Skip to main content
x

 

การสั่งลงโทษทางวินัยกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง

 

เรื่องดำที่  6010196  เรื่องแดงที่  0030162 
ผลคำวินิจฉัย  ยกเลิกคำสั่งลงโทษ 
การดำเนินการทางวินัย  คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล   
 
                        คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอํานาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยได้เฉพาะในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการเท่านั้น  หากผู้บังคับบัญชาจะสั่งลงโทษทางวินัยตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลในความผิดวินัยฐานอื่นนอกจากฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ  รวมทั้งความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง  ผู้บังคับบัญชาจะต้องดําเนินการตามที่กําหนดในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ในส่วนหมวด 7 การดำเนินการทางวินัย เสียก่อน  โดยถือว่าการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้พิจารณาโทษทางวินัยไม่ร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์  เป็นกรณีที่ผู้บังคับบัญชาเห็นว่ามีมูลที่ควรกล่าวหาว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทําความผิดวินัยโดยมีพยานหลักฐานในเบื้องต้นอยู่แล้ว ตามมาตรา 91 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งผู้บังคับบัญชามีอำนาจดำเนินการตามหมวด 7 ดังกล่าวต่อไปได้
 

ข้อเท็จจริง

                       เรื่องนี้ผู้อุทธรณ์ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหาว่าได้กระทำการโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยให้ห้างหุ้นส่วนจํากัด บ. เป็นผู้มีสิทธิทําสัญญาโครงการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กกับองค์การบริหารส่วนตําบล ทั้งที่มีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขในเอกสารสอบราคา ทำให้องค์การบริหารส่วนตําบลได้รับความเสียหาย  ที่สุดคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลว่า การกระทําของผู้อุทธรณ์มีมูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความอุตสาหะ เอาใจใส่ ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ ฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ และฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล  ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช ได้ส่งเรื่องไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาเพื่อโทษทางวินัยแก่ผู้อุทธรณ์ในฐานความผิดดังกล่าว ตามนัยมาตรา 92 และมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542  เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาแล้ว  ก็ได้ส่งบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้อุทธรณ์เพื่อทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ  หลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกอบคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้อุทธรณ์แล้วเห็นว่า ผู้อุทธรณ์กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา  จึงมีคําสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ผู้อุทธรณ์  ผู้อุทธรณ์จึงได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าวต่อ ก.พ.ค. โดยมีข้ออุทธรณ์ประการหนึ่งว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์เป็นการใช้อํานาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอํานาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยได้เฉพาะในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการเท่านั้น  การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์จึงเป็นการชี้มูลทางวินัยที่ไม่อยู่ในอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะทําได้ ตามนัยคําพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.1037/2558
 

คำวินิจฉัย

                       ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า  คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอํานาจไต่สวนและพิจารณาในความผิดเกี่ยวกับการกระทําความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม  ซึ่งความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการและความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเป็นมูลความผิดทางอาญา  ส่วนความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่เป็นมูลความผิดวินัย  ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอํานาจหน้าที่ในการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยได้เฉพาะความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ  ซึ่งเป็นไปตามที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคําพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อ.1037/2558  หากผู้มีอํานาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 จะสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลในความผิดวินัยฐานอื่นนอกจากฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จะต้องดําเนินการตามบทบัญญัติที่กําหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เสียก่อน  ซึ่งในเรื่องนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลว่าผู้อุทธรณ์มีมูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง และได้ส่งเรื่องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาโทษทางวินัยกับผู้อุทธรณ์  กรณีนี้เข้าลักษณะตามมาตรา 91 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่ถือว่ามีมูลที่ควรกล่าวหาว่าข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดกระทําความผิดวินัยโดยมีพยานหลักฐานในเบื้องต้นอยู่แล้ว  ซึ่งผู้บังคับบัญชามีอำนาจดําเนินการตามมาตรา 92 หรือมาตรา 93 แล้วแต่กรณีได้  โดยหากเป็นกรณีที่มีมูลเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง  เมื่อได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบพร้อมทั้งรับฟังคําชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว  ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทําความผิดตามข้อกล่าวหา  ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษตามควรแก่กรณีโดยไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้  ซึ่งในเรื่องนี้เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับทราบเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ส่งบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้อุทธรณ์เพื่อทําคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา  หลังจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดได้พิจารณาสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกอบคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้อุทธรณ์แล้วเห็นว่า ผู้อุทธรณ์กระทําความผิดตามที่ถูกกล่าวหา จึงได้มีคําสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ผู้อุทธรณ์  เมื่อพิจารณการดําเนินการทางวินัยของผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วจะเห็นได้ว่า  แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดจะสั่งลงโทษผู้อุทธรณ์ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล  แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ดําเนินการตามขั้นตอนการดําเนินการทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ด้วยแล้ว  ดังนั้น การดําเนินการทางวินัยเพื่อสั่งลงโทษผู้อุทธรณ์ในกรณีนี้จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว  นอกจากนี้ ในส่วนพฤติการณ์การกระทำผิดของผู้อุทธรณ์  ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้อุทธรณ์กระทำผิดจริงตามที่ถูกลงโทษ  แต่พฤติการณ์เป็นเพียงความผิดวินัยเล็กน้อยและไม่ปรากฏความเสียหายแก่ราชการ  ประกอบกับผู้อุทธรณ์ไม่เคยกระทำผิดวินัยมาก่อน  จึงมีเหตุอันสมควรงดโทษทางวินัยแก่ผู้อุทธรณ์  ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์  และเสนอแนะให้ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจว่ากล่าวตักเตือนผู้อุทธรณ์ต่อไป
 
วันที่