Skip to main content
x

 

 

ต้องประเมินผลการปฏิบัติราชการตามตัวชี้วัดที่ตกลงไว้

 

เรื่องดำที่  6120027  เรื่องแดงที่  0019262
ผลคำวินิจฉัย  คำร้องทุกข์ฟังขึ้น
กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง 
  1. พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
  2. กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551
  3. กฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือน พ.ศ. 2552
  4. หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012/ว 20 ลงวันที่ 3 กันยายน 2552

 

               การประเมินผลการปฏิบัติราชการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012/ว 20 ลงวันที่ 3 กันยายน 2552 กำหนดให้ผู้ประเมินต้องประเมินผลการปฏิบัติราชการของผู้รับการประเมินตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับผู้ประเมิน ดังนั้น การที่ผู้อำนวยการกองประเมินผลการปฏิบัติราชการจากตัวชี้วัดที่ไม่ได้เป็นไปตามคำรับรองที่ผู้ร้องทุกข์ทำไว้ จึงทำให้คำสั่งการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการเฉพาะรายผู้ร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อเท็จจริง

               ผู้ร้องทุกข์ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการที่กองแห่งหนึ่งในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยในรอบการประเมินที่ 1 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 (1 ตุลาคม 2560 - 31 มีนาคม 2561) ผู้ร้องทุกข์ได้ทำคำรับรองการปฏิบัติราชการรายบุคคลต่อหัวหน้ากลุ่มและผู้อำนวยการกอง ซึ่งในองค์ประกอบที่ 1 ผลสัมฤทธิ์ของงาน มีรายละเอียดตัวชี้วัดรวม 3 ประเด็น แต่ปรากฏว่าในการพิจารณาและประเมินผลการปฏิบัติราชการรายผู้ร้องทุกข์ หัวหน้ากลุ่มและผู้อำนวยการกองได้พิจารณาและประเมินองค์ประกอบที่ 1 ผลสัมฤทธิ์ของงานจากตัวชี้วัด 4 ประเด็นโดยเพิ่มตัวชี้วัดที่ 4 ความสำเร็จในการตอบหนังสือหารือส่วนราชการ และเมื่อพิจารณารวมกับองค์ประกอบที่ 2 พฤติกรรมการปฏิบัติงาน (สมรรถนะ) แล้ว ผู้ร้องทุกข์ได้ผลการประเมินอยู่ในระดับ “ต้องปรับปรุง” จากนั้น คู่กรณีในการร้องทุกข์ได้มีคำสั่งเลื่อนเงินเดือนแก่ข้าราชการในสังกัด ซึ่งผู้ร้องทุกข์ไม่ได้รับการเลื่อนเงินเดือน ผู้ร้องทุกข์เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค.

 

คำวินิจฉัย

               ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ในการประเมินผลการปฏิบัติราชการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012/20 ลงวันที่ 3 กันยายน 2552 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราขการพลเรือนสามัญ กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาระดับกองเป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติราชการของผู้ใต้บังคับบัญชาในกอง โดยต้องประเมินตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับผู้ประเมิน ซึ่งเรื่องนี้ในการประเมินผลการปฏิบัติราชการมีการกำหนดตัวชี้วัด 3 ประเด็น แต่ในการประเมินจริงมีการใช้ตัวชี้วัดใน 4 ประเด็น ซี่งมิได้มีการตกลงกันมาก่อน จึงไม่เป็นธรรมกับผู้ร้องทุกข์ ดังนั้น การที่คู่กรณีในการร้องทุกข์มีคำสั่งเลื่อนเงินเดือนข้าราชการจึงเป็นการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรให้คู่กรณีในการร้องทุกข์ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว และให้ดำเนินกระบวนการประเมินผลการปฏิบัติราขการและการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนสำหรับข้าราชการเฉพาะในรายของผู้ร้องทุกข์ให้ถูกต้อง ตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือน พ.ศ. 2552 โดยให้ตัดตัวชี้วัดที่ 4 ซึ่งไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงไว้ออก และประเมินผลการปฏิบัติราขการใหม่ตามตัวชี้วัดที่ได้ตกลงกันไว้ 3 ตัวชี้วัด
วันที่
The website encountered an unexpected error. Please try again later.