Skip to main content
x

 

ไม่ใช่เงินของทางราชการ ก็ผิดทุจริต??

 

                  “ก.พ.ค. ขอบอก” วันนี้ ขอพูดถึงพฤติการณ์ที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดวินัย “ฐานทุจริต” อีกครั้ง เนื่องจากมีอีกหลายท่านที่ยังไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมแบบใด ที่จะถือว่าเข้าข่ายเป็นความผิดฐานทุจริต  โดยในวันนี้ได้ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับเงิน แต่เงินนั้นไม่ใช่เป็นของราชการ (เงินงบประมาณ) โดยตรง แบบนี้ถ้าบุคคลที่มีหน้าที่ดูแลเก็บรักษาเอาเงินดังกล่าวไปเป็นของตัวเอง จะผิดฐานทุจริตหรือไม่
                   นาง อ. ข้าราชการของหน่วยงานในจังหวัดแห่งหนึ่ง ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต กรณีดำรงตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มีหน้าที่รับผิดชอบงานการเงินของโรงพยาบาลได้รับเงินประกันสัญญาลูกจ้างชั่วคราวของลูกจ้างชั่วคราวแล้วไม่นำเงินดังกล่าวนำฝากเข้าบัญชีเงินบำรุงของโรงพยาบาล หรือนำฝากคลังจังหวัด แต่กลับนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากของตนเอง โดยมีเจตนาเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ถึงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙
                   นาง อ. ได้มายื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษเรื่องนี้ต่อ ก.พ.ค. โดยอ้างว่าที่ประชุมของคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาล  มีมติว่า ในการรับลูกจ้างชั่วคราวเข้าทำงานนั้น ให้มีเงินประกันสัญญาจ้างจำนวน ๓,๕๐๐ บาท ต่อราย หากไม่มีเงินชำระทั้งจำนวนในคราวเดียวกันก็ให้หักจากค่าจ้างรายเดือนในอัตราเดือนละ ๕๐๐ บาท จนกว่าจะครบจำนวน ๓,๕๐๐ บาท หากลูกจ้างชั่วคราวรายใดลาออกจากงานตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาก็ให้คืนเงิน แต่หากรายใดออกจากงานไม่เป็นไปตามเงื่อนไขก็ให้ยึดเงินประกันสัญญา โดยในที่ประชุมมอบหมายให้ผู้อุทธรณ์เป็นผู้รับผิดชอบในการนำเงินที่ลูกจ้างชั่วคราวชำระครบ ๓,๕๐๐ บาท ในคราวเดียวไปฝากคลังจังหวัด แต่ไม่ได้กำหนดวิธีการกรณีลูกจ้างชั่วคราวยังชำระไม่ครบในคราวเดียวว่าหลังจากหักเงินค่าจ้างรายเดือนจากลูกจ้างแล้ว ระหว่างที่ยังเก็บไม่ครบรายละ ๓,๕๐๐ บาท จะเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้ที่ใด ตนจึงแก้ไขด้วยการนำเงินดังกล่าวฝากไว้ในบัญชีส่วนตัวของตนเองก่อน โดยเปิดเผยให้ผู้ร่วมงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ นอกจากนี้เมื่อลูกจ้างชั่วคราวลาออกซึ่งจะต้องมีการคืนเงินประกัน ตนได้ชี้แจงให้ผู้ร่วมงานทราบว่าจะต้องดำเนินการตามระบบและระเบียบของการสั่งจ่าย กระบวนการดังกล่าวมีหลักฐานการรับเงินอย่างถูกต้อง ตนไม่ได้เก็บเงินหรือซุกซ่อนเงินค่าประกันไว้ใช้เป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด อีกทั้งตนได้นำเงินประกันทั้งหมดในบัญชีเงินฝากส่วนตัวคืนให้แก่คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลแล้ว
