Skip to main content
x

 

เสียสิทธิในการอุทธรณ์เพราะถูกเพิ่มโทษ !!!

 

                   “ก.พ.ค. ขอบอก” วันนี้ ขอพูดถึงเรื่องราวของข้าราชการรายหนึ่งที่ถูกสั่งเพิ่มโทษ แต่ ก.พ.ค. กลับไม่พิจารณาอุทธรณ์ให้ เพราะเหตุใด และเรื่องราวนี้มีความเป็นมาอย่างไรนั้น  ลองติดตามอ่านกันดูต่อไป
                   นาง ส. ข้าราชการระดับชำนาญการ ของหน่วยงานแห่งหนึ่ง ถูกอธิบดีสั่งลงโทษตัดเงินเดือนจำนวนร้อยละ 4 เป็นเวลา 3 เดือน ฐานอาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามมาตรา 83 (3) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 กรณีเมื่อครั้ง นาง ส. สังกัดสำนักงานจัดหางานจังหวัดแห่งหนึ่งได้บอกกล่าวกับนายจ้างหรือสถานประกอบการว่าญาติของตนรับดำเนินการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในเขตพื้นที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดแห่งนั้น  และมีพฤติการณ์ช่วยดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวจากนายจ้างหรือสถานประกอบการแทนญาติ  ซึ่งรวมถึงยอมให้นายจ้างที่ประสงค์จะขอจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในเขตพื้นที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดดังกล่าวแต่ไม่มีภูมิลำเนาในเขตพื้นที่นั้นมาใช้ทะเบียนบ้านของตนเอง เพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวในเขตพื้นที่ด้วย  ซึ่งนาง ส. ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.พ.ค. เพื่อพิจารณาขอให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว
                   ต่อมาในขณะที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ก.พ.ค. ส่วนราชการต้นสังกัดได้รายงานเรื่องการดำเนินการทางวินัยไปยัง อ.ก.พ. กระทรวง เพื่อพิจารณาตามมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ผลปรากฏว่า อ.ก.พ. กระทรวง เห็นว่าพฤติการณ์ของนาง ส. เป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงได้มีมติให้เพิ่มโทษจากตัดเงินเดือนในอัตราร้อยละ 4 เป็นเวลา 3 เดือน เป็นปลดออกจากราชการ โดยให้ยกเลิกคำสั่งเดิม  แล้วให้เพิ่มโทษเป็นปลดออกจากราชการตามมติของ อ.ก.พ. กระทรวง พร้อมทั้งได้มีการแจ้งสิทธิให้ข้าราชการรายดังกล่าวทราบว่า หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งฉบับใหม่นี้ ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง แต่ปรากฏว่าหลังจากข้าราชการผู้นั้นได้รับทราบคำสั่งลงโทษฉบับใหม่แล้ว ก็มิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. แต่อย่างใด
                   ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อคู่กรณีในอุทธรณ์ ได้มีคำสั่งเพิ่มโทษผู้อุทธรณ์เป็นปลดออกจากราชการแล้ว ย่อมมีผลให้คำสั่งลงโทษเดิมที่สั่งลงโทษตัดเงินเดือนจำนวนร้อยละ 4 เป็นเวลา 3 เดือน เป็นอันถูกยกเลิกไป เท่ากับไม่มีคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์อันเป็นสาระสำคัญของการอุทธรณ์ ตามข้อ 27 (2) ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551 ก.พ.ค. จึงไม่อาจพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ต่อไปได้ จึงวินิจฉัยให้จำหน่ายออกจากสารบบตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
                    เรื่องนี้จึงเป็นตัวอย่างที่จะให้ผู้อุทธรณ์พึงตระหนักด้วยว่า ถ้าตนเองถูกเพิ่มโทษในกรณีเรื่องเดียวกันแล้วไม่พอใจคำสั่งเพิ่มโทษดังกล่าว ท่านก็จะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์เข้ามาใหม่ จะนิ่งเฉยเสียเพราะคิดว่าตนเคยยื่นอุทธรณ์เรื่องนี้แล้วมิได้  มิฉะนั้นท่านอาจเสียสิทธิในการอุทธรณ์เช่นเดียวกับกรณีนี้ นะ ..ขอบอก...

 

ประเภทเนื้อหา
วันที่