Skip to main content
x

 

 

การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญที่ออกจากราชการไปแล้วกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล

 

               สำหรับท่านผู้อ่านที่ได้ติดตามบทความ ก.พ.ค. ขอบอก คงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัจจุบันพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน มีการแก้ไขในส่วนของการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการพลเรือนสามัญที่ออกจากราชการไปแล้ว โดยกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2562 และ ก.พ.ค. ขอบอกเคยบอกกล่าวท่านผู้อ่านเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษข้าราชการพลเรือนสามัญที่ออกจากราชการไปแล้ว ซึ่งเป็นกรณีที่ส่วนราชการต้นสังกัดเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการ แต่ในครั้งนี้ ก.พ.ค. ขอบอกจะขอกล่าวถึงการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษข้าราชการพลเรือนสามัญที่ออกจากราชการไปแล้วตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร
               เดิมมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้กำหนดเงื่อนไขในการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษกับข้าราชการพลเรือนสามัญที่ออกจากราชการไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ต้นสังกัดเป็นผู้ดำเนินการเองหรือกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล เช่น ต้องมีการกล่าวหาว่ากระทำหรือละเว้นกระทำการใดที่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาหรือต่อผู้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนก่อนที่ข้าราชการผู้นั้นจะออกจากราชการ และต้องเริ่มดำเนินการสอบสวนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากราชการ หากไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวก็จะไม่สามารถดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษกับข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้น
               สำหรับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ที่มีการแก้ไขใหม่ นั้น ได้กำหนดเงื่อนไขในการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการพลเรือนสามัญที่ออกจากราชการไปแล้วแยกเป็นสองส่วน คือ ส่วนที่ 1 ส่วนที่ต้นสังกัดเป็นผู้ดำเนินการเอง (ตามมาตรา 100) และ ส่วนที่ 2 ส่วนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลมาให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษ (มาตรา 100/1) โดยกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลและส่งเรื่องมาให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษ นั้น มาตรา 100/1 ได้กำหนดไว้ว่า การดำเนินการทางวินัยและการสั่งลงโทษให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายของทั้งสององค์กรดังกล่าว ซึ่งนั่นหมายความว่าไม่ต้องนำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามมาตรา 100 กรณีที่ต้นสังกัดเป็นผู้ดำเนินการเอง มาใช้บังคับกับกรณีที่เป็นการดำเนินการทางวินัยและการสั่งลงโทษ ตามมติการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท.
               ซึ่งภายหลังจากที่พระราชบัญญัติที่แก้ไขใหม่ข้างต้นมีผลใช้บังคับ ส่วนราชการก็ได้หารือมายังสำนักงาน ก.พ. ซึ่งเป็นข้อหารือที่น่าสนใจ ดังนี้
               ส่วนราชการหารือว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือมายังผู้บังคับบัญชา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 เพื่อแจ้งว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นาย ก. และนาย ข. กรณีร่วมกันทุจริตโครงการ จึงขอให้ผู้บังคับบัญชาของทั้งสองคนดำเนินการพิจารณาลงโทษทางวินัยตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่านาย ก. เกษียณอายุราชการไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 และนาย ข. ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 กรณีนี้ผู้บังคับบัญชาจะต้องดำเนินการพิจารณาตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 หรือตามมาตรา 100/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562
               ก.พ. พิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2562 เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนาย ก. และนาย ข. กรณีร่วมกันทุจริต และได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษทางวินัยกับบุคคลทั้งสอง เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นวันก่อนที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ ดังนั้น จึงไม่อาจนำมาตรา 100/1 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมาใช้กับกรณีของนาย ก. และนาย ข. แต่จะต้องพิจารณาตามมาตรา 100 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 (เดิม)
               เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการกล่าวหาว่ามีการทุจริตโครงการดังกล่าวโดยไม่ได้ระบุตัวผู้ถูกกล่าวหาไปยังเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 โดยปรากฏชื่อนาย ก. และนาย ข. เป็นผู้ถูกกล่าวหา จึงถือว่ามีการกล่าวหาว่านาย ก. และนาย ข. กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 เมื่อนาย ก. เกษียณอายุราชการไปตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 จึงเป็นการกล่าวหาว่านาย ก. กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงหลังจากที่นาย ก. ออกจากราชการไปแล้ว ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามมาตรา 100 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 (เดิม) ผู้บังคับบัญชาไม่สามารถสั่งลงโทษนาย ก. ได้  ส่วนกรณีของนาย ข. ซึ่งได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2560 นั้น ถือว่าเป็นกรณีที่มีการกล่าวหาว่านาย ข. กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงก่อนออกจากราชการ และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ นาย ข. พ้นจากราชการ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามมาตรา 100 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 (เดิม) ผู้บังคับบัญชาจึงสามารถสั่งลงโทษนาย ข. ได้
               จากการพิจารณาของ ก.พ. ตามข้อหารือของส่วนราชการข้างต้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านโดยเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางวินัยจะมีเกณฑ์ในการพิจารณาดำเนินการกับข้าราชการพลเรือนสามัญที่ออกจากราชการไปแล้ว ตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น  โดยท่านอาจต้องใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการพิจารณา เพราะแม้คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. จะมีมติชี้มูลมาให้ส่วนราชการพิจารณาลงโทษแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญในสังกัดที่ออกจากราชการไปแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า ส่วนราชการจะสามารถพิจารณาลงโทษตามมติขององค์กรดังกล่าวได้ทุกกรณีนะ ขอบอก.....     
ผู้เขียน : จุฑาพิชญ์  สถิรวิสาลกิจ                                                                                                                                                                                                                     
ประเภทเนื้อหา
วันที่