Skip to main content
x

 

อธิบดีไม่เสนอรายชื่อให้เข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการสูง

 

เรื่องดำที่ 6020132 เรื่องแดงที่ 0008261 
ผลคำวินิจฉัย    ไม่รับเรื่องร้องทุกข์ไว้พิจารณา  
กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง  
  1. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
  2. กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551
  3. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708.1/ว 22 ลงวันที่ 30 กันยายน 2540
  4. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1003/ ว 22 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2553

 

                   การคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการสูง โดยเฉพาะกรณีที่มีตำแหน่งว่างที่กรมนั้น จะมีอยู่สองขั้นตอน คือ ขั้นตอนการพิจารณาในชั้นกรม และขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งแต่งตั้งโดย อ.ก.พ. กระทรวง  แม้ตำแหน่งดังกล่าวปลัดกระทรวงจะเป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง แต่ขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกในชั้นกรมและชั้นกระทรวงสามารถแยกพิจารณาออกจากกันได้  ซึ่งในชั้นกรม อธิบดีมีดุลยพินิจที่จะเสนอรายชื่อพิจารณา รายใดก็ได้ ดังนั้นการที่อธิบดีไม่ได้เสนอชื่อข้าราชการรายใดเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ประเภทอำนวยการ ระดับสูง ถือว่าเหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของอธิบดี ซึ่งการร้องทุกข์ที่เหตุเกิดจากอธิบดี อยู่ในอำนาจการพิจารณาของปลัดกระทรวง ไม่ใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยของ ก.พ.ค.
 

ข้อเท็จจริง

                กระทรวง ส. ได้มีประกาศคณะกรรมการคัดเลือกเพื่อเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนัก (ประเภทอำนวยการ ระดับสูง) ในกรม ง. โดยในประกาศดังกล่าวกำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมเสนอรายชื่อข้าราชการในกรมของตนเองที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งให้ปลัดกระทรวง ส. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ต่อมาปลัดกระทรวง ส. ได้มีคำสั่งให้นาย ร. วิศวกรชำนาญการพิเศษ  ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักดังกล่าว ผู้ร้องทุกข์  ซึ่งดำรงตำแหน่งวิศวกรชำนาญการพิเศษ  เห็นว่าการคัดเลือกครั้งนี้ไม่เปิดโอกาสให้ข้าราชการที่มีคุณสมบัติครบถ้วนคนอื่นๆ ได้มีโอกาสสมัครอย่างเท่าเทียมตามสิทธิ คำสั่งแต่งตั้งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว 
 

คำวินิจฉัย

               ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 122 และกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มิได้กำหนดให้ผู้ร้องทุกข์มีสิทธิร้องทุกข์ได้เฉพาะกรณีคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชาโดยผลของคำสั่งทางปกครองเท่านั้น แต่หากผู้บังคับบัญชาปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาในกรณีอื่นซึ่งทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความคับข้องใจก็มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ได้เช่นเดียวกัน ส่วนผู้ร้องทุกข์จะร้องทุกข์ต่อผู้ใดนั้น ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าเหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาระดับใด 
               สำหรับเรื่องนี้เป็นการคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับสูง  ซึ่งแม้อำนาจในการออกคำสั่งแต่งตั้งให้นาย ร. ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจะเป็นอำนาจของปลัดกระทรวง ส. ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708.1/ว 22 ลงวันที่ 30 กันยายน 2540 และหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1003/ ว 22 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2553 ที่วางหลักเกณฑ์การปฏิบัติในการดำเนินการคัดเลือกเพื่อเลื่อนข้าราชการพลเรือนสามัญขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูงไว้ว่า กระทรวงจะเป็นผู้กำหนดจำนวนรายชื่อผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับการแต่งตั้งจำนวน 1 หรือ 2 ชื่อ ต่อหนึ่งตำแหน่ง และกำหนดระยะเวลาให้กรมในสังกัดเสนอรายชื่อและแจ้งทุกกรมในสังกัด ซึ่งกรมจะต้องเสนอรายชื่อไปยังกระทรวงไม่เกินจำนวนที่กระทรวงกำหนด หากกรมใดไม่ประสงค์จะส่งรายชื่อหรือส่งไม่ครบตามจำนวนที่กระทรวงกำหนดก็ให้แจ้งกระทรวงทราบพร้อมระบุเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรไปด้วย นอกจากนี้ในหนังสือของสำนักงาน ก.พ. ดังกล่าวยังกำหนดวิธีการคัดเลือกไว้ด้วยว่าการพิจารณาเสนอรายชื่อ นั้น กรมอาจกำหนดวิธีการคัดเลือกที่เหมาะสม เช่น สอบคัดเลือก สัมภาษณ์ หรืออาจใช้วิธีการอื่นใดก็ได้ และเมื่อกรมเสนอชื่อมาแล้วคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งแต่งตั้งโดย อ.ก.พ. กระทรวง ก็จะประเมินและคัดเลือกผู้ซึ่งได้รับการเสนอชื่อทุกคนแล้วคัดเลือกให้เหลือผู้ซึ่งเหมาะสมเสนอไปยังปลัดกระทรวง กรณีจึงทำให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามุ่งหมายที่จะให้เป็นอำนาจในดุลยพินิจของกรมโดยแท้ในการพิจารณาคัดเลือกเสนอรายชื่อข้าราชการผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับการแต่งตั้ง และแม้จะมีคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งแต่งตั้งโดย อ.ก.พ. กระทรวง เป็นผู้พิจารณาประเมินและคัดเลือก กลั่นกรองก่อนที่จะเสนอปลัดกระทรวงต่อไปก็ตาม แต่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ต้องพิจารณาประเมินและคัดเลือกจากผู้ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากกรมเท่านั้น นอกจากนี้แม้แต่ในชั้นการพิจารณาของปลัดกระทรวงภายหลังจากที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ส่งรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกฯ มาให้แล้ว หากปลัดกระทรวงพิจารณาแล้วเห็นว่ารายชื่อที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ เสนอมานั้นยังไม่เหมาะสม ก็สามารถทำได้โดยปรึกษากับประธานกรรมการหรือส่งให้คณะกรรมการพิจารณาใหม่ตามที่เห็นสมควร จากนั้นเมื่อพิจารณาเห็นชอบด้วยแล้วก็จะดำเนินการตามขั้นตอนการแต่งตั้งต่อไป ซึ่งเห็นได้ว่าปลัดกระทรวงไม่มีอำนาจที่จะยกเลิกเพิกถอนหรือสั่งให้กรมพิจารณาเสนอชื่อขึ้นมาใหม่ได้ ปลัดกระทรวงจะพิจารณาภายในกรอบรายชื่อที่กรมเสนอมาเบื้องต้นและคณะกรรมการคัดเลือกฯ เสนอรายชื่อมาเท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ปรากฏว่าอธิบดีกรม ง. ไม่ได้เสนอชื่อผู้ร้องทุกข์ไปยังกระทรวง ส. เพื่อให้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักดังกล่าว จึงถือว่าการกระทำที่เป็นเหตุให้มีการร้องทุกข์เกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของอธิบดีกรม ง. ซึ่งปลัดกระทรวง ส. เท่านั้นที่มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์นี้ ก.พ.ค. ไม่มีอำนาจวินิจฉัยแต่อย่างใด ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกรายงานกระบวนพิจารณาที่รับเรื่องร้องทุกข์นี้ไว้พิจารณาและสั่งจำหน่ายเรื่องร้องทุกข์ออกจากสารบบ 
 
วันที่