Skip to main content
x

 

กรรมการสอบข้อเท็จจริงและกรรมการสอบสวนวินัยเป็นบุคคลเดียวกันได้หรือไม่???

 

เรื่องดำที่  5810148  เรื่องแดงที่  0102160
ผลคำวินิจฉัย  ยกเลิกคำสั่งและให้ดำเนินการใหม่
การดำเนินการทางวินัย  ต้นสังกัดดำเนินการเอง

 

ข้อเท็จจริง
                        ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดปทุมธานีได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีบุคคลต่างด้าวสัญชาติอินเดียมายื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสกับบุคคลสัญชาติไทยมากผิดปกติ อาจมีเจตนาแอบแฝงในทางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จังหวัดปทุมธานีจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ประกอบด้วย  1. นาย พ. ปลัดจังหวัดปทุมธานี เป็นประธาน  2. นาย ส. นายอำเภอเมืองปทุมธานี เป็นกรรมการ  3. นาย ข. ปลัดอำเภอ หัวหน้ากลุ่มบริหารงานปกครอง เป็นกรรมการ  4. นาย ท. จ่าจังหวัดปทุมธานี เป็นกรรมการ  5. นาง อ. เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ เป็นกรรมการ  และ 6. นาย ก. นิติกรชำนาญการ เป็นกรรมการและเลขานุการ  คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงพิจารณาแล้วเห็นว่า  การดำเนินการรับจดทะเบียนสมรสให้กับบุคคลต่างด้าวสัญชาติอินเดียกับบุคคลสัญชาติไทยในครั้งนี้ได้ดำเนินการโดยผู้อุทธรณ์ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอลำลูกกา (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษ) ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตรอำเภอเมืองปทุมธานี และเจ้าหน้าที่อื่น  โดยได้รับจดทะเบียนสมรสระหว่างวันที่ 2 กรกฎาคม – 14 สิงหาคม 2557 จำนวน 267 ราย  และผู้อุทธรณ์ลงนามในฐานะนายทะเบียนโดยไม่มีอำนาจ ไม่มีการสอบสวนบันทึก ปค.14 ไม่มีหนังสือรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลของผู้ร้อง การจดทะเบียนดังกล่าวมีนายหน้าเป็นผู้นำเอกสารหลักฐานของคู่สมรสมาดำเนินการโดยไม่ผ่านขั้นตอนการปฏิบัติงานตามระบบงานปกติในการจดทะเบียนสมรส  พฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นการจงใจไม่ดำเนินการตามระเบียบและกฎหมาย  เป็นการอำนวยความสะดวกเกินสมควรแก่ผู้มาติดต่อกับบริษัทนายหน้า  และบริษัทนายหน้าได้จัดทำใบรับรองสถานภาพบุคคลต่างด้าวสัญชาติอินเดียโดยรับรองข้อความอันเป็นเท็จเพื่อใช้แสดงต่อนายทะเบียนอำเภอ  กรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง  จึงเสนอความเห็นว่าควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง  ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีพิจารณาแล้วจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ ประกอบด้วย  1. นาย ท. จ่าจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานกรรมการ  2. นาย ว. เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ เป็นกรรมการ  3. นางสาว ป. เจ้าพนักงานปกครองปฏิบัติการ เป็นกรรมการ  และ 4. นาง อ. เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ รักษาการในตำแหน่งนิติกรชำนาญการ เป็นกรรมการและเลขานุการ  คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงพิจารณาแล้วมีความเห็นโดยสรุปว่า  ผู้อุทธรณ์ได้ดำเนินการจดทะเบียนสมรสให้กับบุคคลต่างด้าวสัญชาติอินเดียโดยไม่มีอำนาจ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผนของทางราชการ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง  พฤติการณ์เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง  ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และระเบียบแบบแผนของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง  ฐานอาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น  และฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต  ตามมาตรา 82 (2) (3) มาตรา 83 (3) มาตรา 84 และมาตรา 85 (1) (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  สมควรลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ  ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย  จึงได้นำเสนอ อ.ก.พ.จังหวัดพิจารณา  ซึ่ง อ.ก.พ.จังหวัดพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย  ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีจึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ 
 
คำวินิจฉัย
                        ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า  คำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการมีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้อุทธรณ์  จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539  การดำเนินการสอบสวนทางวินัยและการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง จึงเป็นการพิจารณาทางปกครอง ซึ่งบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการให้พิจารณาทางปกครองจะต้องมีความเป็นกลาง  หากผู้นั้นไม่มีความเป็นกลางตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว  หรือมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ผู้นั้นจะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้ ประกอบกับข้อ 54 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ได้กำหนดระยะเวลาการสอบสวนรวมทั้งหมดเป็นเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมคณะกรรมการสอบสวนครั้งแรก  แต่ถ้าหากยังไม่แล้วเสร็จก็ยังดำเนินการต่อไปได้อีก เพียงแต่ต้องรายงานให้ อ.ก.พ.กระทรวง ที่ผู้ถูกกล่าวหาสังกัดอยู่ทราบเพื่อติดตามเร่งรัดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วต่อไป  ดังนั้น การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์จึงไม่มีความจำเป็นถึงขนาดหากปล่อยให้ล่าช้าไปจะเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ หรือสิทธิของบุคคลจะเสียหายโดยไม่มีทางแก้ไข  อีกทั้งในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งนาย ท. และนาง อ.  ซึ่งเคยเป็นกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์มาเป็นกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์อีก เพราะข้าราชการพลเรือนสามัญในจังหวัดปทุมธานีซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อุทธรณ์ หรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนิติกร หรือได้รับปริญญาทางกฎหมายมีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทน นาย ท. และนาง อ. ได้ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539  การที่คู่กรณีในอุทธรณ์มีคำสั่งแต่งตั้งนาย ท. และนาง อ. เป็นกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์อีก จึงทำให้การพิจารณาทางปกครองของนาย ท. และนาง อ. ไม่มีความเป็นกลางตามนัยมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน กล่าวคือ ในการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงซึ่งมีนาย ท. และนาง อ. เป็นกรรมการ มีความเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อุทธรณ์เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีมูลที่ควรกล่าวหาว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัย เห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ เมื่อบุคคลทั้งสองได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงอีก โดยนาย ท. เป็นประธานกรรมการ และนาง อ. กรรมการและเลขานุการ ซึ่งเป็นฐานะที่ถือได้ว่าบุคคลทั้งสองมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการสอบสวน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดทิศทางการสอบสวนหรือการแสวงหาข้อเท็จจริง ประกอบกับบุคคลทั้งสองมีเสียงเป็นกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงจากจำนวนทั้งหมด 4 คน ถือได้ว่าเป็นเสียงข้างมากโดยปริยาย เพราะเมื่อมีการลงมติใด ๆ อันเกี่ยวกับการสอบสวน หากคณะกรรมการมีคะแนนเสียงเท่ากัน คือ สองเสียงต่อสองเสียง ประธานกรรมการสอบสวนก็สามารถใช้สิทธิในการออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด  ทั้งนี้ โดยนัยมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539  ประกอบกับกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ข้อ 63 จึงทำให้ผลการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงย่อมคาดหมายได้อยู่แล้วว่าไม่อาจแตกต่างไปจากผลการสอบสวนข้อเท็จจริง  
                        ดังนั้น กระบวนการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์จึงมิได้กระทำโดยถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น  เมื่อการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ ซึ่งเป็นการพิจารณาทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย  การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีนำผลการสอบสวนดังกล่าวมาใช้พิจารณาลงโทษทางวินัยผู้อุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้คำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย  การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ก.พ.ค. จึงวินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว และให้ไปดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
 
วันที่