Skip to main content
x

 

หลงลืม...ก็อาจผิดฐานทุจริตได้

 

เรื่องดำที่  6010180 เรื่องแดงที่ 0097161
ผลคำวินิจฉัย  ยกอุทธรณ์
การดำเนินการทางวินัย ต้นสังกัดดำเนินการเอง

 

               การรับเงินรายได้ของทางราชการมาตามหน้าที่ แล้วไม่นำส่งคลังภายในเวลา ตามระเบียบของทางราชการ แสดงให้เห็นได้ว่ามีเจตนาที่จะใช้ประโยชน์จากเงินดังกล่าว และเข้าข่ายเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ  การอ้างว่าหลงลืมทั้ง ๆ ที่มีการรับเงินและนำส่งคลังอยู่เป็นประจำ จึงเป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุผล และการนำเงินมาคืนคลังภายหลังไม่เป็นเหตุที่จะลดหย่อนโทษให้เบาลงได้

 

ข้อเท็จจริง

               ขณะที่ผู้อุทธรณ์รับราชการตำแหน่งเจ้าพนักงานการเงินและบัญชีชำนาญงาน งานบริหารงานทั่วไป สังกัดสำนักงานในจังหวัดแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 ผู้อุทธรณ์ได้รับชำระเงินและออกใบเสร็จรับเงินค่าประมูลหมายเลขทะเบียนรถ เป็นเงินจำนวน 398,500 บาท แล้วไม่นำเงินจำนวนดังกล่าวส่งให้กับคณะกรรมการเก็บรักษาเงิน ต่อมาวันที่ 21 กันยายน 2554 ผู้อุทธรณ์ได้รับชำระเงินค่าประมูลหมายเลขทะเบียนรถจากประชาชนอีก 23,000 บาท และเมื่อสิ้นเวลาทำการ ได้ส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมเงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เก็บได้ให้แก่ผู้ตรวจสอบการรับ - จ่ายเงิน และคณะกรรมการเก็บรักษาเงินตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนนำฝากเข้าธนาคารตามปกติ หลังจากนั้นมีการตรวจสอบพบว่า ยอดเงินในทะเบียนคุมลูกหนี้ประมูลหมายเลขทะเบียนรถไม่ตรงกับบัญชีเงินฝากธนาคาร โดยมีผลต่างของยอดเงินที่ขาดหายไปจำนวน 398,500 บาท จึงมีการเรียกให้ผู้อุทธรณ์ชี้แจง จนกระทั่งวันที่ 18 กันยายน 2555 ผู้อุทธรณ์จึงได้นำเงินดังกล่าวมาคืน
               หลังจากนั้นผู้บังคับบัญชา ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนและเห็นว่า ผู้อุทธรณ์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ที่สุดผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (1) และ (4)  แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ผู้อุทธรณ์จึงได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าว ต่อ ก.พ.ค. โดยอ้างว่าในวันดังกล่าวได้รับชำระเงินค่าประมูลแผ่นป้ายทะเบียนรถและออกใบเสร็จรับเงิน เป็นเงินจำนวน 398,500 บาท จริง โดยได้เก็บเงินจำนวนดังกล่าวไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานพร้อมล็อคกุญแจไว้ เพื่อจะนำส่งคณะกรรมการเก็บรักษาเงินนำฝากธนาคารในตอนเย็น แต่เนื่องจากในวันนั้นมีงานในหน้าที่ที่ต้องทำหลายอย่างและมีอาการป่วยไม่สบายจึงหลงลืม วันต่อมาก็ได้รับชำระเงิน ออกใบเสร็จ และส่งมอบเงินให้คณะกรรมการ  เพื่อนำฝากธนาคารตามปกติโดยไม่ได้เฉลียวใจว่าเงินจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในลิ้นชัก  ประกอบกับมีการเปลี่ยนโต๊ะทำงานในช่วงเดือนกันยายน 2554 โดยนำไปเก็บไว้ในห้องเวรรักษาการณ์ของสำนักงานซึ่งยังคงล็อคกุญแจลิ้นชักไว้อย่างดี จนกระทั่งวันที่ 23 สิงหาคม 2555 ตนได้รับแจ้งเรื่องดังกล่าวจากผู้บังคับบัญชา จึงได้ติดตามว่าเงินสูญหายเพราะเหตุใด จนค้นพบและมีการคืนเงินจำนวนดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2555

 

