Skip to main content
x

คำอุทธรณ์และวิธีการยื่นอุทธรณ์

1.  คำอุทธรณ์
           1.1  คำอุทธรณ์ต้องทำเป็นหนังสือถึงประธานกรรมการ ก.พ.ค. โดยใช้คำสุภาพและมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
                    (1)  ระบุชื่อ ตำแหน่ง สังกัดและที่อยู่สำหรับการติดต่อเกี่ยวกับการอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์
                    (2)  คำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์ และวันที่รับทราบคำสั่ง
                    (3)  ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ผู้อุทธรณ์ยกขึ้นเป็นข้อคัดค้านคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์
                    (4)  คำขอของผู้อุทธรณ์
                    (5)  ลายมือชื่อของผู้อุทธรณ์
                 อนึ่ง ถ้าเป็นการอุทธรณ์โดยทายาท หรือผู้ได้รับมอบหมายให้อุทธรณ์แทน ให้ปรับสาระสำคัญได้ตามความเหมาะสม  แต่อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญให้สามารถเข้าใจได้ตาม (1) – (5) ที่กล่าวข้างต้น
           1.2  ให้ผู้อุทธรณ์จัดทำสำเนาหนังสืออุทธรณ์และสำเนาพยานหลักฐานโดยรับรองสำเนาถูกต้องยื่นพร้อมกับหนังสืออุทธรณ์ด้วย  กรณีที่ไม่อาจแนบพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ เพราะพยานหลักฐานอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลอื่น หรือเพราะเหตุอื่นใด  ให้ระบุเหตุที่ไม่อาจแนบพยานหลักฐานไว้ด้วย
           1.3  ถ้ามีการมอบหมายให้ดำเนินการแทน  ให้แนบหนังสือมอบหมายพร้อมหนังสืออุทธรณ์ด้วย 
2.  การยื่นหนังสืออุทธรณ์ 
          การยื่นหนังสืออุทธรณ์มี 2 วิธี  คือ
                  (1)  ยื่นต่อพนักงานผู้รับอุทธรณ์ที่ สำนักงาน ก.พ. อาคาร 1 เลขที่ 47/111 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000  และให้ถือวันที่รับหนังสือตามหลักฐานการลงทะเบียนรับหนังสือตามระเบียบว่าด้วยงานสารบรรณเป็นวันยื่นหนังสืออุทธรณ์
                  (2)  ยื่นหนังสืออุทธรณ์โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนมายังสำนักงาน ก.พ. ที่อยู่ 47/111 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000  และให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับที่ซองหนังสืออุทธรณ์เป็นวันยื่นหนังสืออุทธรณ์
รายการเอกสารประกอบการยื่นอุทธรณ์
     1.  หนังสืออุทธรณ์  จำนวน 1 ชุด
     2.  สำเนาหนังสืออุทธรณ์  จำนวน 1 ชุด
     3.  สำเนาคำสั่งลงโทษทางวินัย/ให้ออกจากราชการ  จำนวน 2 ชุด
     4.  สำเนาหลักฐานการรับทราบคำสั่งลงโทษ/ให้ออก (ถ้ามี)  จำนวน 2 ชุด
     5.  สำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)  จำนวน 2 ชุด
3.  ระยะเวลาอุทธรณ์
           ระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์มี 2 กรณี ดังนี้
                  (1)  ผู้มีสิทธิอุทธรณ์  ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์ 
                  (2)  ทายาทของผู้มีสิทธิอุทธรณ์  ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 90 วันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์  หรือภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ถึงแก่ความตาย
4.  การนับระยะเวลาอุทธรณ์
           การนับระยะเวลาอุทธรณ์ต้องถือตามกรณีดังต่อไปนี้
                  (1)  ให้ถือวันที่ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์ เป็นวันรับทราบคำสั่ง
                  (2)  ในกรณีผู้มีสิทธิอุทธรณ์ไม่ยอมลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่ง และมีการแจ้งคำสั่งให้ทราบกับมอบสำเนาคำสั่งให้ผู้มีสิทธิอุทธรณ์แล้ว และทำบันทึกลงวันเดือนปีเวลาและสถานที่ที่แจ้ง และลงลายมือชื่อผู้แจ้งพร้อมทั้งพยานรู้เห็นไว้เป็นหลักฐานแล้ว  ให้ถือวันที่แจ้งนั้นเป็นวันรับทราบคำสั่ง
                  (3)  ในกรณีที่ไม่อาจแจ้งให้ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ลงลายมือชื่อรับทราบในคำสั่งได้โดยตรง และได้แจ้งเป็นหนังสือส่งสำเนาคำสั่งดังกล่าวทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ ณ ที่อยู่ของผู้นั้น ซึ่งปรากฏตามหลักฐานของทางราชการ โดยส่งสำเนาคำสั่งไปให้สองฉบับเพื่อให้ผู้มีสิทธิอุทธรณ์เก็บไว้หนึ่งฉบับ ส่วนอีกฉบับหนึ่งให้ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งแล้วส่งกลับคืนมาเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน  ในกรณีเช่นนี้เมื่อล่วงพ้น 30 วันนับแต่วันที่ปรากฏในใบตอบรับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนว่าผู้มีสิทธิอุทธรณ์ได้รับเอกสารดังกล่าวหรือมีผู้รับแทนแล้ว  แม้ยังไม่ได้รับสำเนาคำสั่งฉบับที่ให้ลงลายมือชื่อและวันเดือนปีที่รับทราบคำสั่งกลับคืนมา  ก็ให้ถือว่าผู้มีสิทธิอุทธรณ์ได้รับทราบคำสั่งแล้ว
 

File : คำอุทธรณ์และวิธีการยื่นอุทธรณ์ (PDF)