Skip to main content
x

 

คำถาม

        กรณีมีข้าราชการร้องทุกข์ในมูลเหตุเดียวกันจำนวน 2 ราย ผู้ร้องทุกข์ทั่ง 2 สามารถยื่นคำร้องทุกข์มาในฉบับเดียวกันได้หรือไม่ (มีเนื้อหาข้อความและตัวอักษรเหมือนกันทุกประการ มีคำขอเดียวกัน และลงชื่อท้ายหนังสือฉบับนั้นทั้ง 2 ราย) และกรณีดังกล่าวหากทำได้ ผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคำร้องทุกข์ จะทำคำวินิจฉัยร้องทุกข์ของทั้ง 2 ราย ในคำวินิจฉัยฉบับเดียวกันได้หรือไม่
 

คำตอบ

        กรณีข้าราชการพลเรือนสามัญมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา และเป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ได้  ข้าราชการผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ในเรื่องดังกล่าวต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ ซึ่งได้แก่ อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกระทรวง หรือ ก.พ.ค. แล้วแต่กรณีได้ (พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 122 และ 123 ประกอบกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ข้อ 20)  โดยการร้องทุกข์ต้องทำเป็นหนังสือร้องทุกข์ยื่นต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์ 
        ในข้อคำถามของท่านที่ว่า  การร้องทุกข์ในมูลเหตุเดียวกัน  ผู้ร้องทุกข์ 2 ราย สามารถยื่นคำร้องทุกข์มาในฉบับเดียวกัน โดยมีคำขอเดียวกัน และลงชื่อท้ายหนังสือทั้ง 2 ราย ได้หรือไม่ นั้น  ADMIN ขอเรียนว่า  แม้จะเป็นการร้องทุกข์ที่มีมูลเหตุเดียวกัน  แต่ผู้ร้องทุกข์แต่ละรายต้องจัดทำคำร้องทุกข์เป็นฉบับของตนเอง แยกต่างหากจากผู้ร้องทุกข์รายอื่น  เนื่องจากในการพิจารณาวินิจฉัย ข้อเท็จจริงที่เป็นมูลเหตุแห่งการร้องทุกข์อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามที่ผู้ร้องทุกข์แต่ละรายยกขึ้นกล่าวอ้าง  อีกทั้งเพื่อประโยชน์ในการจำแนกและตรวจสอบจำนวนผู้ร้องทุกข์ได้อย่างถูกต้อง  ดังนั้น การยื่นคำร้องทุกข์ในลักษณะที่ท่านสอบถามมาจึงถือเป็นการร้องทุกข์ที่ยังดำเนินการไม่สมบูรณ์  ซึ่ง ก.พ.ค. จะมีคำสั่งให้ผู้ร้องทุกข์ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนดก่อนที่จะมีคำสั่งรับหรือไม่รับเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวไว้พิจารณา
        ส่วนข้อคำถามของท่านที่ว่า  ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์จะทำคำวินิจฉัยร้องทุกข์ของผู้ร้องทุกข์ทั้งสองรายมาในคำวินิจฉัยฉบับเดียวกันหรือไม่  ADMIN ขอเรียนว่า หากผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์พิจารณาข้อเท็จจริงในคำร้องทุกข์ของผู้ร้องทุกข์แต่ละรายแล้วเห็นว่า  เป็นเรื่องร้องทุกข์ที่มีมูลกรณีเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน มีข้อเท็จจริงของการพิจารณาเดียวกัน  และการรวมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวเข้าด้วยกันจะทำให้เกิดประโยชน์แห่งความยุติธรรม ทำให้การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์เป็นไปด้วยความถูกต้อง รวมทั้งทำให้เกิดความสะดวกแก่การดำเนินกระบวนพิจารณา  ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ก็สามารถรวมพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวเข้าด้วยกันและจัดทำเป็นคำวินิจฉัยฉบับเดียวกันได้
 
ประเภทเนื้อหา
วันที่