Skip to main content
x

 

คำวินิจฉัยถึงที่สุดแล้ว ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. อีกไม่ได้

 

เรื่องดำที่  6220008  เรื่องแดงที่  0026262
ผลคำวินิจฉัย  ไม่รับเรื่องร้องทุกข์ไว้พิจรณา
กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง 
          1.  พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
          2.  กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551

 

               การร้องทุกข์ที่เหตุแห่งทุกข์เกิดจากอธิบดี  ต้องร้องทุกข์ต่อปลัดกระทรวงซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ร้องทุกข์  และเมื่อปลัดกระทรวงมีคำวินิจฉัยร้องทุกข์ในประการใดแล้ว  คำวินิจฉัยดังกล่าวถือเป็นที่สุด  หากผู้ร้องทุกข์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว  ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้น  โดยไม่อาจนำเรื่องดังกล่าวมาร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ได้

 

ข้อเท็จจริง

               ผู้ร้องทุกข์ ซึ่งรับราชการตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ ในส่วนราชการระดับกรมแห่งหนึ่ง ได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ของกรมต้นสังกัด  แต่เมื่อผลการคัดเลือกผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมินผลงานเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งฯ ประกาศออกมา  ปรากฏว่าผู้ร้องทุกข์ไม่ได้รับการคัดเลือก  ผู้ร้องทุกข์จึงได้มีหนังสือร้องทุกข์ต่อปลัดกระทรวงต้นสังกัดในเรื่องที่ไม่ได้รับการคัดเลือกดังกล่าว  ต่อมา รองปลัดกระทรวง ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของกรมต้นสังกัดของผู้ร้องทุกข์ ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์แก่ผู้ร้องทุกข์  โดยวินิจฉัยว่าคำร้องทุกข์ฟังไม่ขึ้น  จึงให้ยกคำร้องทุกข์  โดยในท้ายหนังสือแจ้งผลการพิจารณาดังกล่าวระบุว่าหากไม่เห็นชอบด้วยกับคำวินิจฉัยร้องทุกข์  ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองต่อไป ตามนัยข้อ 25 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ประกอบมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2552  แต่ผู้ร้องทุกข์เห็นว่าคำวินิจฉัยร้องทุกข์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีสภาพบังคับได้ตามกฎหมาย จึงได้มาร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. โดยขอให้ ก.พ.ค. พิจารณาว่าคำวินิจฉัยร้องทุกข์เรื่องนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

 

คำวินิจฉัย

               ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า  เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญคับข้องใจจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา และเป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ได้  ผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ได้  โดยการร้องทุกข์ที่เหตุเกิดจากผู้บังคับบัญชาให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไป  และหากเหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากอธิบดี  ก็ให้ร้องทุกข์ต่อปลัดกระทรวงซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ร้องทุกข์  และให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์  ทั้งนี้ ตามมาตรา 122 และมาตรา 123 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบข้อ 20 (3) ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551  เมื่อเรื่องนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องทุกข์คับข้องใจจากการที่อธิบดีไม่คัดเลือกผู้ร้องทุกข์ให้เข้ารับการประเมินผลงานเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ  ผู้ร้องทุกข์จึงมีสิทธิร้องทุกข์ในเรื่องดังกล่าว  โดยถือว่าเหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากอธิบดี  อันต้องร้องทุกข์ต่อปลัดกระทรวงต้นสังกัดของผู้ร้องทุกข์  และปลัดกระทรวงเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์  และกรณีดังกล่าวถือเป็นการร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามมาตรา 123 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  ซึ่งกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ได้กำหนดวิธีพิจารณาของผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปประการหนึ่งในข้อ 25 วรรคสาม ว่า  คำวินิจฉัยร้องทุกข์ของผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์ให้เป็นที่สุด  เมื่อผู้ร้องทุกข์ได้มีหนังสือร้องทุกข์ต่อปลัดกระทรวงต้นสังกัด และต่อมา รองปลัดกระทรวง ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของกรมต้นสังกัดของผู้ร้องทุกข์ ได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์แก่ผู้ร้องทุกข์  กรณีจึงเป็นเรื่องที่มีคำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์แล้ว  และคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นที่สุด  ซึ่งหากผู้ร้องทุกข์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว  ก็ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ตามนัยข้อ 25 วรรคสาม ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551  ประกอบกับในเรื่องนี้ก็ปรากฏในท้ายหนังสือแจ้งผลการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวซึ่งระบุไว้แล้วว่า  หากไม่เห็นชอบด้วยกับคำวินิจฉัยร้องทุกข์ ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองต่อไป  ซึ่งการไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ คือ การเห็นว่าคำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์พิจารณาโดยไม่ชอบทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย  และหมายรวมถึงการเห็นว่าคำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีสภาพบังคับได้ตามกฎหมาย ซึ่งถือเป็นปัญหาข้อกฎหมาย  ดังนั้น ในเรื่องนี้จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการคับข้องใจจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา อันจะใช้สิทธิร้องทุกข์ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และเป็นเรื่องที่ได้เคยมีการร้องทุกข์และได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดแล้ว  กรณีจึงต้องห้ามมิให้รับคำร้องทุกข์ดังกล่าวไว้พิจารณา ตามนัยข้อ 42 (1) (5) ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551  ก.พ.ค. จึงไม่อาจรับเรื่องร้องทุกข์ของผู้ร้องทุกข์ไว้พิจารณาได้  ด้วยเหตุผลดังกล่าว ก.พ.ค. จึงวินิจฉัยไม่รับเรื่องร้องทุกข์นี้ไว้พิจารณา  และสั่งจำหน่ายเรื่องร้องทุกข์ออกจากสารบบ
 
วันที่