Skip to main content
x
 

ความอาวุโสกับการแต่งตั้งข้าราชการ

 

         วันนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” จะมาขอเล่าถึงแง่มุมหนึ่งของการพิจารณาของ ก.พ.ค.เรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นที่ผู้ร้องทุกข์มักจะหยิบยกขึ้นมาอ้างต่อ ก.พ.ค. ว่า ผู้ร้องทุกข์มีอาวุโสในราชการที่สูงกว่าผู้ได้รับการแต่งตั้ง  แต่เหตุใดผู้ร้องทุกข์จึงไม่ได้รับการแต่งตั้ง  ดังเรื่องราวต่อไปนี้
         เมื่อส่วนราชการแห่งหนึ่งได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเข้ารับการประเมินผลงานเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ  นาย ก. ซึ่งเป็นข้าราชการที่ผิดหวังไม่ได้รับการคัดเลือกดังกล่าวจึงได้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ว่าการคัดเลือกในครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  โดยการร้องทุกข์ นาย ก. ได้ยกประเด็นขึ้นอ้างด้วยว่า ตนครองตำแหน่งระดับชำนาญการมานานกว่าผู้ได้รับคัดเลือก ทั้งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำงานมากกว่า  การคัดเลือกครั้งนี้จึงไม่ได้คำนึงถึงประสบการณ์และผลงานที่ดำรงตำแหน่งมายาวนานเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือก  
         ในเรื่องนี้ ก.พ.ค. ได้พิจารณาโดยตรวจสอบก่อนว่ากระบวนการคัดเลือกชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  ซึ่งเรื่องนี้เป็นการเลื่อนระดับตำแหน่งโดยเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ  ต้องใช้หลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กำหนดไว้ในหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/ว 10 ลงวันที่ 15 กันยายน 2548 (หนังสือเวียน ก.พ. ว 10/2548)  ซึ่ง ก.พ.ค. ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าการคัดเลือกครั้งนี้เป็นไปตามหนังสือเวียน ก.พ. ว 10/2548 แล้ว 
         สำหรับประเด็นเรื่องความอาวุโสที่นาย ก. หยิบยกขึ้นอ้าง นั้น  ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาองค์ประกอบในการพิจารณาคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือกซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการประเมินผลงานจะต้องได้รับคะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 โดยพิจารณาจากองค์ประกอบ ได้แก่ คุณภาพเค้าโครงผลงาน 25 คะแนน  ข้อเสนอแนวความคิด/วิธีการพัฒนางานหรือปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 25 คะแนน  ผลการปฏิบัติงานตามภารกิจย้อนหลัง 3 ปี 20 คะแนน  ประวัติการทำงานหรือพื้นฐานประสบการณ์ของบุคคล 20 คะแนน  และความประพฤติ การรักษาวินัย 10 คะแนน  จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการคัดเลือกได้คำนึงถึงทั้งความเหมาะสมในราชการ ประสบการณ์ การทำงาน และความอาวุโสของผู้เข้ารับการคัดเลือกด้วย  ดังจะเห็นได้จากองค์ประกอบข้อผลการปฏิบัติงานตามภารกิจย้อนหลัง 3 ปี และองค์ประกอบข้อประวัติการทำงานหรือพื้นฐานประสบการณ์ของบุคคลที่แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการคัดเลือกได้นำประวัติการทำงานและผลงานในอดีตมาใช้ประกอบการพิจารณาให้คะแนน  จึงถือได้ว่าคณะกรรมการคัดเลือกได้คำนึงถึงความอาวุโสด้วยแล้ว 
         อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องความอาวุโสจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการพิจารณาองค์ประกอบข้อประวัติการทำงานหรือพื้นฐานประสบการณ์ของบุคคลก็ตาม  แต่ ก.พ. ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องความอาวุโสไว้ในหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708.1/3571 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2538 ว่า ในการเลื่อนตำแหน่งและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ผู้บังคับบัญชาควรพิจารณาจากองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการคือ ผลงาน ความรู้ความสามารถ ความประพฤติ และประวัติการทำงาน ตลอดจนประโยชน์ที่ราชการจะพึงได้รับจากการแต่งตั้งข้าราชการผู้นั้น แต่หากส่วนราชการใดจะนำองค์ประกอบอื่นมาเป็นส่วนประกอบในการพิจารณา เช่น อาวุโส เป็นต้น ก็ควรใช้องค์ประกอบนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบหลังจากได้พิจารณาองค์ประกอบหลัก 4 ประการดังกล่าวแล้วเท่านั้น  ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างของนาย ก. จึงไม่อาจรับฟังได้  คำร้องทุกข์ของนาย ก. ฟังไม่ขึ้น  ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องทุกข์
         หวังว่าเรื่องที่หยิบยกมานี้ จะทำให้เพื่อนข้าราชการได้เข้าใจและทราบแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการพิจารณาลำดับอาวุโสในการแต่งตั้งข้าราชการได้เป็นอย่างดีว่า นอกจากอาวุโสด้านอายุแล้ว คงต้องอาวุโสด้านผลงาน ความรู้ความสามารถ ความประพฤติ และประวัติการทำงาน ตลอดจนประโยชน์ที่ราชการจะพึงได้รับจากการแต่งตั้งข้าราชการผู้นั้นด้วย นะ... ขอบอก...

 

ประเภทเนื้อหา
วันที่