Skip to main content
x

 

การดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่พ้นจากราชการไปแล้วตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในช่วงก่อนมีการแก้ไขกฎหมายมาตรา 100

 
เรื่องดำที่  6110243  เรื่องแดงที่  0116163
ผลคำวินิจฉัย อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ยกอุทธรณ์
การดำเนินการทางวินัย ลงโทษตามมติ ป.ป.ช.

 

         หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางวินัยแก่ผู้ที่พ้นจากราชการก่อนวันที่ 6 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ การดำเนินการทางวินัยจะต้องเป็นไปตามมาตรา 100 (เดิม) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

 

ข้อเท็จจริง
         ในปี พ.ศ. 2543 ผู้อุทธรณ์ดำรงตำแหน่งนายช่างโยธา 6 ได้รับการแต่งตั้งเป็นช่างควบคุมงานในโครงการสร้างลาดยางถนนแห่งหนึ่ง ต่อมาผู้อุทธรณ์ได้ถูกร้องเรียนไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. ว่ามีพฤติการณ์เรียกรับเงินจากผู้รับจ้าง เพื่อตอบแทนการควบคุมงานก่อสร้าง โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2559 และปรากฏว่าผู้อุทธรณ์ได้เกษียณอายุราชการในระหว่างการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง  จากผลการไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วมีมติชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 คู่กรณีในอุทธรณ์จึงมีคำสั่งลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 ลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ โดยให้มีผลตั้งแต่วันสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นวันที่ผู้อุทธรณ์เกษียณอายุราชการ ผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งลงโทษจึงอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.
คำวินิจฉัย
           ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้ ผู้อุทธรณ์กระทำความผิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และคู่กรณีในอุทธรณ์ได้ออกคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561ขณะผู้อุทธรณ์ไม่มีสถานะเป็นข้าราชการเนื่องจากเกษียณอายุราชการไปก่อนแล้ว กรณีจึงต้องพิจารณาว่าการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้อุทธรณ์เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในส่วนของการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่พ้นจากราชการหรือไม่ โดยที่เรื่องนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางวินัยแก่ผู้อุทธรณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวันที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ใช้บังคับ จึงต้องนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่พ้นจากราชการตามมาตรา 100 (เดิม)แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาใช้บังคับ โดยบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดเงื่อนไขว่าการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่พ้นจากราชการจะต้องมีการกล่าวหาว่าข้าราชการผู้นั้นกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาหรือต่อผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนก่อนที่ข้าราชการผู้นั้นจะออกจากราชการ และต้องเริ่มดำเนินการสอบสวนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ จึงจะสามารถดำเนินการทางวินัยได้ เมื่อข้อเท็จจริงปราฏว่าสำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนผู้อุทธรณ์ เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๙ จึงเป็นกรณีมีการกล่าวหาและมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงในขณะที่ผู้อุทธรณ์ยังมีสถานะเป็นข้าราชการอยู่ การดำเนินการทางวินัยแก่ผู้อุทธรณ์เป็นไปตามมาตรา ๑๐๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ แล้ว เมื่อการลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และเหมาะสมกับกรณีความผิด ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
           ทั้งนี้ ปัจจุบัน บทบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่พ้นจากราชการได้มีการแก้ไขใหม่ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 โดยได้เพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา 100/1 สำหรับกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิดและส่งมาให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษไว้โดยเฉพาะว่าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายของทั้งสององค์กรดังกล่าว โดยไม่ต้องนำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามมาตรา 100 มาใช้บังคับ

 

วันที่