Skip to main content
x

 

การดำเนินการทางวินัยเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยฐานอื่นที่มิใช่ฐานทุจริตต่อหน้าที่

 
ผู้เขียน : นางสาวจิตติมา เถี่ยนมิตรภาพ
 
                 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อปฏิบัติภารกิจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อกล่าวหาใดมีมูลความผิดทางวินัย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งรายงานและความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาเพื่อพิจารณาลงโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลต่อไป ที่ผ่านมาได้มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับอำนาจการชี้มูลความผิดทางวินัยของคณะกรรมการ ป.ช.ช. จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ในการชี้มูลความผิดทางวินัยเฉพาะความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่เท่านั้น การที่ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษในความผิดทางวินัยฐานอื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลเป็นคำสั่งลงโทษที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่ ก.พ.ค. ได้ใช้ข้อเท็จจริงในการวินิจฉัยเช่นเดียวกันกับที่ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษดังกล่าว คำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน จึงเพิกถอนคำสั่งที่ลงโทษตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ซึ่งคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสูดที่ออกมาภายหลังได้วินิจฉัยในแนวทางเดียวกัน[1] จากคำพิพากษาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้บังคับบัญชาในการดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลในความผิดฐานอื่น ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่า ควรศึกษาเพื่อหาแนวทางปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยฐานอื่นที่ไม่ใช่ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ เพื่อมิให้คำสั่งลงโทษดังกล่าวถูกเพิกถอน
                 จากการศึกษาคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ชี้มูลความผิดทางวินัยในความผิดฐานอื่นที่มิใช่ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบว่า คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้วางแนวคำวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการชี้มูลความผิดทางวินัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยพิจารณาจากบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542[2] แล้ว เห็นว่า ข้อกล่าวหาที่อยู่ในอำนาจไต่สวนและการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเฉพาะที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเท่านั้น เนื่องจากองค์ประกอบและโทษเกี่ยวกับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา จึงเป็นมูลความผิดทางอาญา ส่วนความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ถือเป็นมูลความผิดทางวินัย ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดวินัยเฉพาะความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่เท่านั้น การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยในความผิดฐานอื่น เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลดังกล่าว จึงไม่ผูกพันผู้บังคับบัญชาผู้บังคับบัญชาจะถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาเป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนไม่ได้ ผู้บังคับบัญชาจะต้องดำเนินการสอบสวนทางวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนก่อน จึงจะพิจารณาลงโทษได้ การที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งลงโทษโดยไม่ได้ดำเนินการทางวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน คำสั่งลงโทษดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าว
                 ส่วนคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีชี้มูลความผิดทางวินัยไว้ ตามความเห็นเรื่องเสร็จที่ 1222/2559  และความเห็นเรื่องเสร็จที่ 376/2562 สรุปได้ว่า มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะมีผลให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนต้องพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 92 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ได้นั้น มติดังกล่าวต้องปรากฏมูลความผิดที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และแม้ว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554[3] จะกำหนดเพิ่มเติมให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยในความผิดที่เกี่ยวข้องกันไว้แล้วก็ตาม แต่ต้องเป็นกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนและวินิจฉัยในการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งเป็น 3 ฐานความผิดหลักที่กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการเสียก่อน คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงจะสามารถดำเนินการกับความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องกันกับการกระทำความผิดนั้นในคราวเดียวกันได้ จากข้อเท็จจริงที่หารือในกรณีนี้ ปรากฏว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้มีมติชี้มูลของผู้ถูกกล่าวหาในการกระทำความผิดใน 3 ฐานความผิดหลักที่เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีอำนาจชี้มูลในความผิดฐานอื่นได้ ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหา จึงมีหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 90 และมาตรา 100[4] แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่จะต้องพิจารณาดำเนินการทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหาต่อไป ส่วนการพิจารณาลงโทษทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหาได้แค่ไหน เพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระยะเวลาในการดำเนินการในกรณีนี้ด้วย
