Skip to main content
x

 

เป็นชู้สองครั้งกับผู้หญิงคนเดิม อาจถูกลงโทษได้อีก

 

เรื่องดำที่  6110219 เรื่องแดงที่ 0043162
ผลคำวินิจฉัย  ยกอุทธรณ์
การดำเนินการทางวินัย ต้นสังกัดดำเนินการเอง

 

               ข้าราชการที่ถูกผู้บังคับบัญชาลงโทษทางวินัยกรณีมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่นทั้งที่มีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ต่อมาถ้ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงคนเดิมอีก ก็อาจถูกผู้บังคับบัญชาลงโทษทางวินัยในกรณีดังกล่าวได้อีก  ทั้งนี้เนื่องจากการมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวในครั้งหลังถือเป็นการกระทำขึ้นใหม่ ต่างกรรมต่างวาระกับการกระทำครั้งแรก และไม่ถือเป็นการดำเนินการทางวินัยซ้ำ

 

ข้อเท็จจริง

               ขณะที่ผู้อุทธรณ์รับราชการตำแหน่งระดับสูงในจังหวัดแห่งหนึ่งได้ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษตัดเงินเดือนในอัตราร้อยละ 4 เป็นเวลา 3 เดือน ฐานไม่รักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย ตามมาตรา 82 (10) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 กรณีมีนาง ส. เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ได้ไปมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนางสาวเอ รวมทั้งแสดงออกโดยเปิดเผยและยกย่องว่านางสาวเอ เป็นภริยา ต่อมาผู้อุทธรณ์ได้ย้ายไปรับราชการในจังหวัดอีกแห่งหนึ่ง ก็ยังคงมีพฤติกรรมฉันชู้สาวกับนางสาวเอ และแสดงออกโดยเปิดเผยและยกย่องว่าเป็นภริยาอย่างต่อเนื่อง โดยพาเข้าไปพักที่บ้านพัก และพาออกงานสังคม ออกสื่อ ทำให้ข้าราชการคนอื่น ๆ และประชาชนเข้าใจว่านางสาวเอ เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากับภริยาแต่อย่างใด ผู้บังคับบัญชา จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า ผู้อุทธรณ์มีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่รักษาชื่อเสียงของตน และไม่รักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย ตามมาตรา 82 (10) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เห็นควรลงโทษลดเงินเดือนในอัตราร้อยละ 4 ซึ่งผู้บังคับบัญชาพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้อุทธรณ์ ทำให้หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการในจังหวัดและประชาชนเข้าใจได้ว่านางสาวเอ เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้อุทธรณ์ ส่งผลกระทบต่อจิตใจของนาง ส. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย และบุตร ทำให้เกิดความอับอาย เสื่อมเสียเกียรติและศักดิ์ศรี ประกอบกับผู้อุทธรณ์ไม่ส่งเสียค่าเลี้ยงดูให้กับบุตรของตนเองที่เกิดจากนางสาว ย. ที่นำไปให้นาง ส. เลี้ยงดู เป็นเหตุให้นาง ส. ซึ่งมิใช่มารดาและไม่มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรของผู้อุทธรณ์ ต้องนำเงินส่วนตัวซึ่งเป็นเงินเดือนและเป็นรายได้จากทางเดียวมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตรของผู้อุทธรณ์ การกระทำของผู้อุทธรณ์ เป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่รักษาชื่อเสียงของตน และไม่รักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย ตามมาตรา 82 (10) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และมีคำสั่งลงโทษลดเงินเดือนผู้อุทธรณ์ในอัตราร้อยละ 4  อุทธรณ์จึงอุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าวโดยอ้างว่า ไม่ได้พักอาศัยอยู่กินกับนาง ส. ในฐานะสามีภริยามานานเกือบยี่สิบปี ต่างคนต่างสมัครใจแยกกันอยู่เรื่อยมา แต่ยังคงส่งเงินให้นาง ส. และบุตรของผู้อุทธรณ์ซึ่งอาศัยอยู่กับนาง ส. ต่อมาผู้อุทธรณ์และนาง ส. ได้ตกลงกันด้วยวาจาว่าจะหย่า โดยทรัพย์สินซึ่งเป็นที่ดินทั้งหมดจะโอนใส่ชื่อนาง ส. ซึ่งการตกลงดังกล่าวถือเป็นนิติกรรมที่เป็นการระงับสิทธิความเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว หลังจากนั้นนาง ส.  ได้แอบเอาที่ดินไปทำนิติกรรมซื้อขาย โดยไม่ได้บอกผู้อุทธรณ์ และผู้อุทธรณ์ไม่เคยได้เงินที่ได้จากการขายที่ดินดังกล่าว ทำให้ผู้อุทธรณ์เข้าใจว่าเงินจำนวนนี้คือเงินในส่วนของผู้อุทธรณ์ที่นาง ส. จะต้องนำไปใช้เลี้ยงดูบุตรชาย ผู้อุทธรณ์จึงไม่ได้ส่งเงินค่าเลี้ยงดูบุตรชายอีก

 

