Skip to main content
x

 

การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญที่ออกจากราชการไปแล้ว ภาคต่อ

 
               สวัสดีครับท่านผู้อ่าน หากท่านได้ติดตามบทความ ก.พ.ค. ขอบอกมาอย่างต่อเนื่อง ท่านคงทราบว่า การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ออกจากราชการไปแล้วได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 โดยมาตรา 100 ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่นั้น ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในกรณีที่ได้มีการกล่าวหาว่าข้าราชการพลเรือนสามัญกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงอยู่ก่อนออกจากราชการ โดยมีเงื่อนไขใหม่คือ “ไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง เพียงแต่ผู้บังคับบัญชาต้องสั่งลงโทษภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นออกจากราชการ” แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ไม่ได้มีการกำหนดบทเฉพาะกาลเอาไว้ จึงทำให้เกิดประเด็นปัญหาในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่ออกจากราชการไปแล้ว ที่มีการดำเนินการคาบเกี่ยวระหว่างบทบัญญัติตามมาตรา 100 เดิม และมาตรา 100 ที่แก้ไขเพิ่มเติม อันเป็นที่มาที่ส่วนราชการได้หารือ ซึ่ง ก.พ.ค. ขอบอกวันนี้ ขอหยิบยกการพิจารณาในประเด็นนี้มาบอกเล่าแก่ท่านผู้อ่านเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการต่อไป
               โดยกรณีที่ส่วนราชการได้หารือมายังสำนักงาน ก.พ. เป็นกรณีที่ได้มีการกล่าวหานาย ก. ข้าราชการพลเรือนสามัญ ว่ามีพฤติการณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และผู้บังคับบัญชาได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2558 ต่อมานาย ก. ได้ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2559 และปรากฏว่าผู้บังคับบัญชาไม่ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงภายใน 180 วันนับแต่นาย ก. ได้ออกจากราชการ ต่อมาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ได้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2562 โดยกรณีนี้หากนับวันที่นาย ก. ออกจากราชการไปจนถึงวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ก็ปรากฏว่ายังอยู่ในห้วงเวลาที่ไม่เกิน 3 ปีนับแต่วันที่นาย ก. ออกจากราชการ
               จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ส่วนราชการจึงหารือว่าจะดำเนินการทางวินัยแก่นาย ก. ตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ได้หรือไม่
               กรณีนี้ ก.พ. พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ไม่ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงภายใน 180 วันนับแต่วันที่นาย ก. พ้นจากราชการ ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุจึงหมดอำนาจที่จะดำเนินการทางวินัยกับนาย ก. ต่อไป เนื่องจากไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แม้ต่อมาจะมีการแก้ไขมาตรา 100 ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ที่จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงภายใน 180 วัน ผู้บังคับบัญชาก็ไม่อาจนำหลักเกณฑ์ตามที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวมาใช้พิจารณาย้อนหลังให้เป็นโทษกับผู้ที่พ้นจากราชการไปแล้วได้
               จากการพิจารณาของ ก.พ. ดังกล่าว ท่านผู้อ่านคงได้หลักในการตีความกฎหมายแล้วว่าต้องตีความในทางที่เป็นธรรมแก่ข้าราชการและสอดคล้องกับหลักทั่วไปในการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้น เมื่อข้าราชการผู้ออกจากราชการและได้รับประโยชน์ที่จะไม่ถูกดำเนินการทางวินัยตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายเดิมไปแล้ว ก็ไม่อาจหยิบยกหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นโทษกับข้าราชการมาดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการผู้นั้นได้อีก แม้ว่ากฎหมายที่บัญญัติขึ้นในภายหลังจะไม่มีบทเฉพาะกาลก็ตาม อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะดำเนินการทางวินัยไม่ได้ แต่เรื่องความรับทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ความรับผิดทางแพ่ง และความรับผิดในคดีอาญา ผู้บังคับบัญชาก็ยังมีอำนาจหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาดำเนินการต่อไปได้อยู่นะ ขอบอก........
ผู้เขียน : ศักดริน  โต๊ะเฮง

 

ประเภทเนื้อหา
วันที่