Skip to main content
x

 

การมีหน้าที่โดยพฤตินัย

 

         วันนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” ขอนำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงหลักการพิจารณาว่าข้าราชการผู้ใดมีหน้าที่ราชการในเรื่องใด หรือไม่ อย่างไร  โดยเรื่องนี้ ก.พ. เคยพิจารณามีมติให้พิจารณาจากหลัก 4 ประการ ดังนี้
         1. กฎหมายหรือระเบียบ ในกรณีที่ราชการเรื่องใดมีกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดเป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ในเรื่องใดผู้ดำรงตำแหน่งนั้นก็มีหน้าที่ราชการตามกฎหมายหรือระเบียบนั้น เช่น กฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เป็นนายทะเบียน มีอำนาจหน้าที่ราชการตามกฎหมายนั้น ระเบียบว่าด้วยการพัสดุ กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดเป็นผู้มีอำนาจที่สั่งซื้อ สั่งจ้าง ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นก็มีหน้าที่ราชการตามระเบียบนั้น
         2. มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ซึ่ง ก.พ. ได้จัดทำไว้เป็นบรรทัดฐาน ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ทุกตำแหน่ง โดยกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่ง ตลอดจนลักษณะงานที่ปฏิบัติไว้เป็นกรอบกว้าง ๆ
         3. การมอบหมายของผู้บังคับบัญชา อาจเป็นการมอบหมายงานอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ให้ปฏิบัติภายในกรอบหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง หรือมอบหมายงานอื่นที่อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาก็ได้
         4. พฤตินัย พิจารณาจากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่ปรากฏเป็นเรื่อง ๆ ไปว่าตามพฤตินัยเพียงพอที่จะถือว่าผู้นั้นมีหน้าที่ราชการในเรื่องนั้นได้หรือไม่
         จากมติ ก.พ. ดังกล่าว  จะเห็นได้ว่า การพิจารณาว่าข้าราชการผู้ใดมีหน้าที่ราชการในสิ่งที่ทำอยู่หรือไม่ อย่างไร นั้น ให้พิจารณาจากหลักสำคัญ 4 ประการข้างต้น ซึ่งในครั้งนี้ขอเน้นในส่วนของ “หน้าที่โดยพฤตินัย” ว่า ลักษณะอย่างไรจึงจะถือว่ามีหน้าที่ราชการโดยพฤตินัย  ในส่วนนี้ ก.พ. ได้กำหนดว่าให้พิจารณาจากการที่ข้าราชการผู้นั้นยอมเอาตัวเข้าไปผูกพัน กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งการเข้าไปกระทำการดังกล่าวมีลักษณะเป็นทางราชการ อันถือเป็นหน้าที่ราชการโดยพฤตินัย
         ตัวอย่างกรณีมีหน้าที่โดยพฤตินัย เช่น นาง ก เจ้าหน้าที่การเงินซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับเงินงบประมาณ ได้ผูกพันตนรับฝากเงินนอกงบประมาณที่มิได้อยู่ในหน้าที่ของตน โดยลงลายมือชื่อรับฝากเงินนั้นไว้อย่างเป็นทางการในด้านหลังคู่ฉบับใบเสร็จรับเงิน ถือได้ว่านาง ก มีหน้าที่ราชการในเรื่องเงินจำนวนที่ได้รับนั้น เมื่อต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงว่า นาง ก ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวจึงถือได้ว่า นาง ก กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ  เนื่องจาก นาง ก. มีหน้าที่ราชการ ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ที่มิควรได้ โดยมีเจตนาทุจริต แม้ภายหลัง นาง ก จะอ้างว่าตนไม่ได้เป็นผู้มีหน้าที่รับฝากเงินนอกงบประมาณก็ตาม แต่การที่ นาง ก ได้ผูกพันตนเข้ารับฝากเงินนอกงบประมาณดังกล่าวโดยการลงลายมือชื่อรับฝากเงินไว้อย่างเป็นทางการในด้านหลังคู่ฉบับใบเสร็จรับเงินจึงเป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไปว่า นาง ก. เป็นผู้มีหน้าที่ดังกล่าวแล้ว  คำกล่าวอ้างของนาง ก. ว่าไม่มีหน้าที่จึงฟังไม่ขึ้น
         ทั้งหมดนี้จึงเป็นคำอธิบายและการยกตัวอย่างประกอบเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาในเรื่องการมีหน้าที่โดยพฤตินัย ซึ่งจะได้ให้ข้าราชการทุกท่านได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติงานที่หากผู้ใดเข้าไปปฏิบัติงานใดๆ และผูกพันดำเนินการอย่างใดไปแล้ว  ก็จะหนีไม่พ้นความรับผิดชอบที่จะต้องตามมา  หากไปดำเนินการใดไม่ถูกต้องหรือหาประโยชน์จากการปฏิบัติงานนั้น ๆ ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้แล้ว นะ..ขอบอก...
 
ประเภทเนื้อหา
วันที่