Skip to main content
x

 

เอกสารอันเป็นความลับต้องรักษาให้ดี

 

เรื่องดำที่  6110009  เรื่องแดงที่  0014162
ผลคำวินิจฉัย  ยกอุทธรณ์
การดำเนินการทางวินัย  ต้นสังกัดดำเนินการเอง

 

               การปฏิบัติหน้าที่ราชการต้องใช้ความรอบคอบ และความระมัดระวังตามมาตรฐานของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน หากประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ จนเป็นเหตุให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง ย่อมเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง การที่ผู้อุทธรณ์นำสำเนาเอกสารข้อมูลการกระทำความผิดละเมิดเครื่องหมายการค้าอันเป็นความลับของทางราชการติดตัวไป และวางทิ้งไว้ที่ร้านแห่งหนึ่งในระหว่างที่ผู้อุทธรณ์ออกไปทำธุระส่วนตัว จนเป็นเหตุให้เจ้าของร้านแห่งนั้นใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพเอกสารดังกล่าวแล้วนำไปใช้ข่มขู่เรียกรับเงินจากเจ้าของร้านค้าที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าเพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย การกระทำของผู้อุทธรณ์จึงเป็นการกระทำโดยไม่รอบคอบ และขาดความระมัดระวัง และเป็นการประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ

 

ข้อเท็จจริง

               ผู้อุทธรณ์ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการในสำนวนการสืบสวน มีหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการสืบสวนสถานที่เป้าหมาย ภาพถ่ายที่ได้จากการสืบสวน โดยในวันเกิดเหตุผู้อุทธรณ์ ได้นำสำเนาเอกสารข้อมูลการกระทำความผิดละเมิดเครื่องหมายการค้าของร้านค้า ก. อันเป็นความลับทางราชการและทางคดีติดตัวไป และได้นำสำเนาเอกสารดังกล่าวใส่ไว้ในกระเป๋าส่วนตัวแล้วนำติดตัวลงจากรถยนต์ไปวางไว้ที่ร้านของนาง ส. แล้วผู้อุทธรณ์ได้ออกไปทำธุระส่วนตัวโดยไม่นำเอกสารติดตัวไปด้วย จนเป็นเหตุให้นาง ส. ใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพจากเอกสารดังกล่าวไว้แล้วนำไปใช้โดยเรียกรับเงินจากเจ้าของร้านค้า ก. เพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย ทำให้เจ้าของร้านค้า ก. ยื่นหนังสือร้องเรียนกรณีดังกล่าว อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ โดยผลการสอบสวนปรากฏว่า นาง ส. ได้ให้ถ้อยคำยอมรับว่าเป็นผู้ลักลอบแอบเอาเอกสารในกระเป๋าของผู้อุทธรณ์ไปใช้ประโยชน์ โดยที่ผู้อุทธรณ์ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นถึงการกระทำของนาง ส. ที่สุดอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษโดยมติ อ.ก.พ. กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีคำสั่งลงโทษปลดผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 83 (4) ประกอบมาตรา 85 (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ผู้อุทธรณ์จึงได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.พ.ค. โดยอ้างว่า การที่ผู้อุทธรณ์นำสำเนาเอกสารข้อมูลการกระทำความผิดละเมิดครื่องหมายการค้าของร้านค้าติดตัวไปด้วย เนื่องจากเคยมีกรณีการลักทรัพย์สินของทางราชการที่เก็บไว้ในรถยนต์จนถูกดำเนินการทางวินัย และที่สำนักงานก็ไม่มีที่เก็บเอกสาร

 

คำวินิจฉัย

               ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้อุทธรณ์เป็นการกระทำโดยไม่รอบคอบ ขาดความระมัดระวังในการเก็บรักษาข้อมูลสำนวนการสืบสวน ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญของทางราชการ การกระทำของผู้อุทธรณ์จึงเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในหน้าที่ราชการ และเป็นเหตุให้นาง ส. สามารถนำข้อมูลอันเป็นความลับของทางราชการไปเรียกเงินจากเจ้าของร้านค้าแห่งนั้น และไม่มีเหตุจำเป็นใดที่ผู้อุทธรณ์จะต้องนำเอกสารเกี่ยวกับการสืบสวนเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงสินค้าอันเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าติดตัวไปตลอดเวลา การที่ผู้อุทธรณ์ได้เข้าไปในย่านการค้าที่เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าในฐานะเจ้าหน้าที่คดีพิเศษที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ย่อมสำนึกได้ว่าอาจทำให้ความลับในสำนวนคดีที่ผู้อุทธรณ์ทำหน้าที่เลขานุการคณะทำงานรั่วไหลได้ หากทิ้งหรือฝากไว้กับนาง ส. แม้จะเป็นคนรู้จักกันกับผู้อุทธรณ์ก็ตาม แต่บุคคลดังกล่าวก็เป็นผู้จำหน่ายสินค้าที่มีลักษณะละเมิดเครื่องหมายการค้าอยู่ด้วย
               หากผู้อุทธรณ์จะเข้าห้องน้ำก็สามารถนำกระเป๋าที่มีเอกสารนั้น ติดตัวไปด้วยได้ เพราะเป็นเอกสารเพียง 5 - 6 แผ่น เท่านั้น เมื่อได้นำติดตัวมาจากรถแล้วและเป็นกระเป๋าสะพายก็ย่อมสามารถสะพายติดตัวได้ หากผู้อุทธรณ์นำเอกสารสำคัญอันเป็นความลับของทางราชการติดตัวไปด้วยย่อมไม่เปิดโอกาสให้นาง ส. แอบบันทึกภาพได้ เมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ แล้วเห็นได้ว่า ผู้อุทธรณ์มิได้ใช้ความระมัดวัง ซึ่งผู้อุทธรณ์จะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ของผู้มีอำนาจหน้าที่สืบสวนเกี่ยวกับคดีพิเศษ ซึ่งผู้อุทธรณ์อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ความระมัดเช่นว่านั้นไม่ และเมื่อพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ต้องทำงานในลักษณะที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในคดีอาญา ประกอบกับผู้อุทธรณ์ที่เป็นเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ อันได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดีแล้วตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมต้องมีความรับผิดชอบสูงมากกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญโดยทั่วไป แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้อุทธรณ์มิได้มีความประพฤติ ความสำนึก ความตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว แต่กลับนำเอกสารสำนวนความลับของกรมสอบสวนคดีพิเศษออกไปภายนอกจนเป็นเหตุให้เกิดการรั่วไหลและนำไปเรียกร้องผลประโยชน์จากผู้กระทำความผิดในคดีอาญาเสียเอง ทำให้บุคคลทั่วไปย่อมคิดได้ว่าที่เจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษได้กระทำการแสวงหาผลประโยชน์จากอำนาจหน้าที่ที่ตัวเองปฏิบัติอยู่ พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์เป็นความผิดวินัย ฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 83 (4) ประกอบมาตรา 85 (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 คำสั่งลงโทษปลดผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ จึงเหมาะสมแก่กรณีแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์

 

วันที่