Skip to main content
x
 

การถอนคำร้องทุกข์

 

               วันนี้ ก.พ.ค. ขอบอก... จะมาขอบอกเรื่องราวของข้าราชการผู้หนึ่ง ซึ่งสังกัดกระทรวงแห่งหนึ่งได้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. กรณีปลัดกระทรวงมีคำสั่งย้ายผู้ร้องทุกข์ซึ่งเดิมดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง ประจำจังหวัดที่ 1 ไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง ประจำจังหวัดที่ 2 โดยไม่เป็นธรรม
                เรื่องนี้ ผู้ร้องทุกข์ได้ร้องทุกข์ว่า ปลัดกระทรวงได้มีคำสั่งแต่งตั้ง (ย้าย) ข้าราชการ รวม 4 ราย รวมถึงผู้ร้องทุกข์ด้วย ซึ่งผู้ร้องทุกข์เห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้ง ลงโทษ และมีอคติต่อผู้ร้องทุกข์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ร้องทุกข์มีบ้านพักอาศัยในกรุงเทพ แต่ให้ย้ายไปไกลถึงจังหวัดภาคอีสานติดชายแดน ทั้งๆ ที่เป็นคนที่มีภูมิลำเนาทางภาคเหนือและเหลือเวลารับราชการอีกเพียงปีเศษและการย้ายดังกล่าวเป็นการย้ายแบบลดชั้นจังหวัด จากจังหวัดที่ 1 ซึ่งเป็นจังหวัดขนาดกลางในภาคกลางไปอยู่จังหวัดที่ 2 ซึ่งเป็นจังหวัดขนาดเล็กและเป็นจังหวัดที่เพิ่งได้รับการประเมินตำแหน่งให้เป็นอำนวยการระดับสูง ผู้ร้องทุกข์ได้รับผลกระทบจากคำสั่งย้ายครั้งนี้หลายประการมีผลกระทบกับขวัญและกำลังใจในการทำงาน ได้รับความเสื่อมเสียด้านชื่อเสียง เกียรติยศ เนื่องจากเป็นข้าราชการระดับหัวหน้าส่วนประจำจังหวัด แต่ได้รับคำสั่งย้ายแบบไม่ให้เกียรติเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้ร้องทุกข์คงปฏิบัติงานผิดพลาด บกพร่องอย่างร้ายแรง จึงย้ายเพื่อเป็นการลงโทษผู้ร้องทุกข์ และมีปัญหาด้านค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม จากการที่ต้องเดินทางไปปฏิบัติงานที่จังหวัดที่ 2 คำสั่งย้ายดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ขอให้ ก.พ.ค. ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเพื่อคืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้ร้องทุกข์
                ต่อมา ผู้ร้องทุกข์ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ยื่นต่อ ก.พ.ค. ว่า ตามที่ผู้ร้องทุกข์ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์กรณีถูกย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูงประจำจังหวัดที่ 2 โดยไม่เป็นธรรม นั้น บัดนี้ ปลัดกระทรวงได้มีคำสั่งเยียวยาและแต่งตั้งผู้ร้องทุกข์ให้ไปดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง ประจำจังหวัดที่ 3 ซึ่งผู้ร้องทุกข์รู้สึกพอใจระดับหนึ่งแล้ว จึงขอยกเลิกเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าว
                   ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 123 วรรคสี่ บัญญัติว่า การร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค. และตามกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ข้อ 14 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ผู้ร้องทุกข์อาจถอนคำร้องทุกข์ที่ยื่นไว้แล้วในเวลาใดๆ ก่อนที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์จะมีคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดในเรื่องร้องทุกข์นั้น ก็ได้ วรรคสอง กำหนดว่า การถอนคำร้องทุกข์ต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อผู้ร้องทุกข์ แต่ถ้าผู้ร้องทุกข์ถอนคำร้องทุกข์ด้วยวาจาต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์บันทึกไว้ และให้ผู้ร้องทุกข์ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานและวรรคสาม กำหนดว่า เมื่อมีการถอนคำร้องทุกข์ ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์อนุญาต และสั่งจำหน่ายคำร้องทุกข์ออกจากสารบบ
                   สำหรับกรณีนี้ แม้ตามหนังสือลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ผู้ร้องทุกข์จะใช้ถ้อยคำว่าขอยกเลิกเรื่องร้องทุกข์ก็ตาม แต่ตามหนังสือฉบับนี้ เห็นได้ว่า ผู้ร้องทุกข์ได้รับการเยียวยาและมีความพอใจที่ปลัดกระทรวงมีคำสั่งย้ายผู้ร้องทุกข์ซึ่งดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง ประจำจังหวัดที่ 2 ให้ไปดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง ประจำจังหวัดที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 ผู้ร้องทุกข์จึงได้ขอยกเลิกเรื่องร้องทุกข์ที่ได้ยื่นต่อ ก.พ.ค. ก่อนหน้านี้ จึงมีผลเท่ากับผู้ร้องทุกข์แสดงเจตนาถอนคำร้องทุกข์ ตามนัยข้อ 14 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 และผู้ร้องทุกข์ได้ขอถอนคำร้องทุกข์ก่อนที่ ก.พ.ค. จะมีคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดในเรื่องร้องทุกข์นี้ ซึ่งตามข้อ 14 วรรคสามของกฎ ก.พ.ค. ฉบับดังกล่าว กำหนดว่า เมื่อมีการถอนคำร้องทุกข์ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์อนุญาต และสั่งจำหน่ายคำร้องทุกข์ออกจากสารบบ  ก.พ.ค. จึงอนุญาตให้ถอนคำร้องทุกข์ และสั่งจำหน่ายคำร้องทุกข์เรื่องนี้ออกจากสารบบ
                   ดังนั้น จากเรื่องดังกล่าวจะเห็นได้ว่า หากผู้ร้องทุกข์รายใดหายคับข้องใจ หรือเหตุแห่งทุกข์ได้คลี่คลายลงแล้วก่อนที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยจะได้มีคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาด ก็สามารถถอนคำร้องทุกข์ได้ตลอดเวลา นะ.. ขอบอก...

 

ประเภทเนื้อหา
วันที่