Skip to main content
x

 

อ.ก.พ. กระทรวง มีอำนาจกำหนดระยะเวลาจัดส่งผลงานเพื่อประเมินเข้าสู่ตำแหน่งได้

 

เรื่องดำที่     6120085
เรื่องแดงที่    0068262
ผลคำวินิจฉัย    ยกคำร้องทุกข์
กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
  1. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
  2. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546
  3. พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551
  4. กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551
  5. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1006/7 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2552
  6. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708.4/ว 16 ลงวันที่ 29 กันยายน 2538
  7. หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ สร 0203/ว 255 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2524 และ ที่ สร 0203/ว 38 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2526 และหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0711/ว 9 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2523
 
                   อ.ก.พ. กระทรวง มีอำนาจกำหนดเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลในกระทรวง เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการประเมินบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ตามที่ ก.พ. กำหนด อ.ก.พ. กระทรวง จึงสามารถกำหนดระยะเวลาในการจัดส่งผลงานเพื่อประเมินเข้าสู่ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ภายในระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับการประเมินผลงานได้ และแม้ว่ามติ อ.ก.พ. กระทรวง ดังกล่าว จะเป็นการกำหนดภายหลังจากที่ผู้ร้องทุกข์ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเผยแพร่ทางการศึกษา และในประกาศรับสมัครคัดเลือกไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการจัดทำผลงานเพื่อประเมินเข้าสู่ตำแหน่งไว้ แต่ส่วนราชการเจ้าสังกัดได้แจ้งให้ผู้ร้องทุกข์จัดทำผลงานเพื่อประเมินเข้าสู่ตำแหน่งภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ร้องทุกข์ได้รับทราบมติ อ.ก.พ. กระทรวง ดังนั้น มติ อ.ก.พ. กระทรวง จึงชอบด้วยกฎหมาย และมิได้มีผลกระทบต่อผู้ร้องทุกข์แต่อย่างใด
 

ข้อเท็จจริง

                   ผู้ร้องทุกข์เดิมดำรงตำแหน่งนักวิเทศสัมพันธ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มแผนงาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ต่อมาปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งย้ายผู้ร้องทุกข์ไปดำรงตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ กลุ่มแผนงาน สำนักงาน กศน. โดยให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกลุ่มแผนงาน จากนั้นสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้มีประกาศรับสมัครคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ตำแหน่งนักวิชาการศึกษาเชี่ยวชาญ สำนักงาน กศน. ซึ่งผู้ร้องทุกข์ได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเผยแพร่ทางการศึกษา ผลการพิจารณาคัดเลือกปรากฏว่า ปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งให้ผู้ร้องทุกข์รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเผยแพร่ทางการศึกษา และให้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกลุ่มแผนงาน
                   ต่อมา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้มีหนังสือแจ้งว่า อ.ก.พ. กระทรวงศึกษาธิการ มีมติกรณีการจัดทำผลงานเพื่อประเมินเข้าสู่ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ และระดับทรงคุณวุฒิของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีกำหนดระยะเวลาในการจัดส่งผลงานเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งดังกล่าวภายในระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารับการประเมินผลงาน ซึ่งสำนักงาน กศน. ได้มีหนังสือแจ้งมติ อ.ก.พ. กระทรวงศึกษาธิการ ให้ผู้ร้องทุกข์ทราบแล้ว แต่ผู้ร้องทุกข์ก็ไม่ได้ดำเนินการส่งผลงานภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ทราบมติ อ.ก.พ. กระทรวง ดังกล่าว ปลัดกระทรวงศึกษาธิการจึงได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งที่ให้ผู้ร้องทุกข์รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเผยแพร่ทางการศึกษา ผู้ร้องทุกข์จึงได้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.
 

