Skip to main content
x

                 

ผลแห่งการกระทำ

 

                  “ก.พ.ค. ขอบอก” วันนี้ ขอพูดถึงเรื่องข้าราชการรายหนึ่งที่เคยสารภาพในชั้นศาล จนกระทั่งทำให้ตนเองถูกลงโทษปลดออกจากราชการ ต่อมาในชั้นอุทธรณ์กลับอ้างว่าตนเองไม่ได้ตั้งใจที่จะสารภาพและไม่ได้กระทำผิด เพื่อขอให้ ก.พ.ค. พิจารณาเพิกถอนคำสั่งลงโทษให้ เรื่องนี้ผลจะเป็นเช่นไรนั้น ลองมาติดตามอ่านกัน
                   นาย ก. ข้าราชการของหน่วยงานแห่งหนึ่งถูกเพื่อนร่วมงานควบคุมตัวส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ  เนื่องจากเข้าไปทำร้ายร่างกายผู้บังคับบัญชาในห้องทำงาน  เพราะคิดว่าเป็นผู้มีส่วนรู้เห็นกับการประเมินเลื่อนเงินเดือนด้วย  ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งตรวจหาสารเสพติดและพบว่ามีสารเสพติดในปัสสาวะของ นาย ก. จึงได้ดำเนินคดีและส่งฟ้องศาลในกรณีความผิดฐานเสพยาเสพติด (ยาบ้า) และทำร้ายร่างกายผู้อื่น ซึ่งศาลได้พิจารณาพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 8 เดือน ปรับ 12,000 บาท แต่เนื่องจากนาย ก. รับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ศาลจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 4 เดือน ปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี จากผลการพิจารณาของศาล คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่านาย ก. ถูกตรวจพิสูจน์มาตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาของศาลแล้ว ประกอบกับจากการแสวงหารวบรวมพยานหลักฐาน พบว่าสอดคล้องตรงกันกับข้อเท็จจริงในการพิจารณาของศาล พยานที่ให้ถ้อยคำไม่มีเหตุใดที่จะปรักปรำหรือกลั่นแกล้งนาย ก. และนาย ก. ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบหักล้างแก้ข้อกล่าวหา จึงมีความเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวไม่เหมาะสม เข้าข่ายเป็นความผิดฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาโดยมติ อ.ก.พ. กรม พิจารณาแล้วเห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวน จึงมีคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการ
                   นาย ก. ได้มายื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษเรื่องนี้ต่อ ก.พ.ค. โดยอ้างว่าเหตุที่รับสารภาพในชั้นศาลเพราะได้รับคำแนะนำจากผู้พิพากษาให้รับสารภาพเนื่องจากจะได้ไม่กระทบต่อหน้าที่การงานและโทษหนักจะได้เป็นเบา แต่จริงๆ แล้วตนไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาแต่อย่างใด ตนไม่ได้เสพยาบ้า แต่ที่ปัสสาวะเป็นสีม่วงเพราะรับประทานยาแก้อักเสบหลายขนานและยาพาราเซตามอล เนื่องจากเป็นไข้หวัดทะลุหู
                   ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อกล่าวอ้างของนาย ก. (ผู้อุทธรณ์) ไม่อาจหักล้างข้อเท็จจริงที่ว่าผู้อุทธรณ์กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาได้ เพราะก่อนที่จะรับสารภาพนั้น  ผู้อุทธรณ์ต้องคิดทบทวนถึงพยานหลักฐาน ช่องทางในการต่อสู้คดี และโอกาสที่จะแพ้หรือชนะคดี ตลอดจนคำนึงถึงผลได้เสียทุกทางแล้ว  ประกอบกับเมื่อได้พิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนอุทธรณ์ ทั้งรายงานผลการตรวจปัสสาวะ  ผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของผู้บังคับบัญชา บันทึกถ้อยคำของพยานบุคคลจำนวน ๑๕ ปาก รวมทั้ง บันทึกถ้อยคำของผู้อุทธรณ์ซึ่งให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนและกล่าวอ้างในคำอุทธรณ์ด้วยว่าผู้อุทธรณ์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้บังคับบัญชาในชั้นศาลเป็นเงินจำนวน ๕,๐๐๐ บาท จึงเชื่อว่าผู้อุทธรณ์กระทำผิดจริง  การรับสารภาพเป็นเพราะจำนนต่อหลักฐานและหวังผลเพื่อให้ได้รับโทษเบาลงเท่านั้น  ส่วนการที่ผู้อุทธรณ์กล่าวอ้างว่าตนไม่ได้เสพยาบ้า  แต่เป็นเพราะตนรับประทานยาแก้อักเสบหลายขนานและยาพาราเซตามอลปัสสาวะจึงเป็นสีม่วงนั้น ก็เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงในชั้นอุทธรณ์ที่แตกต่างจากคำรับสารภาพ อีกทั้งข้อเท็จจริงนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่าการรับประทานยาดังกล่าวจะทำให้มีปัสสาวะเป็นสีม่วง พฤติกรรมของผู้อุทธรณ์จึงถือเป็นการไม่รักษาชื่อเสียงของตน ไม่รักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ดังนั้นคำสั่งลงโทษปลดผู้อุทธรณ์ออกจากราชการในกรณีดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
                   เรื่องนี้ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า ไม่ว่าจะมีการรับสารภาพหรือไม่ ก.พ.ค. ก็จะตรวจสอบพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมดประกอบพยานหลักฐานเพื่อพิจารณาว่าผู้อุทธรณ์กระทำความผิดจริงหรือไม่  หากผู้อุทธรณ์กระทำผิดจริงก็ไม่อาจรอดพ้นจากการถูกลงโทษได้  กล่าวคือ ผู้อุทธรณ์ต้องยอมรับซึ่งผลแห่งการกระทำของตนเองด้วยนะ..ขอบอก...

 

ประเภทเนื้อหา
วันที่