Skip to main content
x

คำถามเกี่ยวกับอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 114 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ใดถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 110 (1) (3) (5) (6) (7) และ (8) ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่ง ดังนั้น ผู้มีสิทธิอุทธรณ์มี 2 ประเภท คือ

1. ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัย

หมายถึง ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ที่ได้กระทำผิดวินัย และถูกสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดเงินเดือน ปลดออก หรือไล่ออก ซึ่งเป็นโทษทางวินัยตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2551 ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์

2. ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 110 (1) (3) (5) (6) (7) และ (8)

หมายถึง ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการในกรณีดังต่อไปนี้ มีสิทธิอุทธรณ์ได้

   (1) เจ็บป่วยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ราชการของตนได้โดยสม่ำเสมอ (มาตรา 110 (1))

   (2) ขาดคุณสมบัติทั่วไป หรือมีลักษณะต้องห้าม ดังนี้ (มาตรา 110 (3))

       (2.1) ขาดคุณสมบัติทั่วไปในการเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนตามมาตรา 36 ก. ในเรื่องไม่มีสัญชาติไทย หรือไม่เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ

       (2.2) มีลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการพลเรือนตามมาตรา 36 ข. ในเรื่องที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเป็นบุคคลล้มละลาย

   (3) ไม่สามารถปฏิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลในระดับอันเป็นที่พอใจของทางราชการ (มาตรา 110 (5))

   (4) หย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ บกพร่องในหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ราชการ ถ้าให้ผู้นั้นรับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ (มาตรา 110 (6))

   (5) มีกรณีถูกสอบสวนว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 93 และผลการสอบสวนไม่ได้ความแน่ชัดพอที่จะฟังลงโทษตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง แต่มีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน ถ้าให้รับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ (มาตรา 110 (7))

   (6) ต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือต้องรับโทษจำคุกโดยคำสั่งของศาล ซึ่งยังไม่ถึงกับจะต้องถูกลงโทษปลดออกหรือไล่ออก (มาตรา 110 (8))

ทายาทของผู้อุทธรณ์มีสิทธิยื่นอุทธรณ์แทนผู้อุทธรณ์ได้ในกรณีที่ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ถึงแก่ความตายก่อนที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ และทายาทของผู้มีสิทธิอุทธรณ์นั้นต้องเป็นผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอดของผู้มีสิทธิอุทธรณ์ด้วย

ในกรณีที่มีทายาทหลายคน หรือทายาทเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หากทายาทเหล่านั้นประสงค์จะอุทธรณ์แทน ให้นำกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยความสามารถ มาเทียบเพื่อการใช้บังคับแล้วแต่กรณี โดยอนุโลม

การอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. จะส่งเอกสารทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ การยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. สามารถทำได้ 2 วิธี คือ

   (1) ยื่นต่อพนักงานผู้รับอุทธรณ์ที่ สำนักงาน ก.พ. อาคาร 1 เลขที่ 47/111 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 และให้ถือวันที่รับหนังสือตามหลักฐานการลงทะเบียนรับหนังสือตามระเบียบว่าด้วยงานสารบรรณเป็นวันยื่นหนังสืออุทธรณ์

   (2) ยื่นหนังสืออุทธรณ์โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนมายังสำนักงาน ก.พ. ที่อยู่ 47/111 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 และให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับที่ซองหนังสืออุทธรณ์เป็นวันยื่นหนังสืออุทธรณ์

   อย่างไรก็ตาม การแจ้งข้อความหรือการส่งเอกสารระหว่าง ก.พ.ค. กับคู่กรณี พยาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ที่ไม่ใช่กรณีการยื่นอุทธรณ์ ก.พ.ค. อาจมีคำสั่งให้กระทำโดยวิธีการส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โทรสาร หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นแทนการติดต่อโดยทางไปรษณีย์หรือประกอบกันก็ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คู่กรณี พยาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง (ข้อ 20 วรรคสอง ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณา วินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551)

การยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ต้องทำเป็นหนังสือถึงประธานกรรมการ ก.พ.ค. โดยใช้ถ้อยคำสุภาพและมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

   (1) ระบุชื่อ ตำแหน่ง สังกัดและที่อยู่สำหรับการติดต่อเกี่ยวกับการอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์

   (2) คำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์ และวันที่รับทราบคำสั่ง

   (3) ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ผู้อุทธรณ์ยกขึ้นเป็นข้อคัดค้านคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์

