Skip to main content
x

 

ระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์

 

                      ครั้งนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” ขอกล่าวถึงเรื่อง “ระยะเวลาอุทธรณ์” เนื่องจากยังมีหลายท่าน ที่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อกฎหมายดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องทำนองนี้ไว้เสร็จสิ้นแล้ว จึงคิดว่าบทความนี้น่าจะมีประโยชน์กับทุกท่าน
                      ก่อนอื่นต้องขอกล่าวถึงข้อกฎหมายในเรื่องนี้ก่อนว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  มาตรา 114 ได้บัญญัติสาระสำคัญไว้ว่า ผู้ใดถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้หรือถูกสั่งให้ออกตามมาตรา 110 (1) (3) (5) (6) (7) และ (8) ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งลงโทษ โดยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค. ซึ่งกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551 ข้อ 29 (1) ก็ได้กำหนด เกี่ยวกับระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ มีสาระสำคัญว่า การอุทธรณ์ต้องยื่นภายในกำหนดระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์  ดังนั้นผู้ที่ถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับนี้ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการตามที่กฎหมายกำหนด หากประสงค์ที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ก็จะต้องยื่นภายในระยะเวลาสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้ทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์นั้น  ตัวอย่างเช่น นางสาวสมศรี  ถูกสั่งลงโทษปลดออกจากราชการเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 และรับทราบคำสั่งลงโทษดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2562  หากนางสาวสมศรี ประสงค์ที่จะอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.พ.ค. ก็จะต้องยื่นหนังสืออุทธรณ์ภายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562
                      อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551 ข้อ 6  กำหนดว่า ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในกฎ ก.พ.ค. นี้หรือตามที่ประธาน ก.พ.ค. เห็นสมควร หรือหากคู่กรณีมีคำขอ ประธาน ก.พ.ค. มีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ดังนั้น จึงมีประเด็นแห่งความสงสัยเกิดขึ้นว่าระยะเวลาอุทธรณ์สามสิบวันที่ได้กำหนดไว้ใน ข้อ 29 (1) ประธาน ก.พ.ค. สามารถย่นหรือขยายเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามข้อ 6 ของกฎ ก.พ.ค. ฉบับเดียวกันได้หรือไม่
                      เรื่องนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้เป็นประเด็นหนึ่งในคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อบ. 45/2561 โดยเห็นว่าแม้ข้อ 29 (1) ของกฎ ก.พ.ค. ดังกล่าว จะได้กำหนดระยะเวลาการอุทธรณ์ไว้ด้วยก็ตาม แต่การกำหนดระยะเวลาไว้เช่นนี้เป็นเพียงการนำระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 114 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มากำหนดไว้เป็นระยะเวลาการดำเนินการยื่นอุทธรณ์เท่านั้น หาใช่ระยะเวลาตามที่กำหนดในข้อ 6 ของกฎ ก.พ.ค. ดังกล่าว ที่ให้ประธานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็น ประกอบกับข้อ 49 วรรคหนึ่ง (3) ของกฎ ก.พ.ค. ฉบับเดียวกันนี้ ได้กำหนดให้อุทธรณ์ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามรับไว้พิจารณา ดังนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติใดในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 บัญญัติให้มีการย่นหรือขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยไว้ ประธาน ก.พ.ค. จึงไม่มีอำนาจที่จะขยายระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ได้
                      จากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดข้างต้น คงทำให้ระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์นี้ เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า  การยื่นอุทธรณ์ ต้องยื่นภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่ง  โดยไม่สามารถขยายระยะเวลาดังกล่าวได้  ดังนั้น หากผู้มีสิทธิประสงค์จะยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ก็ต้องปฏิบัติตามระยะเวลาที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด มิเช่นนั้น ท่านจะเสียสิทธิในการยื่นอุทธรณ์ได้นะ..ขอบอก...  
ผู้เขียน : จุฑาพิชญ์  สถิรวิสาลกิจ                    
ประเภทเนื้อหา
วันที่