คำวินิจฉัย

              ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่านางสาวเอ คือหญิงอื่นมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับผู้อุทธรณ์มาอย่างต่อเนื่อง และเป็นมูลเหตุเดียวกันที่ทำให้เกิดการร้องเรียนจนกระทั่งนำไปสู่การดำเนินการทางวินัยและลงโทษผู้อุทธรณ์ทั้งสองครั้ง แต่พฤติการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นต่างพื้นที่ และมีรายละเอียดในพฤติการณ์ที่นำไปสู่การดำเนินการทางวินัยและการลงโทษที่แตกต่างกัน กล่าวคือครั้งที่สองนอกจากพาไปออกงานสังคมต่าง ๆ แนะนำกับบุคคลอื่นว่าเป็นภริยา และได้เข้าพักอาศัยในบ้านพักของผู้อุทธรณ์แล้ว ผู้อุทธรณ์ยังมีพฤติกรรมเปิดเผยจนสื่อออนไลน์นำไปเสนอว่านางสาวเอ เป็นภริยา ซึ่งถือเป็นการกระทำที่เปิดเผยในวงกว้างมากยิ่งขึ้น อันถือเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นใหม่ ต่างกรรมต่างวาระจากครั้งแรก ประกอบกับหากพิจารณาถึงวัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งของการดำเนินการทางวินัยและการลงโทษทางวินัย นั้น ก็เพื่อรักษามาตรฐานความประพฤติของข้าราชการให้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีอยู่ในกรอบระเบียบวินัยเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการ ดังนั้น เมื่อมีการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการและมีการสั่งลงโทษโดยชอบด้วยกฎหมายไปแล้ว หากข้าราชการดังกล่าวยังคงมีพฤติกรรมเช่นเดิม ที่เป็นเหตุให้ต้องมีการดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษอีก จึงถือเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นใหม่ ต่างกรรมต่างวาระ นอกจากนี้การสั่งลงโทษผู้อุทธรณ์ในครั้งที่สองยังเป็นการสั่งลงโทษกรณีที่ผู้อุทธรณ์ ไม่ส่งเสียเลี้ยงดูและออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้กับบุตร จนทำให้ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้อุทธรณ์ต้องใช้เงินส่วนตัวเพื่อออกค่าใช้จ่ายให้แทนอีกด้วย ซึ่งกรณีหลังดังกล่าวเป็นกรณีที่เพิ่มเติมขึ้นมาแตกต่างจากคำสั่งลงโทษในครั้งแรก จึงไม่ถือเป็นการดำเนินการทางวินัยซ้ำ
               สำหรับการสมรสของผู้อุทธรณ์กับนาง ส. ไม่เข้าเงื่อนไขการสิ้นสุดแห่งการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การสมรสระหว่างผู้อุทธรณ์และนาง ส. จึงยังสมบูรณ์ถูกต้องโดยชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อพิจารณาถึงเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของผู้อุทธรณ์ที่เป็นข้าราชการระดับสูง แต่กลับมีพฤติกรรมฉันชู้สาวกับหญิงอื่นที่ไม่ใช่ภริยาของตน โดยยกย่องและเปิดเผยให้คนทั่วไปเข้าใจว่าหญิงอื่นเป็นภริยา โดยมีการเปิดเผยผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งมีลักษณะสื่อสารให้คนทั่วไปทราบเป็นวงกว้าง ย่อมทำให้นาง ส.  ได้รับความอับอาย เสื่อมเสียชื่อเสียง อีกทั้งการที่ไม่ส่งเสียเลี้ยงดูบุตรของตนเอง กลับให้นาง ส. ซึ่งไม่ใช่มารดาและไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูเป็นผู้ดูแล พฤติกรรมดังกล่าวย่อมเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏได้ว่าความสัมพันธ์ของผู้อุทธรณ์กับนาง ส. อาจไม่ดีเท่าไรนัก แต่ผู้อุทธรณ์ในฐานะที่เป็นข้าราชการระดับสูง เป็นที่นับหน้าถือตาและเป็นแบบอย่างในสังคมทั้งแก่ข้าราชการและประชาชน สมควรที่จะต้องมีพฤติกรรมที่ดีเป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลทั่วไป หากมีปัญหาส่วนตัวเกิดขึ้นก็ควรรีบดำเนินการแก้ไขให้เสร็จสิ้นไปก่อน หรือหลีกเลี่ยงการมีพฤติกรรมดังกล่าวจนกว่าคดีฟ้องหย่าจะเสร็จเรียบร้อย และแม้นาง ส. จะผิดสัญญานำที่ดินที่ตกลงกันไว้กับผู้อุทธรณ์ไปขายและนำไปใช้จ่ายจริง หรือแม้ขณะนั้นบุตรของผู้อุทธรณ์ซึ่งกำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษาและบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้หน้าที่ในฐานะบิดาของผู้อุทธรณ์กับบุตรสิ้นสุดลง ผู้อุทธรณ์ยังคงมีหน้าที่ที่จะต้องเลี้ยงดูบุตรของตนเองในแง่ของศีลธรรม โดยเฉพาะกรณีนี้ที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่านาง ส. มิใช่มารดาและไม่มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรของผู้อุทธรณ์ ประกอบกับผู้อุทธรณ์เคยถูกลงโทษในกรณีเดียวกันนี้มาแล้ว แต่ผู้อุทธรณ์ยังคงมีพฤติกรรมเช่นเดิมอีก ดังนั้นคำสั่งลงโทษลดเงินเดือนผู้อุทธรณ์ในอัตราร้อยละ 4 ฐานไม่รักษาชื่อเสียงของตน และไม่รักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย ตามมาตรา 82 (10) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จึงเป็นระดับโทษที่เหมาะสมกับกรณีความผิดแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์

 

วันที่