Skip to main content
x
 

พยานหลักฐานจากการสอบสวนเพิ่มเติมต้องสรุปให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบด้วย

 
เรื่องดำที่  6010096  เรื่องแดงที่  0105161 
ผลคำวินิจฉัย  ยกเลิกคำสั่งและให้ดำเนินการใหม่ 
การดำเนินการทางวินัย  ต้นสังกัดดำเนินการเอง   
 
               ตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556  คณะกรรมการสอบสวนมีหน้าที่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาตามบันทึกแบบ ดว.5 ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ  โดย “พยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา” ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่สรุปมาจากพยานเอกสารหรือพยานบุคคลที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่ามีน้ำหนักสนับสนุนข้อกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการใด เมื่อใด อย่างไร และเป็นความผิดวินัยกรณีใด  การที่คณะกรรมการสอบสวนได้ระบุแต่เพียงการแจกแจงรายการพยานหลักฐานว่ามีอะไรบ้าง  อีกทั้งไม่ได้มอบพยานหลักฐานดังกล่าวให้ผู้ถูกกล่าวหาตรวจดู  จึงถือว่าคณะกรรมการสอบสวนไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอที่จะทำให้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานเพื่อยกเป็นข้อต่อสู้แก้ข้อกล่าวหาได้อย่างเต็มที่  จึงเป็นการดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย  นอกจากนี้ ในกรณีที่ปรากฏพยานหลักฐานเพิ่มเติมหลังจากที่คณะกรรมการสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาในเรื่องสอบสวนให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้ว  ถ้าพยานหลักฐานที่เพิ่มเติมนั้นมีน้ำหนักสนับสนุนข้อกล่าวหาที่จะนำมารับฟังลงโทษผู้ถูกกล่าวหาได้  คณะกรรมการสอบสวนต้องแจ้งสรุปพยานหลักฐานเพิ่มเติมนั้นให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงในส่วนพยานหลักฐานนั้นด้วย

 

ข้อเท็จจริง

               เรือนจำอำเภอแห่งหนึ่งได้ทำการจับกุม น.ช.ขาว ซึ่งเป็นผู้ต้องขังของเรือนจำ พร้อมของกลางเป็นยาเสพติดจำนวนหนึ่ง  และมีการขยายผลจนทราบว่า น.ช.ขาว เสพยาเสพติดร่วมกับผู้ต้องขังรายอื่น  โดย น.ช.ขาว ให้การว่าได้ยาเสพติดดังกล่าวมาจากใต้หัวหลอดโฟมล้างหน้าซึ่งเป็นของที่ผู้อุทธรณ์รับฝากจากญาติผู้ต้องขังเพื่อนำเข้ามาให้  ผู้บัญชาการเรือนจำจึงได้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงและรายงานผลไปยังอธิบดีกรมราชทัณฑ์  อธิบดีกรมราชทัณฑ์พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีมีมูลอันควรกล่าวหาว่าผู้อุทธรณ์กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องที่รับฝากสิ่งของจากญาติผู้ต้องขังเพื่อนำเข้าไปให้ผู้ต้องขังโดยไม่มีหน้าที่เป็นเหตุให้มีการลักลอบนำยาเสพติดเข้าไปในเรือนจำ  จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์  คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้ดำเนินการสอบสวน  โดยสอบปากคำผู้ต้องขัง จำนวน 2 ราย และเจ้าหน้าที่เรือนจำ จำนวน 3 ราย  จากนั้นคณะกรรมการสอบสวนฯ ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้อุทธรณ์ทราบ (แบบ ดว.5)  ซึ่งในส่วนสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา ระบุว่า “1. คำให้การผู้ต้องขัง จำนวน 5 ราย ประกอบคำให้การของเจ้าหน้าที่เรือนจำ จำนวน 3 ราย  และผลการตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะของผู้ต้องขังจำนวน 4 ราย  ได้ความว่าผู้อุทธรณ์ได้รับฝากสิ่งของจากญาติผู้ต้องขังเพื่อนำเข้าไปให้ผู้ต้องขังโดยไม่มีหน้าที่และไม่ได้ทำการตรวจค้นสิ่งของที่รับฝากให้ละเอียดเป็นเหตุให้มีการลักลอบนำยาเสพติดฯ เข้าไปในเรือนจำ  2. ยาเสพติดฯ ของกลางที่เหลือจากการเสพ”  ต่อมา คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้สอบปากคำพยานบุคคลเพิ่มเติม จำนวน 3 ราย รวมถึง น.ช.ขาว  หลังจากนั้นคณะกรรมการสอบสวนฯ ได้จัดทำรายงานการสอบสวนเสนอต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์  อธิบดีกรมราชทัณฑ์พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ ว่า การกระทำของผู้อุทธรณ์เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง  ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ  ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดี หรือความก้าวหน้าแก่ราชการด้วยความตั้งใจ อุตสาหะ เอาใจใส่ และรักษาประโยชน์ของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง  ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 (2) (3) และมาตรา 85 (1) (4) (7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  จึงได้นำเรื่องเสนอ อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์  ซึ่ง อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์ พิจารณาแล้วมีมติให้ลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ  อธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ  ผู้อุทธรณ์จึงได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าวต่อ ก.พ.ค.

