Skip to main content
x

             

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม??

 

                 “ก.พ.ค. ขอบอก” วันนี้ ขอพูดถึงเรื่องหนึ่งที่แม้จะมีคำวินิจฉัยมานานแล้ว แต่เนื้อหายังเป็นที่น่าสนใจมาบอกเล่าให้ผู้อ่านได้ทราบกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นกรณีที่ข้าราชการรายหนึ่งถูกสั่งลงโทษและอุทธรณ์มายัง ก.พ.ค. โดยอ้างว่าหน่วยงานต้นสังกัดเลือกปฏิบัติต่อตนโดยไม่เป็นธรรม เพราะมีตนเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ถูกลงโทษ แต่คนอื่นไม่ถูกลงโทษ รายละเอียดจะเป็นอย่างไร และ ก.พ.ค. จะวินิจฉัยอย่างไร นั้น ลองมาติดตามอ่านกัน
                   นางสาว อ. เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีชำนาญงาน สังกัดหน่วยงานแห่งหนึ่งถูกลงโทษตัดเงินเดือน 5 % เป็นเวลา 1 เดือน ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดีแก่ทางราชการ ด้วยความไม่เอาใจใส่และไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการ และฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ กรณีที่นางสาว อ. มีหน้าที่รับผิดชอบในการเก็บสมุดบัญชี รับเงินสดและเช็คประจำวันเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ จากหน่วยงานในสังกัด และรวบรวมนำไปฝากกับเจ้าหน้าที่ธนาคารที่จะมารับด้วยตนเองที่ฝ่ายคลังของหน่วยงาน เพื่อนำเงินดังกล่าวเข้าบัญชีธนาคารก่อนที่นางสาว อ. จะนำหลักฐานสำเนาใบนำฝากและสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารไปให้งานบัญชี เพื่อที่งานบัญชีจะได้บันทึกตามระบบบัญชีต่อไป แต่ในช่วงที่เกิดเหตุนางสาว อ. ได้ให้นาย ส. เป็นผู้นำเงินสดและเช็คไปฝากเข้าบัญชีธนาคารและไม่ตรวจสอบสมุดบัญชีเงินฝากและสำเนาใบนำฝากก่อนที่จะส่งมอบให้งานบัญชี ทำให้นาย ส. ไม่นำเงินไปเข้าบัญชีธนาคาร
                   นางสาว อ. ได้มายื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษเรื่องนี้ต่อ ก.พ.ค. โดยอ้างว่าเรื่องนี้เป็นกรณีที่ในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ธนาคารไม่มารับเงินที่ฝ่ายคลังตามปกติ ซึ่งในทางปฏิบัติของหน่วยงาน หัวหน้าฝ่ายคลังได้มอบหมายให้นาย ส. ลูกจ้างประจำ เป็นผู้นำเงินสดและเช็คไปฝากเข้าบัญชีธนาคาร โดยตนจะเป็นผู้รวบรวมยอดเงินที่ได้รับมาในวันนั้น บันทึกลงในระบบ แล้วเขียนใบนำฝากพร้อมทั้งจัดทำใบสรุปการรับ-จ่ายเงิน มอบให้กับฝ่ายบัญชี และจะนำเงินสด เช็ค สมุดบัญชี ใส่ซองพร้อมใบนำฝากเงินมอบให้นาย ส. เป็นผู้นำไปฝากธนาคาร เมื่อนาย ส. นำไปฝากแล้วก็จะมอบสำเนาใบนำฝากเงินสดและสำเนาใบนำฝากเช็คให้กับงานบัญชีโดยตรง มีเพียงสมุดเงินฝากเท่านั้นที่กลับมาอยู่กับตน หากงานบัญชีตรวจสอบก็ย่อมต้องพบความผิดปกติของการนำเงินฝากเข้าธนาคารแน่นอน และการที่ตนถูกลงโทษในกรณีนี้ทั้ง ๆ ที่เวลาที่ตนไม่มาปฏิบัติราชการ แล้วมีเจ้าหน้าที่คนอื่นทำแทนก็ปฏิบัติเช่นนี้เหมือนกัน ทำไมถึงไม่ถูกลงโทษ ถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อตนอย่างไม่เป็นธรรม     
                   ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่านางสาว อ. มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบเงินที่ได้รับจากหน่วยงานต่างๆ ในสังกัด สรุปยอดเงินประจำวัน เขียนใบนำฝาก นำเงินสดและเช็คที่ได้รับไปฝากเข้าบัญชีธนาคาร เก็บสมุดบัญชีเงินฝาก พร้อมทั้งจัดทำใบสรุปการรับ-จ่ายเงินมอบให้กับฝ่ายบัญชี แม้ว่ากรณีนี้เจ้าหน้าที่ธนาคารไม่มารับเงินที่ฝ่ายคลังตามปกติ อีกทั้งหัวหน้าฝ่ายคลังจะได้มอบหมายด้วยวาจาให้นาย ส. เป็นผู้นำเงินสดและเช็คไปฝากเข้าบัญชีธนาคารแทนผู้อุทธรณ์ก็ตาม แต่ผู้อุทธรณ์ในฐานะเจ้าหน้าที่การเงินก็ยังคงมีหน้าที่ดังกล่าวอยู่ จะอ้างว่าตนเองมอบเงินให้นาย ส. แล้ว หน้าที่ของตนสิ้นสุดลงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้อุทธรณ์จึงยังคงมีหน้าที่ตรวจสอบว่าได้มีการนำเงินฝากธนาคารถูกต้องครบถ้วนตามจำนวนแล้วหรือไม่ และไม่ว่างานบัญชีจะตรวจสอบหรือไม่ หรือมีส่วนผิดพลาดด้วยหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผู้อุทธรณ์พ้นความรับผิดไปได้ สำหรับเจ้าหน้าที่คนอื่น ทั้งเจ้าหน้าที่การเงิน หรือเจ้าหน้าที่ในงานบัญชี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อุทธรณ์ในวันที่ผู้อุทธรณ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ จะถูกลงโทษหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าหน้าที่คนนั้นได้กระทำผิดวินัยหรือไม่ และถึงแม้เจ้าหน้าที่ในงานการเงินและงานบัญชีจะมีส่วนในการกระทำผิดวินัยอยู่บ้างก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ เหล่านั้นจะถูกลงโทษหรือไม่ก็ไม่มีผลต่อความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งลงโทษผู้อุทธรณ์ที่ได้วินิจฉัยแล้ว ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด อีกทั้งปรากฏว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นกับทางราชการกว่า 2 ล้านบาท ผู้อุทธรณ์ในฐานะเจ้าพนักงานการเงินและบัญชีจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิด ทั้งอ้างว่าผู้อื่นก็ปฏิบัติแบบนี้เหมือนกัน เพื่อให้พ้นจากความรับผิดได้
                   เรื่องนี้ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าการกระทำของคนอื่นไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบเพื่อจะบอกว่าตนไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม หรือมีการเลือกปฏิบัติ ไม่ได้มีผลกับพฤติกรรมหรือการกระทำของตนแต่อย่างใด  เพราะหากตนกระทำความผิดก็ย่อมได้รับผลของการกระทำอยู่แล้ว นะ..ขอบอก...
 
ประเภทเนื้อหา
วันที่