Skip to main content
x

 

การเยียวยาและสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับของผู้ที่เคยถูกลงโทษทางวินัย

 

               โดยที่เนื้อหาใน “ก.พ.ค. ขอบอก” ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะกล่าวถึงมุมมองของการกระทำผิด  หรือการลงโทษ แต่ในครั้งนี้จะขอเปลี่ยนมานำเสนอในมุมมองของการเยียวยาและสิทธิประโยชน์ของผู้ที่เคยถูกลงโทษทางวินัยกันบ้าง ทั้งนี้เนื่องจากมีกรณีที่ส่วนราชการหารือเรื่องดังกล่าวมายังสำนักงาน ก.พ. จากการที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษ และให้ดำเนินการคืนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่ข้าราชการผู้ที่ถูกเพิกถอนคำสั่งด้วย ซึ่งสำนักงาน ก.พ. ได้ตอบข้อหารือส่วนราชการ  โดยมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ จึงเห็นว่าน่าที่จะหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาเรื่องทำนองนี้ต่อไป
               กรณีนี้เป็นเรื่องที่ส่วนราชการแห่งหนึ่ง (กรม ก.) ได้หารือมายังสำนักงาน ก.พ. โดยแจ้งว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2547 กรม ก. ได้มีคำสั่งลงโทษไล่ข้าราชการสองรายออกจากราชการ  ต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงว่าศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษที่ไล่ข้าราชการดังกล่าวออกจากราชการ นับแต่วันที่คำสั่งลงโทษดังกล่าวมีผลใช้บังคับ และมีข้อสังเกตให้หัวหน้าส่วนราชการแห่งนั้นดำเนินการคืนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อันพึงมีพึงได้แก่ข้าราชการผู้ฟ้องคดีตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด กรม ก. จึงขอหารือกรณีดังกล่าวมายังสำนักงาน ก.พ. ดังนี้
               1. การที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยดังกล่าว นั้น กรม ก. ต้องดำเนินการตามกฎหมายใด  อย่างไร
               2. การสั่งให้ข้าราชการทั้งสองรายกลับไปดำรงตำแหน่งเดิมหรือดำรงตำแหน่งอื่นในประเภทหรือระดับเทียบเท่าตำแหน่งเดิม นั้น ต้องดำเนินการตามกฎหมายใด  อย่างไร
               3. การคืนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อันพึงมีพึงได้แก่ข้าราชการทั้งสองรายดังกล่าว มีอะไรบ้าง และอาศัยบทบัญญัติใด
               สำนักงาน ก.พ. ได้พิจารณาและตอบข้อหารือดังกล่าวแล้วสรุปได้ว่า ตามมาตรา 70 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดให้คู่กรณีต้องผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามคำบังคับตามคำพิพากษาศาลปกครอง นับแต่วันที่กำหนดในคำพิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษานั้นถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขกลับหรืองดเสีย ดังนั้น กรม ก. ในฐานะคู่กรณีจึงต้องผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองที่ให้เพิกถอนคำสั่งที่สั่งลงโทษข้าราชการทั้งสองราย รวมทั้งให้คืนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อันพึงมีพึงได้แก่ข้าราชการดังกล่าว
               สำหรับการสั่งให้ข้าราชการทั้งสองรายกลับไปดำรงตำแหน่งเดิมหรือดำรงตำแหน่งอื่นในประเภทหรือระดับเทียบเท่าตำแหน่งเดิม นั้น  เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 กล่าวคือ หากข้าราชการนั้นยังไม่เกษียณอายุราชการ เมื่อเพิกถอนคำสั่งลงโทษแล้วก็ต้องสั่งให้บุคคลดังกล่าวกลับไปดำรงตำแหน่งเดิมก่อนที่จะมีคำสั่งลงโทษ  แต่หากไม่สามารถแต่งตั้งให้กลับไปดำรงตำแหน่งเดิมได้  ก็อาจแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่นในประเภทและระดับเดียวกันกับตำแหน่งเดิมซึ่งข้าราชการทั้งสองรายมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น หากมีเหตุผลความจำเป็นที่ไม่อาจปฏิบัติตามแนวทางนี้ได้  ให้เสนอ ก.พ. พิจารณาเป็นราย ๆ ไป  แต่ถ้าหากข้าราชการนั้นเกษียณอายุราชการไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องออกคำสั่งแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวกลับเข้ารับราชการ อย่างไรก็ตาม ต้องเพิ่มชื่อบุคคลนั้นในบัญชีรายชื่อข้าราชการพลเรือนสามัญที่จะได้รับบำเหน็จบำนาญในปีงบประมาณที่ผู้นั้นเกษียณอายุราชการด้วย
               สำหรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ข้าราชการทั้งสองรายควรได้รับเมื่อมีการสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษแก่บุคคลทั้งสองแล้วนั้น ก.พ. เคยวางแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ ดังนี้
               1) การเลื่อนเงินเดือน ให้ส่วนราชการพิจารณาให้บุคคลทั้งสองได้รับการเลื่อนเงินเดือนตามผลงานที่ได้มีการพิจารณาไว้ในแต่ละรอบการประเมิน หากปรากฏว่าบุคคลทั้งสองมีผลการปฏิบัติงานไม่เต็มรอบการประเมิน  ให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนเงินเดือนนำเสนอ อ.ก.พ. กระทรวง เพื่อพิจารณาเป็นการเฉพาะราย แต่หากบุคคลทั้งสองไม่มีผลการปฏิบัติงานทั้งรอบ
การประเมินเลย  ให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งเลื่อนเงินเดือนนำเสนอ อ.ก.พ. กระทรวง และ ก.พ. เพื่อพิจารณาเป็นการเฉพาะราย ทั้งนี้ตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือน พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
               2) เงินประจำตำแหน่ง หากบุคคลทั้งสองมีสิทธิได้รับ  ก็ให้ส่วนราชการนำส่งคำขอให้ ก.พ. พิจารณาอนุมัติให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในระหว่างที่ออกจากราชการเป็นการเฉพาะราย  ตามข้อ 5 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2551
               3) เงินเดือนในระหว่างที่ออกจากราชการ  ส่วนราชการต้องดำเนินการตามระเบียบกรมบัญชีกลางว่าด้วยการจ่ายเงินเดือนให้แก่ข้าราชการซึ่งออกจากราชการโดยคำสั่งลงโทษทางวินัยหรือคำสั่งให้ออกจากราชการแล้วได้รับการพิจารณายกเลิก เพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นอย่างอื่น พ.ศ. 2551 
               จากการพิจารณาของ ก.พ. ตามข้อหารือของส่วนราชการข้างต้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านจะพอทราบและเข้าใจในเบื้องต้นเกี่ยวกับการเยียวยาหรือสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับของข้าราชการที่เคยถูกลงโทษปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ แล้วต่อมามีคำสั่งยกเลิกคำสั่งลงโทษนั้น อย่างไรก็ตามหากมีข้อเท็จจริงที่ต่างจากนี้ เพื่อความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว อาจต้องมีการหารือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น กรมบัญชีกลาง  ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจนมากขึ้นนะ ขอบอก...
ผู้เขียน : จุฑาพิชญ์  สถิรวิสาลกิจ
                                                                                                                                                                                                                         
ประเภทเนื้อหา
วันที่