Skip to main content
x
 

ยื่นอุทธรณ์ช้าไปเพียง 1 วัน ก.พ.ค. ก็ไม่สามารถรับไว้พิจารณาได้

 
เรื่องดำที่  6110207  เรื่องแดงที่ 0107161
ผลคำวินิจฉัย  ไม่รับไว้พิจารณา
การดำเนินการทางวินัย  ต้นสังกัดดำเนินการเอง
 
         การส่งหนังสืออุทธรณ์ทางไปรษณีย์จะถือเอาวันที่ไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับที่ซองหนังสืออุทธรณ์เป็นวันยื่นอุทธรณ์ เมื่อยื่นอุทธรณ์ภายหลังครบกำหนดเวลายื่นอุทธรณ์แม้เพียง 1 วัน จึงเป็นกรณีที่ห้าม ก.พ.ค. รับไว้พิจารณา และเรื่องระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ก็ไม่มีกฎหมายให้อำนาจแก่ ก.พ.ค. ที่จะย่นหรือขยายระยะเวลาดังกล่าว หรือใช้ดุลพินิจเพื่อมีคำสั่งรับเรื่องอุทธรณ์ที่ยื่นเมื่อพ้นระยะเวลาไว้พิจารณาได้ ก.พ.ค. จึงไม่สามารถรับเรื่องอุทธรณ์ที่ยื่นภายหลังระยะเวลายื่นอุทธรณ์ไว้พิจารณาได้
 

ข้อเท็จจริง

         อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2561 ในเรื่องที่ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงกรณีลักลอบซุกยาแก้ไอ จำนวน 1,000 เม็ด ใส่ไว้ในทวารหนักเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจค้นเข้าไปให้ผู้ต้องขังภายในเรือนจำ โดยได้รับประโยชน์ตอบแทน ซึ่งในท้ายคำสั่งลงโทษมีการแจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกลงโทษความว่าหากผู้ถูกลงโทษประสงค์จะอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งนี้ ให้อุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งต่อ ก.พ.ค. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รับทราบหรือถือว่าทราบคำสั่งนี้โดยผู้อุทธรณ์ได้ลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งลงโทษเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ต่อมาผู้อุทธรณ์ได้มีหนังสือลงวันที่ 19 กันยายน 2561 อุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อ ก.พ.ค. โดยส่งหนังสืออุทธรณ์ดังกล่าวผ่านทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ซึ่งที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับลงวันที่ 20 กันยายน 2562
 

คำวินิจฉัย

         ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า  เรื่องนี้ผู้อุทธรณ์รับทราบคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ดังนั้น หากผู้อุทธรณ์ประสงค์จะอุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าว ผู้อุทธรณ์จะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2561 คือต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 19 กันยายน 2561 เมื่อผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนโดยที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับที่ซองหนังสืออุทธรณ์ในวันที่ 20 สิงหาคม 2561 กรณีจึงเป็นการยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาการอุทธรณ์ตามมาตรา 114 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบข้อ 29 (1) และข้อ 30 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551 อุทธรณ์เรื่องนี้จึงเข้าลักษณะเป็นอุทธรณ์ที่ห้ามรับไว้พิจารณาตามข้อ 49 วรรคหนึ่ง (3) ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551 และเรื่องระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ตามกฎหมายดังกล่าว มิได้ให้อำนาจแก่ ก.พ.ค. ที่จะย่นหรือขยายระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ หรือใช้ดุลพินิจเพื่อมีคำสั่งรับเรื่องอุทธรณ์ที่ยื่นเมื่อพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้พิจารณาเพื่อมีคำวินิจฉัยได้ จึงมีคำวินิจฉัยไม่รับอุทธรณ์เรื่องนี้ไว้พิจารณา และสั่งจำหน่ายเรื่องอุทธรณ์ออกจากสารบบ
 
วันที่