Skip to main content
x

 

ตัวอย่างการร้องทุกข์ที่ ก.พ.ค. ไม่รับ (2)

 

                    ครั้งที่ผ่านมา “ก.พ.ค. ขอบอก” ขอพักหัวข้อนี้ไว้ก่อน  เนื่องด้วยได้แจ้งรายละเอียดการรับสมัครกรรมการ ก.พ.ค. เพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน  มาครั้งนี้จึงขอนำเสนอข้อพิจารณาของ ก.พ.ค. ต่อเนื่องในข้อถัดไปจาก “ตัวอย่างการร้องทุกข์ที่ ก.พ.ค. ไม่รับ (1)”
                    อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่ไม่ได้อ่าน “ตัวอย่างการร้องทุกข์ที่ ก.พ.ค. ไม่รับ (1)” ได้ทราบเรื่องจึงขอสรุปเรื่องร้องทุกข์นี้ว่า ผู้ร้องทุกข์ได้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ในการที่ปลัดกระทรวงมีคำสั่งให้ย้ายตนเองจากจังหวัดหนึ่ง ไปอีกจังหวัดหนึ่ง ในตำแหน่งระดับเท่าเดิม  แต่เนื้อหาในหนังสือร้องทุกข์กลับกล่าวถึงคำสั่งเร่งรัดให้ส่งมอบงานเพื่อออกนอกพื้นที่ภายใน 7 วัน  จึงขอให้ ก.พ.ค. พิจารณาขยายระยะเวลาที่ถูกเร่งรัดให้ส่งมอบงาน  และขอให้ ก.พ.ค. ตรวจสอบพฤติการณ์ที่เข้าข่ายทุจริตของข้าราชการ โดยมีหนังสือร้องเรียนการทุจริตไปยังหน่วยงานอื่นอีกด้วย ซึ่งคำร้องเรียนไปยังหน่วยงานอื่นนี้ได้กล่าวถึงการถูกสั่งย้ายโดยอ้างว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำสั่งดังกล่าว  ทำให้หน่วยงานที่รับเรื่องนั้นต้องส่งหนังสือร้องเรียนมายัง ก.พ.ค. เพื่อพิจารณาต่อไป  โดย “ตัวอย่างการร้องทุกข์ที่ ก.พ.ค. ไม่รับ (1)” ได้นำเสนอหัวข้อพิจารณาที่ผู้ร้องทุกข์ได้ร้องทุกข์ไปยังหน่วยงานอื่น  และหน่วยงานนั้นได้ส่งเรื่องมายัง ก.พ.ค. โดยที่ไม่ปรากฏความประสงค์ดังกล่าวในคำร้องทุกข์ที่ยื่นต่อ ก.พ.ค.  และผู้ร้องทุกข์ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อยืนยันต่อ ก.พ.ค. ว่าตนประสงค์จะร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ในเรื่องดังกล่าวด้วยหรือไม่ จึงไม่ใช่การร้องทุกข์ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด
                    ครั้งนี้จึงขอกล่าวถึงการพิจารณาของก.พ.ค. ในลำดับที่ 2 และ 3 ในการวินิจฉัยว่า เรื่องร้องทุกข์นี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของ ก.พ.ค. หรือไม่  ดังนี้
                           2. ข้อร้องเรียนกล่าวหาว่าผู้อื่นประพฤติทุจริตเป็นเรื่องอยู่ในอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานอื่น  หรือเป็นเรื่องที่ต้องร้องเรียนกล่าวหาไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นเพื่อให้ดำเนินการทางวินัยต่อไป  ก.พ.ค. ไม่มีอำนาจในการพิจารณาแต่อย่างใด
                           3. ข้อที่ผู้ร้องทุกข์ขอขยายระยะเวลาส่งมอบงานเพื่อไปดำรงตำแหน่งที่จังหวัดใหม่ ตามคำร้องทุกข์เป็นข้อเร่งรัดที่เกิดจากผู้บังคับบัญชาภายในกรม  มิใช่กรณีเหตุแห่งทุกข์เกิดจากปลัดกระทรวงแต่อย่างใด  จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ก.พ.ค. ที่จะพิจารณา
                    ดังนั้น เรื่องร้องทุกข์นี้จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การร้องทุกข์ที่ไม่แจ้งความประสงค์ที่ชัดเจน  การร้องเรียนผู้อื่นว่ากระทำผิดวินัย หรือ การร้องทุกขต่อผู้ไม่มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัย นั้น เป็นการร้องทุกข์ที่ทำให้ไม่สามารถรับไว้พิจารณาได้นะ..ขอบอก...
 
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน คอลัมน์ ก.พ.ค. ขอบอก ฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม 2559)
 

 

 

วันที่
The website encountered an unexpected error. Please try again later.