คำวินิจฉัย

               ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 ผู้อุทธรณ์ได้รับชำระเงินค่าประมูลหมายเลขทะเบียนรถจำนวน 398,500 บาท และนำเงินจำนวนดังกล่าวใส่ในลิ้นชักด้านล่างของโต๊ะทำงานและล็อคกุญแจไว้ และลืมจนไม่ได้เอาไปให้คณะกรรมการเก็บรักษาเงินในตอนเย็น ต่อมาวันรุ่งขึ้นผู้อุทธรณ์ก็ได้รับชำระเงินค่าประมูลหมายเลขทะเบียนรถอีกจำนวน 23,000 บาท และออกใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นใบเสร็จต่อจากฉบับที่ผู้อุทธรณ์ได้ออกไปเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 ซึ่งระยะเวลาเพียง 1 วัน ตามปกติวิสัยของบุคคลทั่วไปย่อมต้องจดจำเหตุการณ์หรือสิ่งที่ตนปฏิบัติมาได้ หรือในขณะที่ผู้อุทธรณ์ส่งมอบเงินจำนวน 23,000 บาท ให้แก่คณะกรรมการเก็บรักษาเงินในตอนเย็น ผู้อุทธรณ์ก็ย่อมจะต้องนึกคิดหรือจดจำเหตุการณ์ได้บ้าง อีกทั้งการที่ผู้อุทธรณ์ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเงินมาเป็นเวลานาน ตามปกติวิสัยของเจ้าหน้าที่การเงิน ย่อมต้องมีการจัดเก็บเงินที่ได้รับชำระเงินในแต่ละวันอย่างเป็นระเบียบ แบ่งตามประเภทของเงินและจะต้องมีสถานที่เก็บเงินในแต่ละวันเป็นสถานที่เดียวกันทุกวัน ดังนั้นในวันที่ 21 กันยายน 2554 เมื่อผู้อุทธรณ์ได้รับชำระเงินจำนวน 23,000 บาท ซึ่งเป็นเงินประเภทเดียวกันกับเงินที่ผู้อุทธรณ์ได้รับเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554  ผู้อุทธรณ์ย่อมต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวเก็บไว้ในสถานที่เดียวกัน ซึ่งหากเป็นไปตามที่ผู้อุทธรณ์อ้างคือเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานรอจนตอนเย็นจึงส่งมอบให้กับคณะกรรมการเก็บรักษาเงิน เมื่อผู้อุทธรณ์จะนำเงินจำนวน 23,000 บาท เก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน ย่อมต้องเห็นเงินจำนวน 398,500 บาท และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินทั้งสองจำนวนส่งมอบให้คณะกรรมการเก็บรักษาเงินในตอนเย็น หรือในวันต่อ ๆ มาขณะที่ผู้อุทธรณ์ปฏิบัติราชการ ผู้อุทธรณ์ย่อมต้องทำการแก้ไขกุญแจลิ้นชักโต๊ะทำงานและเปิดลิ้นชักเพื่อหยิบของภายในลิ้นชักบ้างเป็นครั้งคราว ผู้อุทธรณ์ก็น่าจะพบเห็นเงินซึ่งมีจำนวนมากถึง 398,500 บาท ได้โดยง่าย  สำหรับเหตุผลที่ผู้อุทธรณ์อ้างเรื่องการย้ายโต๊ะทำงาน แต่ไม่ได้ย้ายเอกสาร ทำให้ไม่เจอเงินจำนวน 398,500 บาทนั้น เห็นว่า เป็นการผิดปกติวิสัยของคนทั่วไปที่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหรือย้ายโต๊ะทำงานก็จะต้องมีการสำรวจหรือเก็บสิ่งของต่าง ๆ ภายในโต๊ะทำงานตัวเก่าเพื่อนำไปใส่ในโต๊ะทำงานตัวใหม่ โดยเฉพาะถ้าเป็นสิ่งของส่วนตัวยิ่งย่อมต้องสำรวจหรือให้ความสนใจเป็นพิเศษ และเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2555 มีการแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบเรื่องดังกล่าว หากผู้อุทธรณ์หลงลืมเงินจำนวน 398,500 บาท ที่เก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานจริง ผู้อุทธรณ์ย่อมต้องนึกคิดหรือจดจำ คาดเดาได้ว่าตนเองเก็บเงินไว้ที่ใดและรีบนำมาคืน แต่ผู้อุทธรณ์กลับปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยมาจนกระทั่งวันที่ 18 กันยายน 2555 จึงนำเงินมาคืนพร้อมมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง นอกจากนี้พยานบุคคลซึ่งเป็นคณะกรรมการเก็บรักษาเงินในเดือนกันยายน 2554 และเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้อุทธรณ์ ยังให้ถ้อยคำว่าในวันที่ 20 กันยายน 2554 ได้สอบถามผู้อุทธรณ์ว่ามีเงินที่จะเก็บหรือไม่เนื่องจากเห็นว่าสำนักงานมีการจัดประมูลหมายเลขทะเบียนรถเมื่อวันที่ 10-11 กันยายน 2554 แต่ผู้อุทธรณ์ตอบว่าไม่มี ประกอบกับผู้อุทธรณ์ไม่มีพยานหลักฐานใดมายืนยันข้อเท็จจริงว่าเงินจำนวน 398,500 บาท อยู่ในลิ้นชักโต๊ะทำงานมาโดยตลอดจริง พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์จึงเป็นการแสดงถึงเจตนาปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยไม่ชอบ เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและเป็นประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นความผิดวินัยฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (1) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ดังนั้นคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์

 

วันที่
The website encountered an unexpected error. Please try again later.