   (4) คำขอของผู้อุทธรณ์

   (5) ลายมือชื่อของผู้อุทธรณ์

        ผู้อุทธรณ์ต้องจัดทำสำเนาหนังสืออุทธรณ์และสำเนาพยานหลักฐานโดยรับรองสำเนาถูกต้องยื่นพร้อมกับหนังสืออุทธรณ์ ถ้ามีการมอบหมายให้ดำเนินการแทน ก็ให้แนบหนังสือมอบหมายพร้อมหนังสืออุทธรณ์ด้วย โดยผู้อุทธรณ์ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์ และการยื่นหนังสืออุทธรณ์สามารถทำได้ 2 วิธี คือ

   (1) ยื่นต่อพนักงานผู้รับอุทธรณ์ที่ สำนักงาน ก.พ. อาคาร 1 เลขที่ 47/111 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000

   (2) ยื่นหนังสืออุทธรณ์โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนมายังสำนักงาน ก.พ. ที่อยู่ 47/111 ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000

สำหรับการนับระยะเวลาอุทธรณ์ แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้

   (1) กรณียื่นหนังสืออุทธรณ์ด้วยตนเองต่อพนักงานผู้รับอุทธรณ์ที่สำนักงาน ก.พ. ให้ถือวันที่รับหนังสือตามหลักฐานการลงทะเบียนรับหนังสือตามระเบียบว่าด้วยงานสารบรรณเป็นวันยื่นหนังสืออุทธรณ์

   (2) กรณียื่นหนังสืออุทธรณ์โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนมายังสำนักงาน ก.พ. ให้ถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับที่ซองหนังสืออุทธรณ์เป็นวันยื่นหนังสืออุทธรณ์

อนึ่ง เพื่อรักษาสิทธิการยื่นอุทธรณ์ การนับระยะเวลา 30 วัน นับวันถัดจากวันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งที่เป็นเหตุแห่งการอุทธรณ์เป็นวันเริ่มต้น

ผู้อุทธรณ์มีสิทธิดังนี้

   (1) ผู้อุทธรณ์มีสิทธิถอนอุทธรณ์ในเวลาใด ๆ ก่อนที่องค์คณะวินิจฉัยมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์

   (2) ผู้อุทธรณ์มีสิทธิจะมอบหมายให้ทนายความหรือบุคคลอื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วเป็นผู้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในกระบวนการอุทธรณ์แทนก็ได้ แต่ต้องแจ้งล่วงหน้าเพื่อให้ตรวจสอบความถูกต้องก่อน

   (3) ในการชี้แจงหรือให้ถ้อยคำต่อองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์หรือต่อกรรมการเจ้าของสำนวน ผู้อุทธรณ์มีสิทธินำทนายความหรือที่ปรึกษาของตนเข้ามาฟังการพิจารณาได้

   (4) คัดค้านกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ ถ้ากรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์มีกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

       - รู้เห็นเหตุการณ์ในการกระทำผิดวินัยที่ผู้อุทธรณ์ถูกลงโทษ หรือการกระทำที่ผู้อุทธรณ์ถูกสั่งให้ออกจากราชการ

       - มีส่วนได้เสียในการกระทำผิดวินัยที่ผู้อุทธรณ์ถูกลงโทษ หรือการกระทำที่ผู้อุทธรณ์ถูกสั่งให้ออกจากราชการ

       - มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้อุทธรณ์

       - เป็นผู้กล่าวหา หรือเป็นหรือเคยเป็นผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษ หรือสั่งให้ออกจากราชการ

       - เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางวินัย หรือการสั่งให้ออกจากราชการที่ผู้อุทธรณ์ถูกลงโทษหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ

   (5) ขอตรวจดู ทราบ คัดสำเนา ขอสำเนาอันรับรองถูกต้องเกี่ยวกับเอกสารหรือพยานหลักฐานที่คู่กรณียื่นต่อ ก.พ.ค. หรือที่ ก.พ.ค. ได้มา รวมทั้งขอตรวจดู ทราบ หรือขอสำเนาอันรับรองถูกต้องของสรุปเรื่อง เว้นแต่ กรณีที่มีกฎหมายคุ้มครองให้ไม่ต้องเปิดเผย หรือกรณีที่ ก.พ.ค. เห็นว่าจำเป็นต้องไม่เปิดเผยเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่การดำเนินงานของรัฐ