                 เมื่อพิจารณาจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังกล่าวแล้ว ภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า แนวทางที่ผู้บังคับบัญชาจะดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการพลเรือนที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล มี 3 แนวทาง ดังนี้
                 แนวทางที่ 1 กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลในการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่
                 เมื่อผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ได้รับรายงานการชี้มูลผู้ถูกกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ผู้บังคับบัญชาจะพิจารณาลงโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหาโดยนำเรื่องดังกล่าวเข้า อ.ก.พ. ที่มีอำนาจพิจารณาตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบกับข้อ 58 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556  ทั้งนี้ ผู้บังคับบัญชาจะต้องดำเนินการสั่งลงโทษตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งผู้บังคับบัญชามีอำนาจพิจารณาได้เฉพาะระดับโทษเท่านั้น ทั้งนี้ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 2/2546
                 แนวทางที่ 2 กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลในการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ รวมทั้งชี้มูลความผิดฐานอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ
                 การชี้มูลภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542  กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และชี้ความผิดฐานอื่นรวมมาด้วย ผู้บังคับบัญชาไม่สามารถลงโทษความผิดฐานอื่นได้ เนื่องจากตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ชี้มูลได้เพียงความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการเท่านั้น ผู้บังคับบัญชาจึงลงโทษทางวินัยผู้ถูกกล่าวหาในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ได้เพียงฐานเดียว
                 ส่วนการชี้มูลภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 นั้น เนื่องจากพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวได้แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้มีอำนาจในการชี้มูลความผิดที่เกี่ยวเนื่องได้ในการกระทำคราวเดียวกัน ถือเสมือนเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ดังนั้น หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการและความผิดฐานอื่นรวมมาด้วย ในการกระทำคราวเดียวกัน เช่น ชี้มูลความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ และความผิดฐานรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาต้องสั่งลงโทษตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทั้ง 2 ฐาน โดยดำเนินการตามแนวทางที่ 1
                 แนวทางที่ 3 กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลในการกระทำความผิดฐานอื่น โดยไม่มีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่  
                 สำหรับประเด็นนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังโต้แย้งคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่วินิจฉัยว่า การชี้มูลในการกระทำความผิดฐานอื่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว จึงไม่ผูกพันผู้บังคับบัญชา และผู้บังคับบัญชาไม่สามารถนำรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาเป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยเพื่อลงโทษผู้ถูกชี้มูลได้  ซึ่งในประเด็นนี้ยังถือเป็นข้อโต้แย้งกันอยู่ แต่ทั้งนี้ผู้เขียนเห็นว่า เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บังคับบัญชาสามารถพิจารณาลงโทษผู้กระทำผิดวินัยในความผิดฐานอื่นที่มิใช่ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลมาได้ เมื่อผู้บังคับบัญชาได้รับเรื่องดังกล่าวจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ถือเสมือนได้รับรายงานตามมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่ผู้บังคับบัญชาจะต้องดำเนินการทางวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบกฎ ก.พ.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ก่อนที่จะพิจารณาความผิดและสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาต่อไป เนื่องจากหากรอให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยใหม่ภายหลังจากที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษแล้ว อาจจะพ้นระยะเวลาที่จะสามารถดำเนินการโดยเฉพาะการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการที่ออกจากราชการไปแล้วได้
                 ข้อเสนอของผู้เขียนข้างต้น เป็นกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าในปัจจุบันพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้ประกาศใช้บังคับแล้ว  แต่จากการศึกษาเปรียบเทียบหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (4) กับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28 (2)[5] แล้ว พบว่า หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ มีความคล้ายคลึงกัน ดังนั้น ประเด็นเรื่องหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยก็ยังอาจจะถูกโต้แย้งอยู่ คงต้องรอความชัดเจนในการตีความอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ในเรื่องดังกล่าวจากองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณา ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า เพื่อมิให้เกิดปัญหาการตีความและปัญหาในทางปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาควรมีการทบทวนบทบาท อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการชี้มูลความผิดทางวินัยให้มีความชัดเจนต่อไป
