Skip to main content
x

     

ความสำคัญของการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชน                

 

                        วันนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” ขอเสนอเรื่องราวของการพิจารณาความผิดของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับชั้น ในกรณีการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนที่จะต้องให้ความสำคัญและตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่างานนี้เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงและการรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ดังนั้น การปฏิบัติงานนอกจากจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนดแล้ว ยังจะต้องใช้ความรอบคอบ ระมัดระวังและการสังเกตพฤติการณ์ของผู้ติดต่องานเป็นองค์ประกอบหลักอีกด้วย
                         เรื่องนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นาย ก. บุคคลสัญชาติไทยยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนกรณีบัตรหายโดยแอบอ้างสวมตัวเป็นนาย ข. ซึ่งเจ้าหน้าที่ปกครอง ๕ (ผู้อุทธรณ์) ได้รับคำขอมีบัตร (บ.ป.๑) ตรวจสอบสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน (ท.ร. ๑๔) และตรวจสอบภาพใบหน้าจากฐานข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชนของนาย ข. แล้ว เรียกเอกสารซึ่งมีรูปถ่ายของผู้ขอมีบัตรและเป็นเอกสารที่ทางราชการออกให้ แต่นาย ก. ไม่มีเอกสาร ผู้อุทธรณ์จึงได้สอบสวนนาง ค. มารดานาย ข. ซึ่งนาง ค. ให้การรับรองว่าเป็นนาย ข. จริง ผู้อุทธรณ์จึงได้พิมพ์ลายนิ้วมือและถ่ายรูปให้แก่ผู้ขอมีบัตร พร้อมทั้งรวบรวมเอกสารในคำขอมีบัตร (บ.ป.๑) และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเสนอปลัดอำเภอ ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณา
                         กรณีนี้ ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า หากผู้อุทธรณ์ได้พิจารณาลักษณะใบหน้า หู ตา จมูก ปาก คิ้ว ริมฝีปาก และความสูงจากภาพถ่ายใน บ.ป.1 ที่ผู้อุทธรณ์ลงลายมือเป็นผู้รับคำขอ ตรวจสอบ ทร.14 ผู้ถ่ายรูปและพิมพ์ลายนิ้วมือแล้วจะเห็นได้ว่า รูปถ่ายปัจจุบันกับรูปถ่ายเดิมจากฐานข้อมูล มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ด้วยประสบการณ์การทำงานของผู้อุทธรณ์มากว่ายี่สิบปี หากได้พิจารณาโดยละเอียดแล้วย่อมทราบโดยไม่ยากนักว่าบุคคลในภาพถ่ายดังกล่าวไม่ใช่บุคคลคนเดียวกัน การที่ผู้อุทธรณ์เชื่อตามคำรับรองของนาง ค. (มารดานาย ข.) และคำบอกกล่าวของนาย ก. ว่าผอมลงทำให้หน้าเปลี่ยนไปโดยไม่พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ทั้งๆ ที่บัตรประจำตัวประชาชนของนาย ข. ที่สูญหายนั้นเป็นบัตรที่ออกให้ ณ ที่ว่าการเดียวกัน ซึ่งระยะเวลาห่างกันประมาณสี่เดือนเศษ ไม่น่าที่จะทำให้ลักษณะต่างๆ  โดยเฉพาะความสูงแตกต่างกันได้ถึงเพียงนั้น พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์จึงเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความอุตสาหะ เอาใจใส่ ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ ตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 การที่ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย มีมติให้ลงโทษภาคทัณฑ์ผู้อุทธรณ์แทนการว่ากล่าวตักเตือน จึงเหมาะสมแก่กรณีความผิดแล้ว
                   เรื่องนี้จึงเป็นอุทาหรณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนว่าต้องให้ความสำคัญกับภารกิจนี้อย่างมาก เพราะไม่ว่าจะมีประชาชนติดต่อขอรับบริการมากเพียงใดก็ตาม แต่การออกบัตรประจำตัวประชาชนเป็นงานที่มีความเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของชาติ จึงต้องใช้ความระมัดระวังรอบคอบในการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ มิเช่นนั้นแล้วอาจเป็นความผิดได้ นะ..ขอบอก...

 

(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันอังคารที่ 6 มิถุนายน 2560)

 

วันที่
The website encountered an unexpected error. Please try again later.