         ในกรณีที่เอกสารหรือพยานหลักฐานมีการกำหนดชั้นความลับไว้ มีข้อความที่ไม่เหมาะสมหรือมีข้อความที่อาจเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบุคคลใด ให้อยู่ในดุลพินิจของ ก.พ.ค. ที่จะไม่เปิดโอกาสให้ผู้อุทธรณ์ขอตรวจดู ทราบ คัดสำเนา ขอสำเนาอันรับรองถูกต้อง หรือไม่ส่งสำเนาให้ผู้อุทธรณ์ก็ได้

   (6) ขอตรวจดูเอกสารทั้งหมดหรือบางฉบับในสำนวน ขอคัดสำเนา หรือขอสำเนาอันรับรองถูกต้องเกี่ยวกับพยาน เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ถ้อยคำของตนในสำนวน หรือบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่

       - บุคคลภายนอก ในสำนวนที่พิจารณาโดยไม่เปิดเผย

       - พยานหรือบุคคลภายนอก ในสำนวนที่ ก.พ.ค. ห้ามการตรวจหรือคัดสำเนาเอกสารในสำนวนทั้งหมดหรือบางฉบับเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือประโยชน์สาธารณะ

       - พยานหรือบุคคลภายนอก ในกรณีที่กฎหมายคุ้มครองให้ไม่ต้องเปิดเผย หรือกรณีที่ ก.พ.ค. เห็นว่าจำเป็นต้องไม่เปิดเผย เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่การดำเนินการของรัฐ

ผู้อุทธรณ์มีสิทธิให้ทนายความหรือบุคคลอื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะดำเนินการแทนได้ใน 2 กรณี ได้แก่

   (1) มอบหมายให้ทนายความหรือบุคคลอื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะทำการอุทธรณ์แทน หากมีเหตุจำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

       - เจ็บป่วยจนไม่สามารถอุทธรณ์ด้วยตนเองได้

       - อยู่ในต่างประเทศและคาดหมายได้ว่าไม่อาจอุทธรณ์ด้วยตนเองได้ทันเวลาที่กำหนด

       - มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ ก.พ.ค. หรือองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นสมควร

(ตามกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551 ข้อ 24)

   (2) มอบหมายให้ทนายความหรือบุคคลอื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะเป็นผู้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดใน กระบวนการอุทธรณ์แทนก็ได้ แต่ต้องแจ้งล่วงหน้าเพื่อตรวจสอบความถูกต้องก่อน (ตามกฎ ก.พ.ค.ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551 ข้อ 25 วรรคหนึ่ง)

   ในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ต้องจัดให้มีการนั่งพิจารณาอุทธรณ์อย่างน้อยหนึ่งครั้งเพื่อให้คู่กรณีมีโอกาสมาแถลงด้วยวาจา แม้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายไม่เข้าร่วมการแถลงการณ์ด้วยวาจา ก็ให้ถือว่ามีการนั่งพิจารณาอุทธรณ์แล้ว เว้นแต่เป็นกรณีที่มีคำวินิจฉัยไม่รับอุทธรณ์และให้จำหน่ายอุทธรณ์ออกจากสารบบความ ไม่จำต้องมีการนั่งพิจารณาอุทธรณ์ (ตามกฎ ก.พ.ค.ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551 ข้อ 76)

ก.พ.ค. อาจมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง ดังนี้

   (1) ไม่รับอุทธรณ์

   (2) ยกอุทธรณ์

   (3) ให้แก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งลงโทษ

   (4) ให้เยียวยาความเสียหาย

   (5) ให้ดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

   ทั้งนี้ ก.พ.ค. จะมีคำวินิจฉัยเพิ่มโทษผู้อุทธรณ์ไม่ได้ ตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เว้นแต่กรณีที่ได้รับแจ้งจาก ก.พ. ตามมาตรา 104 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ว่าสมควรเพิ่มโทษ ในกรณีเช่นนี้ ก.พ.ค. มีอำนาจวินิจฉัยให้เพิ่มโทษได้

   เมื่อ ก.พ.ค. พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจบรรจุตาม มาตรา 57 แห่ง พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยนั้นภายใน 30 วันนับแต่วันที่ ก.พ.ค. มีคำวินิจฉัย หากผู้บังคับบัญชาผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือว่าเป็นการจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ซึ่งอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และอาจถูกผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยต่อไปได้ (มาตรา 116 วรรคหนึ่งและวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551)

   ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ให้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. (มาตรา 116 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551)