----------------------------------
เชิงอรรถ
[1] คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 1037/2558, ฟบ.8/2561, ฟบ.10/2561, ฟบ.13/2562
[2] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554
           มาตรา 19 (3) คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามหมวด 4 การไต่สวนข้อเท็จจริง
           มาตรา 88  เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับคำกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐตามาตรา 84 หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามหมวด 4 การไต่สวนข้อเท็จจริง ภายหลังการพิจารณาแล้ว มาตรา 91 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า ข้อกล่าวหาใดไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป ข้อกล่าวหาใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่ามีมูลความผิดให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) ถ้ามีมูลความผิดทางวินัย ให้ดำเนินการตามาตรา 92 (2) ถ้ามีมูลความผิดทางอาญา ให้ดำเนินการตามาตรา 97
           มาตรา 92 วรรคหนึ่ง ในกรณีมีมูลความผิดทางวินัย เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดแล้วมีมติว่า ผู้ถูกกล่าวหาผู้ใดได้กระทำความผิดวินัย ให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติ โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ถือว่ารายงาน เอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ แล้วแต่กรณี
[3] มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (4)  ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งมิใช่บุคคลตาม (2) หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงหข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมหรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน รวมทั้งดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือข้าราชการในระดับต่ำกว่าที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว หรือกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือที่กระทำความผิดในลักษณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรดำเนินการด้วย ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
[4] พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม
           มาตรา 90  เมื่อมีการกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทำผิดวินัย ให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ทราบโดยเร็ว และให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้โดยเร็วด้วยความยุติธรรมและโดยปราศจากอคติ
           มาตรา 100 ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดซึ่งออกจากราชการอันมิใช่เพราะเหตุตาย มีกรณีถูกกล่าวหาเป็นหนังสือก่อนออกจากราชการว่า ขณะรับราชการได้กระทำหรือละเว้นกระทำการใด อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ถ้าเป็นการกล่าวหาต่อผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นหรือต่อผู้มีหน้าที่ สืบสวนสอบสวนหรือตรวจสอบตามกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ หรือเป็นการกล่าวหาของผู้บังคับบัญชาของผู้นั้น หรือมีกรณีถูกฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาคดีอาญาก่อนออกจากราชการว่า ในขณะรับราชการได้กระทำความผิดอาญาอันมิใช่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทที่ไม่เกี่ยวกับราชการหรือความผิดลหุโทษ ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยมีอำนาจดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณาดำเนินการทางวินัย และสั่งลงโทษตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ต่อไปได้เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ แต่ต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ
           กรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกล่าวหา หรือฟ้องคดีอาญาหรือต้องหาคดีอาญา หลังจากที่ ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดออกจากราชการแล้ว ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยมีอำนาจดำเนินการ สืบสวนหรือพิจารณา ดำเนินการทางวินัย และสั่งลงโทษตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ต่อไปได้เสมือนว่า ผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ โดยต้องเริ่มดำเนินการสอบสวนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ และต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ สำหรับกรณีที่เป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามมาตรา 95 วรรคสอง จะต้องสั่งลงโทษภายในสามปีนับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ
           ในกรณีที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษ หรือองค์กรพิจารณาอุทธรณ์ คำสั่งลงโทษทางวินัยหรือองค์กรตรวจสอบรายงานการดำเนินการทางวินัยมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดหรือ มีมติให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เพราะเหตุกระบวนการดำเนินการทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยดำเนินการทางวินัยให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดหรือมีมติ แล้วแต่กรณี
           การดำเนินการทางวินัยตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม ถ้าผลการสอบสวนพิจารณาปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงก็ให้งดโทษ
[5] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
           มาตรา 28 (2) บัญญัติว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจ ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่
 

ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม

 

ประเภทเนื้อหา
วันที่