                  ก.พ.ค. พิจารณาแล้ว เห็นว่า ผู้อุทธรณ์ มีหน้าที่รับผิดชอบงานการเงินของโรงพยาบาล และมีหน้าที่ในการจ่ายเงินคืนให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวกรณีที่ลูกจ้างชั่วคราวออกจากงานตามเงื่อนไขที่กำหนด ผู้อุทธรณ์จึงเป็นผู้มีหน้าที่ราชการในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว เมื่อผู้อุทธรณ์ได้รับโอนหรือนำเข้าเงินประกันสัญญาจ้าง กรณีหักจากค่าจ้างรายเดือนของลูกจ้างชั่วคราว เดือนละ ๕๐๐ บาท จนกว่าจะครบ ๓,๕๐๐.- บาท เข้าบัญชีของตนเองซึ่งเป็นบัญชีที่ใช้กู้เงินธนาคาร โดยไม่ฝากเข้าบัญชีเงินบำรุงของโรงพยาบาล หรือเก็บเข้าตู้นิรภัยสำหรับเก็บรักษาเงินของทางราชการ หรือแต่งตั้งกรรมการเก็บรักษาเงิน ตามระเบียบการเก็บเงินและนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ ทั้งที่รู้ว่าการนำเงินเข้าบัญชีดังกล่าวย่อมมีดอกผลเกิดขึ้นหรือทำให้จำนวนหนี้ที่ตนเป็นลูกหนี้เงินกู้ธนาคารลดลงหรือเสียดอกเบี้ยน้อยลง และเมื่อหักเงินประกันสัญญาจ้างรายเดือนจากลูกจ้างชั่วคราวจนครบจำนวน ๓,๕๐๐.- บาท แล้ว ก็ไม่นำส่งคลังจังหวัด นอกจากนี้ในการจ่ายเงินคืนให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวกรณีที่ลูกจ้างชั่วคราวออกจากงานตามเงื่อนไขที่กำหนด ก็ไม่มีการดำเนินการตามขั้นตอนการเบิกถอนเงินคืนจากคลังจังหวัดตามระเบียบ และกรณีลูกจ้างออกจากงานไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ซึ่งจะต้องริบเงินประกันสัญญา โดยการเก็บและรักษาเงินดังกล่าวให้นำเงินสดฝากคลังตามระเบียบการเก็บเงินและนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. ๒๕๒๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้อุทธรณ์ได้นำเงินประกันสัญญาจ้างที่จะต้องริบดังกล่าวไปฝากไว้ที่คลังจังหวัดหรือไม่ เนื่องจากเป็นเงินที่รวมอยู่ในเงินประกันสัญญาจ้างกรณีหักจากค่าจ้างรายเดือนของลูกจ้างชั่วคราวที่อยู่ในบัญชีส่วนตัวของผู้อุทธรณ์ทั้งหมด พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์จึงเป็นการแสดงถึงเจตนาปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยไม่ชอบ เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและเป็นประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นความผิดวินัยฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตแล้ว โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินของทางราชการหรือไม่ เนื่องจากกรณีนี้ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเงินบำรุงของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๖ ให้ถือว่าเงินที่ได้จากการริบเงินประกันสัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราวดังกล่าวเป็น “เงินบำรุง” ชนิดหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเงินที่หน่วยบริการ (ในที่นี้คือ โรงพยาบาล) ได้รับไว้เป็นกรรมสิทธิ์ เนื่องจากการดำเนินงานนอกเหนือจากเงินงบประมาณ อย่างไรก็ตาม เงินดังกล่าวยังถูกกำหนดให้ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบการเก็บเงินและนำเงินส่งคลังของส่วนราชการด้วยอยู่แล้ว ดังนั้น จึงวินิจฉัยว่าการที่สั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามมาตรา ๘๕ (๑) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นการดำเนินการโดยถูกต้องเหมาะสมแก่กรณีความผิดแล้ว อุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
                    เรื่องนี้ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นชัดว่าในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการนั้น เมื่อมีหน้าที่ในเรื่องที่เกี่ยวกับเงินแล้ว หากเจตนาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยไม่ชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือเพื่อประโยชน์อันมิควรได้โดยทุจริต ยังไงก็มีความผิดอยู่ดีนะ..ขอบอก…

ผู้เขียน : จุฑาพิชญ์  สถิรวิสาลกิจ

ประเภทเนื้อหา
วันที่