Skip to main content
x

 

ย้ายข้าราชการมาดำรงตำแหน่งโดยไม่ใช้วิธีสอบคัดเลือกเหมือนที่ผ่านมา

 

เรื่องดำที่  6120076  เรื่องแดงที่  0030262
ผลคำวินิจฉัย  ยกคำร้องทุกข์
กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
         1. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
         2. กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551
         3. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 7 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2552
         4. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 16 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2552
         5. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 4 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552
         6. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 10 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548
 
            การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ สามารถดำเนินการได้ในหลายแนวทาง เช่น การคัดเลือกข้าราชการเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง การย้าย ฯลฯ  กรณีหาใช่จะต้องดำเนินการแต่งตั้งโดยเลือกใช้วิธีการเดียวกันในทุกครั้งไม่  โดยการที่ส่วนราชการจะเลือกใช้วิธีการตามแนวทางใดย่อมขึ้นอยู่กับเหตุผลความจำเป็น สถานการณ์ และความเหมาะสมเป็นคราวไป โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพขององค์กรและลักษณะของงานด้วย
 

ข้อเท็จจริง

            สืบเนื่องจากสำนักงาน ก.พ. ได้มีหนังสือ ที่ นร 1008/ว 15 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 และ ที่ นร 1008/ว 17 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 กำหนดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับต้น และระดับสูง ว่าจะต้องมีประสบการณ์ในงานที่หลากหลายตามที่ ก.พ. กำหนด  สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจึงได้มีการสำรวจความต้องการสับเปลี่ยนหมุนเวียนงานของข้าราชการในสังกัดเพื่อให้มีประสบการณ์ในงานที่หลากหลาย  ซึ่งในการนี้ได้มีข้าราชการหลายรายแสดงความประสงค์ที่จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนสายงาน รวมถึงนาย จ. ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานการเมือง 1 (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ) ที่แสดงความประสงค์ขอสับเปลี่ยนหมุนเวียนงานตามที่ผู้บริหารเห็นสมควร  ต่อมาเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้จัดประชุมร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหารของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีโดยนำข้อเสนอการย้ายของข้าราชการมาประกอบการพิจารณา  ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบให้ย้ายข้าราชการเพื่อความเหมาะสมและประโยชน์ของทางราชการ เพื่อผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพขององค์กร จำนวน 11 ราย รวมถึงย้ายนาย จ. ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานการเมือง 3 (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ)  และเห็นชอบให้คัดเลือกข้าราชการเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษที่ว่าง จำนวน 1 ตำแหน่ง  หลังจากนั้น สำนักงานเลขาธิการได้มีหนังสือเสนอเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการย้ายข้าราชการตามมติที่ประชุม  โดยเสนอเหตุผลประกอบการพิจารณาย้ายว่า เพื่อความเหมาะสมและประโยชน์ของทางราชการ เพื่อผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพขององค์กร  เลขาธิการนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยจึงได้มีคำสั่งย้ายข้าราชการตามที่สำนักงานเลขาธิการเสนอซึ่งรวมถึงการย้ายนาย จ.  ผู้ร้องทุกข์เห็นว่า การที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งย้ายนาย จ. ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานการเมือง 3 (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ) โดยไม่ใช้วิธีสอบคัดเลือกข้าราชการเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังเช่นเมื่อครั้งที่ผ่านมา  ทำให้ผู้ร้องทุกข์ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกลุ่มประสานงานการเมือง 3 ถูกกระทบสิทธิที่จะสามารถสมัครเข้ารับคัดเลือกเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้หากใช้วิธีการสอบคัดเลือกดังที่ผ่านมา  จึงได้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.
 

