผู้ถูกกล่าวหามิใช่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและได้ถูกลงโทษทางวินัยไปก่อนโดยอาศัยเหตุที่มีมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ  ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาสั่งยกเลิกคำสั่งลงโทษและดำเนินการให้ผู้นั้นได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติว่าผู้อุทธรณ์ร่ำรวยผิดปกติ และได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้อุทธรณ์สั่งลงโทษไล่หรือปลดผู้อุทธรณ์ออกโดยให้ถือว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ตามมาตรา 80 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542  ผู้บังคับบัญชาจึงมีอำนาจสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 80 (4) โดยไม่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 แต่อย่างใด  และเมื่อสั่งลงโทษแล้วการตรวจสอบพิสูจน์ความผิดว่าร่ำรวยผิดปกติตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่ ย่อมอยู่ในอำนาจของศาล  มิใช่ ก.พ.ค.  โดยหากศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องของอัยการสูงสุด ย่อมแสดงว่าผู้อุทธรณ์มิได้เป็นผู้ร่ำรวยผิดปกติตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ  ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการก็ต้องสั่งยกเลิกคำสั่งลงโทษดังกล่าว  เมื่อทั้งการสั่งลงโทษผู้อุทธรณ์ ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534  มิใช่อำนาจตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  และการยกความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการตามมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาใช้ลงโทษผู้อุทธรณ์ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายรองรับ  เรื่องนี้จึงมิใช่การสั่งลงโทษทางวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 อันเป็นเรื่องที่ไม่อาจอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ได้ตามมาตรา 114 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และเป็นอุทธรณ์ที่ห้ามรับไว้พิจารณา ตามนัยข้อ 49 (1) ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ.2551  ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยไม่รับอุทธรณ์เรื่องนี้ไว้พิจารณา และสั่งจำหน่ายอุทธรณ์ออกจากสารบบ

 

วันที่