คำวินิจฉัย

                   ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 8 บัญญัติว่า ก.พ. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้... (3) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรฐานการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของข้าราชการพลเรือน เพื่อส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ...  มาตรา 16 บัญญัติว่า อ.ก.พ. กระทรวง มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) พิจารณากำหนดนโยบาย ระบบ และระเบียบวิธีการบริหารทรัพยากรบุคคลในกระทรวง ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรฐานที่ ก.พ. กำหนดตามมาตรา 8 (3)... และมาตรา 34 บัญญัติว่า การจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนต้องเป็นไปเพื่อผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ความมีประสิทธิภาพ และความคุ้มค่า ประกอบกับ ก.พ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการประเมินบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ (ตำแหน่งประเภททั่วไป) ตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ และตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708.4/ว 16 ลงวันที่ 29 กันยายน 2538 ก็เพื่อให้ทางราชการสามารถสรรหาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญงาน และความเชี่ยวชาญ มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับลักษณะหน้าที่และความรับผิดชอบอย่างแท้จริง ดังนั้น การที่ อ.ก.พ. กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีมติกำหนดระยะเวลาในการจัดส่งผลงานเพื่อประเมินเข้าสู่ตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญและระดับทรงคุณวุฒิของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ภายในระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารับการประเมินผลงาน จึงเป็นกรณีที่ อ.ก.พ. กระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจกำหนดเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลในกระทรวงซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการประเมินบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการณ์ (ตำแหน่งประเภททั่วไป) ตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ และตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708.4/ว 16 ลงวันที่ 29 กันยายน 2538 มติ อ.ก.พ. กระทรวงศึกษาธิการ ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย
                   สำหรับที่ร้องทุกข์ว่า อ.ก.พ. กระทรวงศึกษาธิการ มีมติภายหลังจากที่ผู้ร้องทุกข์รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเผยแพร่ทางการศึกษาแล้ว และสำนักงาน กศน. แจ้งมติดังกล่าวให้ผู้ร้องทุกข์ทราบในภายหลัง มติ อ.ก.พ. กระทรวงศึกษาธิการ จึงมิควรมีผลใช้บังคับย้อนหลังกับผู้ร้องทุกข์ที่ได้รับการแต่งตั้งก่อนที่จะมีมติดังกล่าว อีกทั้งในประกาศรับสมัครคัดเลือกตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญก็มิได้ระบุเงื่อนไขว่าหากได้รับการแต่งตั้งต้องส่งผลงานเพื่อเข้ารับการประเมินภายในกำหนดเวลา 1 ปี นั้น เห็นว่า กรณีของผู้ร้องทุกข์ หากไม่มีการกำหนดเวลาในการจัดส่งผลงานเพื่อประเมินเข้าสู่ตำแหน่งก็จะทำให้หน่วยงานไม่อาจสรรหาข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวและปฏิบัติราชการได้อย่างมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และมีความคุ้มค่าต่อระบบราชการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และแนวทางตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708.4/ว 16 ลงวันที่ 29 กันยายน 2538 อีกทั้ง สำนักงาน กศน. ได้แจ้งมติ อ.ก.พ. กระทรวงศึกษาธิการ ดังกล่าว ให้ผู้ร้องทุกข์จัดทำผลงานเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งไปอีก 1 ปี ข้างหน้า หลังจากที่ผู้ร้องทุกข์รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเผยแพร่ทางการศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว โดยที่มติดังกล่าวใช้บังคับกับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกทุกคน ไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อผู้ร้องทุกข์เท่านั้น เมื่อมีการแจ้งมติดังกล่าว ผู้ร้องทุกข์ก็ไม่ได้โต้แย้งแต่อย่างใด ผู้ร้องทุกข์จึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการประเมินบุคคลตามที่ได้กำหนดไว้ในหนังสือสำนักงาน ก.พ. ดังกล่าว ข้อร้องทุกข์นี้จึงไม่อาจรับฟังได้
                   ดังนั้น การที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ผู้ร้องทุกข์รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเผยแพร่ทางการศึกษา ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำร้องทุกข์ฟังไม่ขึ้น ก.พ.ค. จึงวินิจฉัยให้ยกคำร้องทุกข์

 

วันที่