คำวินิจฉัย

            ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า  ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 42 มาตรา 63 มาตรา 132 วรรคหนึ่ง และมาตรา 137  ประกอบหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 4 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ นร 1006/ว 7 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2552 และ ที่ นร 1006/ว 16 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2552 ได้กำหนดแนวทางการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ไว้ในประการต่าง ๆ กล่าวคือ  การดำเนินการเลื่อนข้าราชการประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ  การดำเนินการย้ายข้าราชการประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ  การดำเนินการบรรจุผู้เคยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญกลับเข้ารับราชการ  และการดำเนินการรับโอนข้าราชการประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษจากส่วนราชการอื่นมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ  ในการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ในครั้งนี้  เลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้เลือกใช้แนวทางการย้ายข้าราชการประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง  โดยมีเหตุผลประกอบการพิจารณาเลือกแนวทางนี้ว่า เป็นไปเพื่อความเหมาะสมและประโยชน์ของทางราชการ เพื่อผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพขององค์กร และเพื่อให้ข้าราชการมีประสบการณ์ในงานที่หลากหลายตามแนวทางที่ ก.พ. กำหนด  ซึ่งเป็นกรณีที่สามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเป็นแนวทางที่มีกำหนดไว้ในหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 7 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2552 ข้อ 1 ข. (2) (2.2) ในเรื่องการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทเดียวกัน กรณีการย้ายในตำแหน่งประเภทวิชาการไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการ และระดับชำนาญการพิเศษ  กรณีนี้จึงหาใช่จะต้องดำเนินการแต่งตั้งได้เฉพาะวิธีการเลื่อนข้าราชการขึ้นไปแต่งตั้งโดยคัดเลือกข้าราชการระดับชำนาญการเข้ารับการประเมินผลงานเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเช่นที่ผ่านมาตามที่ผู้ร้องทุกข์ประสงค์ให้เกิดขึ้นไม่  และแม้ว่าที่ผ่านมาสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจะเลือกใช้วิธีการประกาศรับสมัครข้าราชการเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่เป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์อันเป็นวิธีการตามแนวทางแรก  แต่ก็หามีผลผูกพันให้ต้องดำเนินการโดยใช้วิธีการเช่นเดียวในทุกครั้ง  ซึ่งการจะเลือกใช้วิธีการตามแนวทางใดย่อมขึ้นอยู่กับเหตุผลความจำเป็น สถานการณ์ ความเหมาะสม เป็นคราวไป โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพขององค์กรและลักษณะของงานด้วย  ดังนั้น การที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเลือกใช้วิธีการย้ายข้าราชการในครั้งนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบและเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้องทุกข์ 
            เมื่อการแต่งตั้งนาย จ. ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานการเมือง 3 (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ) กองประสานงานการเมือง ในครั้งนี้ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ใช้วิธีการย้ายข้าราชการประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง  ซึ่งตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 7 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2552 ข้อ 1 ข. (2) (2.2) ได้กำหนดว่าการย้ายไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษ ให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 10 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548  เมื่อนำหลักเกณฑ์และวิธีการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ฉบับดังกล่าวมาใช้บังคับกับย้ายนาย จ. ซึ่งเป็นการย้ายข้าราชการพลเรือนสามัญไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในกรมเดียวกันแล้ว และเป็นการย้ายเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่ไม่สูงกว่าเดิม  ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1 ของหนังสือสำนักงาน ก.พ. ฉบับดังกล่าวได้กำหนดว่า อ.ก.พ. กรมหรือคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลจะกำหนดให้มีการคัดเลือกบุคคลโดยวิธีการอย่างใดก็ได้ตามความเหมาะสม  ส่วนการประเมินผลงานเพื่อย้ายนั้น  เมื่อเป็นการย้ายในตำแหน่งระดับเดียวกันและจัดอยู่ในกลุ่มตำแหน่งเดียวกัน  ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 3 ได้กำหนดว่า เมื่อผ่านการพิจารณาคัดเลือกตามวิธีการที่ อ.