 

คำวินิจฉัย

               ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า  ตามบันทึกการแจ้งและรับทราบข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา (แบบ ดว.5) ในส่วนของ “สรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา” ที่เป็นคำให้การผู้ต้องขัง จำนวน 5 ราย และเจ้าหน้าที่เรือนจำ จำนวน 3 ราย  คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้สรุปพยานหลักฐานฯ เพียงว่า “...ได้ความว่าผู้อุทธรณ์ได้รับฝากสิ่งของจากญาติผู้ต้องขังเพื่อนำเข้าไปให้ผู้ต้องขังโดยไม่มีหน้าที่และไม่ได้ทำการตรวจค้นสิ่งของที่รับฝากให้ละเอียดเป็นเหตุให้มีการลักลอบนำยาเสพติดฯ เข้าไปในเรือนจำ”  โดยไม่ได้ระบุหรือสรุปคำให้การของพยานบุคคลแต่ละรายว่าให้การไว้ว่าอย่างไร  และไม่ได้แนบคำให้การของพยานบุคคลทั้ง 8 ราย เพื่อเป็นเอกสารประกอบแนบท้าบันทึกแบบ ดว.5 หรือนำคำให้การของพยานบุคคลดังกล่าวให้ผู้อุทธรณ์ตรวจดูแต่อย่างใด  การสรุปพยานหลักฐานดังกล่าวจึงยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้อุทธรณ์เข้าใจได้ว่าพยานบุคคลแต่ละรายให้การว่าอย่างไร เพื่อที่ผู้อุทธรณ์จะได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ถูกต้อง  กรณีจึงถือว่าคณะกรรมการสอบสวนฯ ยังไม่ได้สรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาในส่วนที่เป็นคำให้การผู้ต้องขัง จำนวน 5 ราย และเจ้าหน้าที่เรือนจำ จำนวน 3 ราย ให้ผู้อุทธรณ์ทราบ  ซึ่งกรณีดังกล่าวถือเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนฯ ที่จะต้องสรุปข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาในบันทึกแบบ ดว.5 ให้ผู้ถูกกล่าวหา  โดย “พยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา” ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่สรุปมาจากพยานเอกสารหรือพยานบุคคลที่คณะกรรมการสอบสวนฯ พิจารณาแล้วว่าสนับสนุนข้อกล่าวหาว่าผู้อุทธรณ์ได้กระทำการใด เมื่อใด อย่างไร และเป็นความผิดวินัยกรณีใด  กล่าวคือ ข้อเท็จจริงของสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาในส่วนคำให้การผู้ต้องขัง 5 ราย และเจ้าหน้าที่เรือนจำ 3 ราย ต้องสรุปมาจากถ้อยคำของพยานบุคคลรายดังกล่าว  ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 93 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบข้อ 38 และข้อ 40 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556  แต่ในเรื่องนี้ปรากฏว่าคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่ได้ดำเนินการเช่นนั้น  กลับระบุแต่เพียงการแจกแจงรายการพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา  หรือหากจะถือเอารายละเอียดทั้งหมดที่ปรากฏในพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นการสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาที่จะแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบ  คณะกรรมการสอบสวนฯ ก็ต้องมอบสำเนาพยานหลักฐานคำให้การของพยานบุคคลทั้ง 8 รายให้แก่ผู้อุทธรณ์ไป  แต่คณะกรรมการสอบสวนฯ ก็มิได้ดำเนินการแต่อย่างใด  จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการดำเนินการของคณะกรรมการสอบสวนฯ ดังกล่าวไม่สามารถทำให้ผู้อุทธรณ์สรุปข้อเท็จจริงเท่าที่มีอยู่ในพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาได้ทั้งหมด  โดยผู้อุทธรณ์ไม่อาจรู้ถึงรายละเอียดที่พยานบุคคลทั้ง 8 รายให้ถ้อยคำแต่อย่างใด  กรณีจึงถือว่าคณะกรรมการสอบสวนฯ ไม่เปิดโอกาสให้ผู้อุทธรณ์ได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอที่จะทำให้ผู้อุทธรณ์มีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานเพื่อยกเป็นข้อต่อสู้แก้ข้อกล่าวหาได้อย่างเต็มที่  อันเป็นการดำเนินการโดยไม่ชอบตามมาตรา 93 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  ประกอบข้อ 38 และข้อ 40 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556
               นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าหลังจากที่คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้อุทธรณ์ทราบพร้อมกับรับฟังคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้อุทธรณ์แล้ว  คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้สอบปากคำพยานบุคคลเพิ่มเติมที่เรือนจำกลางจังหวัดอีก 3 ราย ซึ่งรวมถึง น.ช.ขาว  โดยในส่วนของ น.ช.ขาว ได้ให้ถ้อยคำสรุปได้ว่า ได้ยาเสพติดมาโดยพบว่าซุกซ่อนอยู่ใต้ฝาหลอดโฟมล้างหน้าซึ่งเป็นของที่ผู้อุทธรณ์รับฝากจากญาตินำเข้ามาให้  จากนั้นคณะกรรมการสอบสวนฯ ได้จัดทำรายงานการสอบสวนเสนอต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์ โดยนำถ้อยคำของ น.ช.ขาว ดังกล่าวมารับฟังและเห็นว่าผู้อุทธรณ์ได้รับฝากสิ่งของจากญาติผู้ต้องขังโดยไม่มีหน้าที่และไม่ได้ตรวจค้นให้ละเอียด เป็นเหตุให้มีการลักลอบนำยาเสพติดเข้าไปในเรือนจำ อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง  ทั้งที่พยานบุคคลรายอื่นที่คณะกรรมการสอบสวนฯ อ้างเป็นพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาในบันทึกแบบ ดว.5 ที่ระบุว่า “คำให้การผู้ต้องขัง 5 ราย”  ก็ไม่ปรากฏว่ามีพยานบุคคลรายใดให้ถ้อยคำว่ายาเสพติดที่ น.ช.ขาว นำมาเสพมาจากถุงสิ่งของฝากที่ผู้อุทธรณ์นำเข้ามาให้  ดังนั้น จึงถือได้ว่าพยานหลักฐานราย น.ช.ขาว มีน้ำหนักสนับสนุนข้อกล่าวหา  โดยเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่ปรากฏหลังจากคณะกรรมการสอบสวนฯ ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาในเรื่องที่สอบสวนแล้ว  คณะกรรมการสอบสวนฯ จึงต้องแจ้งสรุปพยานหลักฐานเพิ่มเติมนั้นให้ผู้อุทธรณ์ทราบและให้โอกาสผู้อุทธรณ์ให้ถ้อยคำหรือนำสืบแก้เฉพาะถ้อยคำของพยานบุคคลดังกล่าว  ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 93 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบข้อ 48 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556  แต่เมื่อพิจารณาบันทึกการปฏิบัติงานประจำวันของคณะกรรมการสอบสวนฯ ประกอบถ้อยคำของประธานกรรมการสอบสวนฯ ที่ให้ไว้ต่อ ก.พ.ค.  ปรากฏว่าไม่มีการสรุปพยานหลักฐานเพิ่มเติมในส่วนดังกล่าวให้ผู้อุทธรณ์ทราบ  เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีการสรุปถ้อยคำของ น.ช.ขาว ให้ผู้อุทธรณ์ทราบ ทั้งที่เป็นพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักสนับสนุนข้อกล่าวหา  แต่คณะกรรมการสอบสวนฯ กลับนำเอาถ้อยคำของ น.ช.ขาว ไปใช้ในการพิจารณาความผิดทางวินัยกับผู้อุทธรณ์  จึงถือว่าคณะกรรมการสอบสวนฯ มิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 93 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบข้อ 48 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556  
               โดยที่การสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและการรับฟังคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหา เป็นหลักการที่บัญญัติในมาตรา 93 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงต้องดำเนินการ ซึ่งจะมีผลเป็นการฟังความทั้งฝ่ายกล่าวหาและฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาอันจะทำให้ได้ความจริงและความยุติธรรมอันเป็นจุดมุ่งหมายของการสอบสวน  จึงถือเป็นขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ  การที่คณะกรรมการสอบสวนฯ มิได้ดำเนินการดังกล่าว  จึงทำให้การสอบสวนผู้อุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  การที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์และ อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์ พิจารณาแล้วเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ แล้วมีมติลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ จึงเป็นการพิจารณาโดยนำผลการสอบสวนอันเกิดจากการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการพิจารณา  การดำเนินการดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้น เมื่อการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์ การพิจารณามีมติ และการสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  การดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้อุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  อันมีผลทำให้คำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  อุทธรณ์ฟังขึ้น  ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งลงโทษดังกล่าว  และให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ดำเนินการเสียใหม่ให้ถูกต้อง

 

วันที่