Skip to main content
x
           

ผลของผู้เห็นแก่ได้ !!

 

               “ก.พ.ค. ขอบอก” วันนี้ ขอเสนอกรณีตัวอย่างเรื่องอุทธรณ์ที่ผู้อุทธรณ์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนถูกไล่ออกจากราชการ ผู้อุทธรณ์จึงอุทธรณ์มายัง ก.พ.ค. เพื่อคัดค้านคำสั่งลงโทษและกระบวนการดำเนินการทางวินัย รวมทั้งปฏิเสธว่าไม่ได้ทำตามที่ถูกกล่าวหา แต่สุดท้าย...จะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องติดตามอ่านกันดู
                เรื่องนี้ เดิมผู้อุทธรณ์ดำรงตำแหน่งพนักงานคุมประพฤติชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติในจังหวัดแห่งหนึ่ง ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ กรณีเรียกรับเงินหรือประโยชน์จากนายประกันในการดำเนินการปล่อยชั่วคราวผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ในคดียาเสพติดให้โทษ จึงได้มาอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ซึ่งข้อกล่าวอ้างของผู้อุทธรณ์มีทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง โดยในส่วนข้อกฎหมายนั้น อ้างว่าไม่เคยได้รับแจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง สำหรับข้อเท็จจริงกล่าวอ้างว่า ตนไม่ได้เรียกรับเงินหรือประโยชน์จากนายประกัน เพราะนายประกันหาคดีมาได้เองตั้งแต่แรก ตนและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ไม่สามารถช่วยเหลือในการหาคดีให้แก่นายประกันได้ การพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเป็นอำนาจของคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของจังหวัด ตนไม่มีทางทราบว่ามีคดีเข้ามาเท่าไร มีผู้ต้องหารายใดบ้างที่ขอปล่อยชั่วคราว รวมทั้งไม่เคยรับประทานอาหารกับนายประกันด้วย เป็นต้น
                ก.พ.ค. พิจารณาในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายแล้วเห็นว่า การสืบสวนข้อเท็จจริงเป็นการสืบหาและรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของผู้บังคับบัญชาว่ากรณีที่มีการกล่าวหานั้นมีมูลที่ควรกล่าวหาหรือไม่ อย่างไร โดยบทบัญญัติของกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ในชั้นสืบสวนข้อเท็จจริงจะต้องมีการแจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงให้ข้าราชการที่ถูกร้องเรียนกล่าวหาทราบด้วย ดังนั้นแม้ไม่มีการแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้อุทธรณ์ทราบ กรณีก็ไม่ได้ทำให้ผลการสืบสวนเสียไป ข้ออ้างนี้ของผู้อุทธรณ์จึงฟังไม่ขึ้น 
               ส่วนประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงนั้น จากพยานหลักฐานพบว่าผู้อุทธรณ์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดและยังเป็นกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดเดียวกันอีกด้วย ซึ่งหน้าที่ในฐานะดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาตัดสินใจปล่อยชั่วคราวผู้เข้ารับการตรวจพิจารณาคดียาเสพติด มีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์กับนายประกันอาชีพจนปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีจำนวนคดีที่นายประกันเป็นผู้ขอประกันได้รับอนุญาตให้ประกันปล่อยชั่วคราวมากกว่าคดีที่ญาติผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์คดียาเสพติดเป็นผู้ขอประกัน  ซึ่งในช่วงดังกล่าวพบว่านายประกันได้พาผู้อุทธรณ์และเจ้าหน้าที่สำนักงานไปรับประทานอาหารและไปเที่ยวด้วยกันบ่อยครั้งโดยนายประกันเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ และนายประกันบางรายก็มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับผู้อุทธรณ์ทั้งๆ ที่ผู้อุทธรณ์มีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วด้วย  นอกจากนี้ผู้อุทธรณ์ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ภายหลังจากที่มีการถอนประกันในคดีที่นายประกันซึ่งตนมีความสัมพันธ์ด้วยนั้นเป็นนายประกัน รวมทั้งยังอนุญาตให้นายประกันคนดังกล่าวใช้โฉนดที่ดินเป็นหลักทรัพย์ประกันจนวงเงินประกันเกินกว่าราคาประเมินของหลักทรัพย์ซึ่งไม่อาจจะอนุญาตให้ได้ โดยไม่แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูฯ จึงทำให้เชื่อว่าพฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์และนายประกันเป็นการต่างตอบแทนผลประโยชน์จากกระบวนการปล่อยชั่วคราว เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ข้ออ้างของผู้อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น การสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ฐานอาศัยอำนาจหน้าที่ราชการของตนแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง ฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ จึงเหมาะสมแล้ว
             เรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการทุจริตประพฤติมิชอบของข้าราชการที่เห็นแก่ได้โดยไม่คำนึงถึงเกียรติศักดิ์ตำแหน่งหน้าที่ราชการ  ไม่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ  ไม่คำนึงถึงความถูกต้อง  ไม่คำนึงถึงศีลธรรม  ผลที่ได้รับจึงหนีไม่พ้นความเสื่อมที่นำพามาซึ่งความทุกข์ระทมใจในที่สุด..นะ..ขอบอก...
 

 

ประเภทเนื้อหา
วันที่