Skip to main content
x

 

การฟังข้อเท็จจริงในการออกคำสั่งลงโทษทางวินัยจากคำพิพากษาของศาลยุติธรรม

 

เรื่องดำที่  5910186  เรื่องแดงที่  0048161
ผลคำวินิจฉัย ยกโทษ
การดำเนินการทางวินัย ต้นสังกัดดำเนินการเอง
 
           อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์ พิจารณาออกคำสั่งลงโทษทางวินัยโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่าผู้อุทธรณ์กระทำความผิดอาญา โดยที่ อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์ ไม่ทราบว่าในขณะนั้นศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นยกฟ้องแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์รับฟังเป็นที่ยุติว่า ผู้อุทธรณ์ไม่ได้กระทำความผิดอาญาประกอบกับการสอบสวนทางวินัยยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเพียงพอที่จะฟังได้ว่าผู้อุทธรณ์กระทำความผิดวินัย การสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วโดยคำพิพากษา จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
 

ข้อเท็จจริง

          ขณะที่ ผู้อุทธรณ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานอบรมและฝึกวิชาชีพชำนาญงาน เรือนจำแห่งหนึ่ง โดยปฏิบัติหน้าที่ประจำฝ่ายควบคุมและรักษาการณ์ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่เวรกลางคืน เวลาประมาณ 05.55 น. ผู้อุทธรณ์ได้ออกไปภายนอกเรือนจำโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพัศดีเวร โดยไปที่บ้านพักเรือนจำ นำเสื้อผ้าใส่ตะกร้าและนำกลับเข้ามาในเรือนจำเพื่อให้นักโทษทำการซักรีด เจ้าหน้าที่ ก. ผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรประจำประตู 1-2 ได้ทำการตรวจค้นเสื้อผ้าและตะกร้าผ้า รวมทั้งร่างกายของผู้อุทธรณ์แล้วไม่พบสิ่งของต้องห้าม จากนั้นผู้อุทธรณ์ได้นำตะกร้าผ้าไปวางบริเวณหน้าประตูแดนหญิงโดยยังไม่ผ่านการตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่เวรประจำประตู 3 ต่อมาเวลาประมาณ 07.50 น. เจ้าหน้าที่ ว. ผู้ปฏิบัติหน้าที่เวรแดนหญิง ได้ควบคุม น.ญ.ส. และ น.ญ.น.ให้นำตะกร้าผ้าของเจ้าหน้าที่เข้ามาทำการซักรีดจำนวน 3 ใบ ซึ่งมีตะกร้าผ้าของผู้อุทธรณ์รวมอยู่ด้วย เมื่อ น.ญ.ส. ทำการตรวจค้นเสื้อผ้าในตะกร้าของผู้อุทธรณ์พบหลอดกาแฟยาวประมาณ 3 ซม. ลักษณะปิดหัวท้ายและภายในหลอดมีเม็ดยาสีส้มมีตัวอักษร wy จำนวน ๓ เม็ดเรียงติดกัน น.ญ.ส. จึงได้มอบให้กับ น.ญ.น. และ น.ญ.น.นำมาส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ ว. เพื่อรายงานให้ผู้บังคับแดนหญิงและพัศดีเวรทราบ จากนั้น ผู้บัญชาการเรือนจำจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงซึ่งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเห็นว่ายาเม็ดสีส้มจำนวน 3 เม็ด ซึ่งอยู่ในกระเป๋าเสื้อของผู้อุทธรณ์เป็นยาบ้า อธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ และมีคำสั่งให้ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการไว้ก่อนจนกว่าจะมีผลการสอบสวน คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้อุทธรณ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมีพฤติกรรมในการครอบครองยาเสพตโดยนำไปใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อและนำไปซักรีดภายในเรือนจำ แม้จะปราศจากพยานหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าผู้อุทธรณ์มีเจตนาที่จะนำยาเสพติดเข้าไปให้ผู้ต้องขังหรือมีพฤติกรรมในการเสพยาเสพติดหรือจำหน่ายยาเสพติด แต่พยานหลักฐานที่มีก็ทำให้เชื่อได้ว่าผู้อุทธรณ์มีส่วนเกี่ยวข้องในการครอบครองยาเสพติด อันเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นข้าราชการแล้ว พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์จึงเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  เห็ควรไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ต่อมา อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์ มีมติให้ดำเนินการสอบ หาพยานหลักฐานเพิ่มเติม รวมทั้งสำนวนการสอบสวนและผลคดีอาญามาประกอบการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งต่อมา ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าศาลจังหวัด ช. ได้มีคำพิพากษา ให้จำคุกผู้อุทธรณ์ 2 ปี ในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษชนิดเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตพิพากษาให้จำคุก 1 ปี และฐานนำของต้องห้ามนำเข้าไปในเรือนจำให้จำคุก 1 ปี อธิบดีกรมราชทัณฑ์โดยมติ อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์ จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะที่ อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์ พิจารณาไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ นั้น ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องแล้ว
 

คำวินิจฉัย

          ก.พ.ค. เสียงข้างมากพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ สร 0904/4 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2509 ที่ระบุว่าในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ข้าราชการที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญาว่าการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยไม่จำเป็นต้องรอฟังผลทางคดีอาญา นั้น เป็นกรณีที่ผลการสอบสวนทางวินัยปรากฏพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักและมีความเชื่อมโยงจนฟังเป็นที่ยุติได้ว่าผู้อุทธรณ์ กระทำความผิดวินัย ซึ่งในกรณีนี้ อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์ พิจารณาพยานหลักฐานจากการสอบสวนแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะพิจารณาลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการได้ จึงให้ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมว่าผู้อุทธรณ์มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือไม่ กับให้ติดตามผลคดีอาญามาประกอบการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และผลการสอบสวนไม่ปรากฏว่าผู้อุทธรณ์มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ส่วนคดีอาญามีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าผู้อุทธรณ์ถูกศาลจังหวัด ช. พิจารณาพิพากษาลงโทษจำคุกผู้อุทธรณ์ อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์จึงฟังว่าผู้อุทธรณ์กระทำความผิดจริงตามคำพิพากษาของศาลอันเป็นการลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุก โดยที่อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์ไม่ทราบว่าในขณะนั้น คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวได้ถูกกลับโดยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้ว หาก อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์ ได้รู้ก่อนประชุมพิจารณาลงโทษว่า ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วก็คงไม่ลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้อุทธรณ์ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา จึงไม่อาจลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการได้ ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกโทษตามข้อ 86 ก. (4) ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551

 

วันที่