ก.พ. กรม หรือคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลกำหนดแล้ว ให้แต่งตั้งได้โดยไม่ต้องมีการประเมินผลงาน  ซึ่งในเรื่องนี้ อ.ก.พ. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศ ลงวันที่ 8 มีนาคม 2553 กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการและชำนาญการพิเศษ โดยมีเนื้อหาสอดคล้องและเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลงานเพื่อย้าย โอน หรือบรรจุกลับ ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 3 ของหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 10 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548  นอกจากนี้ อ.ก.พ. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการและชำนาญการพิเศษ  และคณะกรรมการคัดเลือกได้ออกประกาศ ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2558 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเพื่อย้าย โอน และบรรจุกลับเข้ารับราชการของข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์หรือตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ (ตำแหน่งประเภทวิชาการ) ในระดับเดียวกัน และจัดอยู่ในกลุ่มตำแหน่งเดียวกันฯ  โดยประกาศดังกล่าวกำหนดในเรื่องการย้ายข้าราชการไว้ประการหนึ่งว่า กรณีการย้ายเพื่อความเหมาะสมและประโยชน์ของทางราชการ เพื่อผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพขององค์กร เพื่อการพัฒนาข้าราชการในการเรียนรู้การปฏิบัติงานที่หลากหลาย และเพื่อการสับเปลี่ยนหมุนเวียนการปฏิบัติงาน  ให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งเป็นผู้พิจารณา  โดยการย้ายดังกล่าวให้คำนึงถึงคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง รวมถึงความรู้ความสามารถ และประโยชน์ที่ทางราชการจะได้รับ โดยระบุเหตุผลในการพิจารณาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรด้วย  ซึ่งประกาศดังกล่าวถือเป็นการออกหลักเกณฑ์และวิธีการโดยอาศัยอำนาจตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1 ของหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 10 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548 ที่ว่า อ.ก.พ. กรมหรือคณะกรรมการคัดเลือกจะกำหนดวิธีการอื่น ๆ ตามความเหมาะสมก็ได้  และเมื่อประกาศ อ.ก.พ.ฯ และประกาศคณะกรรมการคัดเลือกดังกล่าวได้มีการประกาศให้ข้าราชการในสังกัดทราบทั่วกันแล้ว  การย้ายข้าราชการประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จึงต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กำหนดไว้ในประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าว  ซึ่งข้อเท็จจริงในเรื่องการย้ายนาย จ. ไปดำรงตำแหน่งในครั้งนี้  เมื่อการย้ายนาย จ. เป็นการย้ายในระดับเดียวกันและเป็นตำแหน่งเดียวกัน และเป็นการย้ายเพื่อความเหมาะสมและประโยชน์ของทางราชการ เป็นการพัฒนาข้าราชการในการเรียนรู้การปฏิบัติงานที่หลากหลาย และเพื่อการสับเปลี่ยนหมุนเวียนการปฏิบัติงาน  เลขาธิการนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ จึงเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาตามที่ประกาศคณะกรรมการคัดเลือกกำหนดไว้  และเมื่อนาย จ. ผ่านการพิจารณาคัดเลือกตามวิธีการที่คณะกรรมการคัดเลือกกำหนด  จึงแต่งตั้งนาย จ. ได้โดยไม่ต้องมีการประเมินผลงาน  ดังนั้น การดำเนินการเพื่อย้ายนาย จ. ไปดำรงตำแหน่งในครั้งนี้จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ. กำหนดในหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 10 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548 แล้ว  และแม้ว่าการย้ายครั้งนี้จะทำให้ผู้ร้องทุกข์ถูกกระทบสิทธิที่จะสามารถสมัครเข้ารับคัดเลือกเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้หากใช้วิธีการสอบคัดเลือกดังที่ผ่านมา  ก็หาทำให้การย้ายครั้งนี้ไม่สอดคล้องกับระบบคุณธรรม  เพราะการที่ผู้ร้องทุกข์จะมีความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการรวมทั้งได้รับการเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นหรือไม่ ย่อมต้องเป็นไปตามหลักความรู้ความสามารถอันเป็นไปตามระบบคุณธรรม  นอกจากนี้ ในการพิจารณาย้ายครั้งนี้เลขาธิการนายกรัฐมนตรียังได้เห็นชอบให้คัดเลือกข้าราชการระดับชำนาญการเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ จำนวน ๑ ตำแหน่ง และผู้ร้องทุกข์ก็มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งดังกล่าวได้  อันทำให้เห็นว่าผู้ร้องทุกข์ก็ได้รับโอกาสที่จะมีความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการอยู่แล้ว  ดังนั้น การดำเนินการของเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจึงหาใช่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมกับผู้ร้องทุกข์แต่อย่างใด  ด้วยเหตุผลดังกล่าว ก.พ.ค. จึงเห็นว่าคำร้องทุกข์ฟังไม่ขึ้น  และมีวินิจฉัยให้ยกคำร้องทุกข์

 

วันที่