Skip to main content
x

 

สิทธิโต้แย้งคำสั่งลงโทษ/งดโทษ สิทธิสำคัญที่ต้องรู้

 

               ก.พ.ค. ขอบอกครั้งนี้ ขอเริ่มด้วยความหมายของคำว่า “สิทธิ” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ที่หมายถึง อำนาจอันชอบธรรม อำนาจที่กฎหมายรับรองให้กระทำการใด ๆ โดยสุจริตได้อย่างอิสระ แต่ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของคนอื่น จากความหมายดังกล่าว สิทธิ คือ อำนาจพื้นฐานของประชาชน แต่สำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญก็ยังมีสิทธิอีกหลาย ๆ เรื่องที่กฎหมายได้รับรองเพิ่มเติมไว้ โดยเฉพาะสิทธิที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางวินัย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าสิทธิดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ จึงขอหยิบยกเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง
               พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 นั้น ได้มีการกำหนดสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาไว้หลายประการด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ (1) สิทธิในการรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาจะได้ทราบสถานะของตนที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา และได้ทราบเรื่องที่กล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย ตลอดจนได้ทราบบุคคลที่ทำหน้าที่คณะกรรมการสอบสวน และ (2) ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่าบุคคลที่ทำหน้าที่คณะกรรมการสอบสวนมีเหตุคัดค้านตามที่กฎหมายกำหนดอันอาจทำให้การสอบสวนไม่เป็นกลางหรือเสียความเป็นธรรม ผู้ถูกกล่าวหาก็มีสิทธิในการคัดค้านบุคคลดังกล่าวเพื่อให้พ้นจากหน้าที่คณะกรรมการสอบสวนได้ สิทธิต่อมาคือ (3) สิทธิในการรับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา โดยผู้ถูกกล่าวหาสามารถชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและนำสืบหรืออ้างถึงพยานหลักฐานเพื่อหักล้างพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา และ (4) สิทธิในการนำทนายหรือที่ปรึกษาเข้าพบกับคณะกรรมการสอบสวนตามที่มีการนัดหมาย รวมถึง (5) สิทธิขอตรวจดูเอกสารที่จำเป็นต้องรู้เพื่อการโต้แย้งหรือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาด้วย โดยสิทธิทั้งหมดนี้เป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในกระบวนการสอบสวนทางวินัย
               ต่อมาเมื่อการพิจารณาผลการสอบสวนทางวินัยแล้วปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัย และมีการสั่งลงโทษ หรือสั่งงดโทษ แล้วแต่กรณี ผู้ถูกลงโทษหรืองดโทษดังกล่าวก็ย่อมมีสิทธิโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวได้เช่นกัน ซึ่งสิทธินี้ผู้เขียนอยากจะขอเน้นย้ำในรายละเอียดให้ท่านผู้อ่านได้ทราบเป็นลำดับ ดังนี้
               ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 89 ประกอบกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ข้อ 69 กำหนดให้การลงโทษต้องทำเป็นคำสั่ง และให้แจ้งสิทธิในการอุทธรณ์และระยะเวลาในการอุทธรณ์ตามมาตรา 114 ไว้ในคำสั่งด้วย ดังนั้น ในกรณีปกติคำสั่งลงโทษต้องแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์และระยะเวลาในการอุทธรณ์ให้ผู้ถูกลงโทษทราบ โดยอย่างน้อยต้องระบุว่า “ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งลงโทษ”
               แต่ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางวินัย และส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งลงโทษนั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 101 ได้บัญญัติไว้ว่าผู้ซึ่งถูกลงโทษมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ถูกลงโทษโดยไม่ต้องอุทธรณ์ หรือจะดำเนินการอุทธรณ์ดุลพินิจในการกำหนดโทษของผู้บังคับบัญชาก็ได้ ดังนั้น กรณีที่เป็นการสั่งลงโทษตามมติ ป.ป.ช. นอกจากการแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.พ.ค. ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งลงโทษแล้ว ยังต้องแจ้งสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ด้วย
               สำหรับในกรณีการสั่งงดโทษ ตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ข้อ 71 ได้กำหนดให้ทำเป็นคำสั่งด้วย โดยหากผู้ถูกงดโทษประสงค์จะโต้แย้งคำสั่งดังกล่าว ก็สามารถร้องทุกข์ได้ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ดังนั้น การแจ้งสิทธิในการโต้แย้งคำสั่งงดโทษควรระบุ “ให้ยื่นร้องทุกข์ต่อผู้มีอำนาจพิจารณาคำร้องทุกข์ หรือต่อ ก.พ.ค. แล้วแต่กรณี ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่ง”
               อย่างไรก็ดี การที่คำสั่งลงโทษหรืองดโทษไม่ได้มีการแจ้งสิทธิในการโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ก็ไม่ได้มีผลทำให้คำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด เพียงแต่ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 40 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายกลาง ได้กำหนดให้ระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ แล้วแต่กรณี เริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่ง แต่ถ้าไม่มีการแจ้งใหม่และระยะเวลาดังกล่าวสั้นกว่าหนึ่งปี กฎหมายก็ให้ขยายระยะเวลาในการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งออกไปเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งลงโทษหรืองดโทษเท่านั้นนะ......ขอบอก
ผู้เขียน : ศักดริน  โต๊ะเฮง
ประเภทเนื้อหา
วันที่