Skip to main content
x

 

กรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง

 

                    “ก.พ.ค. ขอบอก” วันนี้ ขอพูดถึง “กรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง” ซึ่งเป็นคำที่ปรากฏอยู่ใน กฎ ก.พ.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. ๒๕๕๖ ว่ามีความสำคัญอย่างไรในกระบวนการดำเนินการทางวินัย โดยในหมวด ๕ ของกฎฉบับดังกล่าว ได้กล่าวถึงกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งไว้ ดังนี้
                    1.  ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และได้รับสารภาพเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชา หรือให้ถ้อยคำรับสารภาพและได้มีการบันทึกถ้อยคำรับสารภาพเป็นหนังสือหรือมีหนังสือรับสารภาพต่อผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน หรือคณะกรรมการสอบสวนวินัยแล้วถือเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ที่ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จะพิจารณาดำเนินการทางวินัยโดยไม่ต้องสอบสวนหรืองดการสอบสวนก็ได้
                    2.  ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ในกรณีต่อไปนี้ ถือเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 หรือผู้มีอำนาจตามมาตรา 94 จะพิจารณาดำเนินการทางวินัยโดยไม่ต้องสอบสวนหรืองดการสอบสวนก็ได้
                                        2.1  ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวัน โดยไม่กลับมาปฏิบัติหน้าที่ราชการอีกเลย และผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ได้ดำเนินการหรือสั่งให้ดำเนินการสืบสวนแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ
                                        2.2  กระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือให้รับโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
                                        2.3  กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและได้รับสารภาพเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชา หรือได้ให้ถ้อยคำรับสารภาพและได้มีการบันทึกถ้อยคำรับสารภาพเป็นหนังสือหรือมีหนังสือรับสารภาพต่อผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนหรือคณะกรรมการสอบสวนตามกฎ ก.พ. นี้
                   กรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งนี้ ก.พ.ค. เคยพิจารณาวินิจฉัยอยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่องของผู้อุทธรณ์รายหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่ารับชำระเงินค่าภาษีรถประจำปี และค่าธรรมเนียมในการดำเนินการทางทะเบียนแล้วไม่ได้นำส่งให้ทางราชการ แต่ได้เบียดบังเงินดังกล่าวไปใช้เป็นประโยชน์ของตนเอง  กรณีนี้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกรมดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งปรากฏว่าผู้อุทธรณ์รับสารภาพว่าเป็นผู้กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาจริงโดยจะทำเฉพาะกับเรื่องของผู้ประกอบการที่คุ้นเคยและรู้จักกันและนำเรื่องมาให้ผู้อุทธรณ์ช่วยดำเนินการ ผู้อุทธรณ์จึงนำเงินไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้มารดาและชำระหนี้บัตรเครดิตก่อน แต่เมื่อถึงวันที่ต้องชำระภาษี ผู้อุทธรณ์หมุนเงินมาชดใช้ให้ไม่ทัน ในการนี้ผู้ตรวจราชการกรมได้แจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบว่า การให้ถ้อยคำของผู้อุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการรับสารภาพว่าผู้อุทธรณ์กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาโดยการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ซึ่งผู้อุทธรณ์ยังคงยืนยันที่จะรับสารภาพ ทั้งนี้ผู้อุทธรณ์ได้ตรวจสอบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเข้าใจพยานหลักฐานทั้งหมดแล้วมิได้หลงประเด็นในเรื่องที่ถูกกล่าวหา การให้ถ้อยคำรับสารภาพของผู้อุทธรณ์เกิดขึ้นโดยสมัครใจ กรณีดังกล่าวถือเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ซึ่งผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จะพิจารณาดำเนินการทางวินัยโดยไม่ต้องสอบสวน หรือหากได้ดำเนินการสอบสวนไปแล้ว เมื่อผู้ถูกกล่าวหาสารภาพอาจงดการสอบสวนก็ได้ ดังนั้น การที่เรื่องนี้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ของผู้อุทธรณ์ ได้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (1) (4) แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันนี้ตามมติของ อ.ก.พ. กรม จึงถือเป็นกระบวนการดำเนินการทางวินัยที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
                    เรื่องนี้จึงถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าเมื่อมีการรับสารภาพโดยสมัครใจ และมีหลักฐานในการรับสารภาพนั้นแล้ว ผู้มีอำนาจสามารถพิจารณาดำเนินการทางวินัยโดยไม่ต้องสอบสวนหรืองดการสอบสวนก็ได้ นะ..ขอบอก...
ผู้เขียน : จุฑาพิชญ์  สถิรวิสาลกิจ
ประเภทเนื้อหา
วันที่