Skip to main content
x

 

 

อำนาจการตรวจสอบการลงโทษทางวินัย

 

               สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ ก.พ.ค. ขอบอก จะขอหยิบเอาประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจ และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานด้านวินัยและอุทธรณ์ของท่านผู้อ่าน นั่นก็คือ เรื่อง “อำนาจการตรวจสอบการลงโทษทางวินัย” โดยเมื่อกล่าวถึงกระบวนการในการลงโทษทางวินัย หลายท่านอาจเข้าใจว่ากระบวนการนี้เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อมีการกล่าวหา มีการสืบสวน จนกระทั่งมีการสอบสวนทางวินัย และสิ้นสุดเมื่อมีการพิจารณาลงโทษ แต่แท้จริงแล้วการดำเนินการทางวินัยไม่ได้สิ้นสุดเพียงเมื่อผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาสั่งลงโทษเท่านั้น โดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 103 ได้บัญญัติให้ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. เป็นองค์กรตรวจสอบหรือเปรียบได้ว่าเป็นด่านสุดท้ายของการดำเนินการทางวินัย เพื่อทำหน้าที่พิจารณาว่าการที่ผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาสั่งลงโทษเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและเหมาะสมแก่กรณีความผิดหรือไม่ และในกรณีที่การลงโทษนั้นไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. ก็มีอำนาจที่จะมีมติให้เพิ่มโทษ ลดโทษ งดโทษ หรือยกโทษได้ตามควรแก่กรณีความผิดต่อไป รวมถึงมีอำนาจให้ดำเนินการสอบสวนใหม่หรือสอบสวนเพิ่มเติมได้ด้วย
               อย่างไรก็ดี ยังมีองค์กรที่สำคัญอีกองค์กรหนึ่งซึ่งถูกกำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่ทำหน้าที่ในลักษณะคล้ายกันกับ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. นั่นก็คือ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) โดย ก.พ.ค. เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยในกรณีที่ผู้ถูกสั่งลงโทษได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว และในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น นอกจาก ก.พ.ค. จะพิจารณาประเด็นอุทธรณ์และคำขอของผู้อุทธรณ์แล้ว ก.พ.ค. ก็จะพิจารณาตรวจสอบในบริบทเดียวกันกับ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. ด้วยว่าการดำเนินการทางวินัยและการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและเหมาะสมแก่กรณีความผิดหรือไม่
               จากที่ผู้เขียนได้เกริ่นนำมาข้างต้น ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่า เมื่อผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาสั่งลงโทษทางวินัยข้าราชการรายใดไปแล้ว ก็จะมีกระบวนการตรวจสอบการลงโทษเกิดขึ้น ทั้งในการตรวจสอบการดำเนินการทางวินัยโดย อ.ก.พ. กระทรวง หรือ ก.พ. และหากเรื่องนั้นมีการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษ ก.พ.ค. ก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและเหมาะสมของคำสั่งลงโทษดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยทั้ง 2 องค์กรอาจพิจารณาเรื่องในเวลาเดียวกัน แล้วท่านผู้อ่านสงสัยหรือไม่ครับว่า ในกรณีที่ ก.พ.ค. พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยแล้วมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ โดยพิจารณาแล้วว่าการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้นั้นถูกต้องและเหมาะสมแล้ว แต่เป็นการพิจารณาและมีคำวินิจฉัยก่อนที่ อ.ก.พ. กระทรวงจะพิจารณามีมติ เช่นนี้ อ.ก.พ. กระทรวงจะยังคงมีอำนาจในการตรวจสอบการดำเนินการทางวินัยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกต่อไปหรือไม่ อย่างไร ?
               ผู้เขียนขอเรียนว่า ในกรณีทำนองนี้ ก.พ. ได้พิจารณาและมีมติวางแนวทางไว้แล้วว่า ในกรณีที่ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.พ.ค. และ ก.พ.ค. ได้พิจารณาวินิจฉัยเรื่องนั้นเสร็จสิ้นไปแล้ว อ.ก.พ. กระทรวง ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการทางวินัยในเรื่องเดียวกันก็ไม่อาจพิจารณามีมติให้เพิ่มโทษ ลดโทษ งดโทษ ยกโทษ หรือให้ดำเนินการอย่างใด อันเป็นการลบล้างคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ได้
               แม้ประเด็นข้อกฎหมายนี้ ก.พ. จะได้พิจารณาตีความให้คลายข้อสงสัยแล้ว แต่ผู้เขียนก็ขอเสนอแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจของ อ.ก.พ. กระทรวง ข้างต้นขึ้น โดยผู้เขียนเห็นว่าเมื่อมีการสั่งลงโทษทางวินัยแล้ว ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษควรรีบรายงานการลงโทษดังกล่าวไปยัง อ.ก.พ. กระทรวง ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อ 3 ของระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยการรายงานการดำเนินการทางวินัยและการสั่งให้ออกจากราชการ พ.ศ. 2556 และ อ.ก.พ. กระทรวง ก็ควรรีบพิจารณามีมติในเรื่องนั้นให้เสร็จก่อนที่ ก.พ.ค. จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เพียงเท่านี้ก็จะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจของ อ.ก.พ. กระทรวง ในการตรวจสอบการลงโทษทางวินัยแล้วนะ.....ขอบอก
ผู้เขียน : ศักดริน  โต๊ะเฮง

                                                                                                                                                                                                                                  

ประเภทเนื้อหา
วันที่
The website encountered an unexpected error. Please try again later.